โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ดูหลักฐานชาวโรมันที่รอดชีวิต หนีภูเขาไฟระเบิดถล่มปอมเปอี เป็นใคร ย้ายไปไหน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 02 ก.ค. 2564 เวลา 16.05 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2564 เวลา 16.05 น.
ปอมเปอี
ภาพเขียนภูเขาไฟวิซุเวียส ระเบิด ทำลายเมืองปอมเปอี และเฮอร์คิวเลเนียม โดยจอห์น มาร์ติน ค.ศ. 1821 (ภาพจาก Tate Britain)

เหตุการณ์ภูเขาไฟวิซุเวียส (Vesuvius) ระเบิด เมื่อปี ค.ศ. 79 ถูกบันทึกว่าเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก ภัยธรรมชาติครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวโรมันโบราณจำนวนมาก แต่นักวิชาการรับรู้หลักฐานมานานแล้วว่า ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่หนีรอดจากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่อ่าวเนเปิลส์ก่อนที่จะขาดอากาศหายใจ ล่าสุด นักวิจัยศึกษาครั้งใหม่ที่อาจช่วยให้เบาะแสว่าผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ตั้งรกรากใหม่กันที่ไหนบ้าง

เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งนั้นผ่านมาหลายพันปีแล้ว แต่จนถึงวันนี้นักวิชาการหลายสาขายังมีคำถามที่ต้องการคำตอบอีกหลายข้อ และยังคงศึกษาข้อมูลไปจนถึงพื้นที่ทางโบราณคดีในปอมเปอีมาจนถึงวันนี้ ซึ่งข้อมูลการค้นพบก็เผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมพบภาพเขียนตำนานกรีกอีโรติกในซากเมืองปอมเปอี เชื่อเป็นของตกแต่งบ้านคนรวย)

สำหรับการศึกษาครั้งล่าสุด ดำเนินการโดย สตีเวน ทัค (Steven Tuck) นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยไมอามี (Miami University) เขาเริ่มต้นศึกษาโดยนำฐานข้อมูลนามสกุลของชาวโรมัน มาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่พบจากเมืองปอมเปอี (Pompeii) และ เฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกต่าง ๆ ของอิตาลีที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และไม่ได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิดในครั้งนั้น ผลงานการศึกษาของสตีเวน จะเผยแพร่ในรูปแบบบทความในวารสาร Analecta Romana

รายงานข่าวจากนิตยสารฟอร์บส (Forbes) เปิดเผยว่า งานวิจัยครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ระบุชื่อผู้รอดชีวิตเท่านั้น แต่ยังเพื่อหาข้อมูลว่าคนที่รอดชีวิตจากการระเบิดของภูเขาไฟวิซุเวียสย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไหน แล้วทำไมพวกเขาถึงมั่นใจที่จะย้ายไปอยู่ชุมชนอื่น และรูปแบบเหล่านี้บ่งบอกกระบวนการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ยุคสมัยโรมันโบราณมีกลไกทำงานอย่างไร

บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเน้นเฉพาะความเสียหายทางกายภาพของภัยพิบัติเท่านั้น ดังนั้น ในกระบวนการศึกษาของทัค เขาจำเป็นต้องสำรวจจารึกบนสิ่งของสาธารณะและหลุมฝังศพ ประกอบกับหลักฐานอื่นๆ ซึ่งรวมถึงนามสกุลที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองที่อยู่ใกล้กับภูเขาไฟซึ่งปรากฏขึ้นมาหลัง ค.ศ. 79, จารึกที่มีบันทึกต้นกำเนิดของบุคคลต่างๆ, วัตถุโบราณหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เชื่อมโยงกับเมืองปอมเปอี และเฮอร์คิวเลเนียม ซึ่งถูกค้นพบจากที่อื่นหลังภูเขาไฟระเบิด และบันทึกโครงสร้างทางสาธารณูปโภคสาธารณะที่อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับชุมชนผู้อพยพ

ทัค (Tuck) ให้สัมภาษณ์ว่า เขาใช้วิธีการมองหาชื่อที่สะดุดตาในช่วงปลายของปอมเปอี (Pompeii) แล้วก็ปรากฏในที่อื่นละแวกใกล้เคียงที่สุดหลังจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิด (ซึ่งก็คือช่วงปีหลัง ค.ศ. 80) โดยเฉพาะในชุมชนผู้ลี้ภัย ทัค ยกตัวอย่างครอบครัวชื่อ Caninia ที่มีสมาชิก 6 คน ซึ่งสืบค้นได้จากตัวบันทึกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ในเมืองเนอาโปลิส (Neapolis) หรือเมืองเนเปิลส์ (Naples) ในปัจจุบัน

ชื่อ Caninia นั้น ปรากฏอยู่ในเมืองเฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) ก่อนหน้าเหตุภัยพิบัติแล้ว และไม่มีปรากฏที่อื่น ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกว่าครอบครัวนี้ได้อพยพออกมาเนื่องจากภูเขาไฟวิซุเวียส (Vesuvius)

ทัค สร้างการเชื่อมโยงให้หลักฐานมีความหนักแน่นมากขึ้นผ่านตัวบุคคลในครอบครัวอย่าง Marcus Caninius Botrio ซึ่งชื่อเหล่านี้ตรงกับทำเนียบรายนามของเมืองเฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) Botrio เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าประชาชนจากเฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) ย้ายมาตั้งรกรากใหม่ที่เนอาโปลิส (Neapolis) ในฐานะของผู้ลี้ภัย และเสียชีวิตลงที่นี่จากข้อมูลที่ปรากฏบนจารึกที่ป้ายหลุมศพ

อีกตัวอย่างหนึ่งมาจากแคว้นโรมันดาเคีย (Roman Dacia) ปัจจุบันก็คือ โรมาเนีย (Romania) และเซอร์เบีย (Serbia) ป้ายหลุมศพซึ่งจารึกไว้เมื่อ ค.ศ. 87 บอกว่าหลุมศพเป็นของ Cornelius Fuscus ซึ่งเป็นพลเมืองในปอมเปอี (Pompeii) และอาศัยอยู่ที่เนอาโปลิส (Neapolis) ตอนที่มาอยู่โรมันดาเคีย (Roman Dacia) เขาทำหน้าที่เป็นนายทหารชั้นสูง และคุมกองกำลังทั้งหมด 5 กองพลในสงคราม Domitian ป้ายหลุมศพดังกล่าวชี้ชัดเจนว่า Cornelius Fuscus จากปอมเปอี (Pompeii) มาตั้งรกรากใหม่ที่เนอาโปลิส (Neapolis) หลังจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดเรียบร้อยแล้ว

รายงานเปิดเผยว่า หลักฐานจากจารึกที่ปรากฏและอยู่รอดมาอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเอ่ยถึงผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายที่มีตำแหน่งใหญ่โตในสังคมโรมันสมัยก่อน แต่ทัค ยังค้นพบหลักฐานของผู้หญิงที่อพยพมาอยู่ที่เนเปิลส์ (Naples) เหมือนกัน

หลักฐานนี้พบผู้หญิงชื่อ Vettia Sabina สามีของเธอเป็นคนทำป้ายหลุมศพให้เธอในช่วงปลายศตวรรษที่ 1 ป้ายหลุมศพดังกล่าวพิเศษตรงที่ว่า มีการใช้คำว่า “Have” ซึ่งคำนี้เป็นภาษาถิ่นที่พบได้แค่ที่เนอาโปลิส (Neapolis) เท่านั้น ขณะที่ในเกาะปอมเปอี (Pompeii) มักพบในจารึกและในภาพ ทั้งนี้คำว่า Ave ในภาษาละติน แปลว่าสวัสดีหรือลาก่อน ที่จะได้ยินกันในบทสวดของคาทอลิกอย่างเช่นเพลง Ave Maria

วิธีการสืบค้นทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของทัค ทำให้เห็นหลักฐานที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถเชื่อมโยงและสืบค้นการอพยพของคนที่ลี้ภัยมาจากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดได้

การศึกษาของเขายังระบุว่า ค้นพบว่าผู้ลี้ภัยหลายคนไปตั้งรกรากใหม่ทางตอนเหนือของอ่าวเนเปิลส์ (Bay of Naples) ครอบครัวมักย้ายถิ่นฐานโดยยกไปกันทั้งครอบครัว และแต่งงานกับคนในกลุ่มผู้ลี้ภัยด้วยกัน รายงานระบุว่า กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเป็นคนที่ลี้ภัยไปตั้งแต่ตอนที่เริ่มเห็นสัญญาณว่าภูเขาไฟใกล้จะระเบิดแล้ว หรือไม่ก็เป็นคนที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากเมืองในตอนที่ภูเขาไฟระเบิด

แต่ทัคก็ชี้ว่าวิธีการของเขาใช้ตรวจสอบได้เฉพาะคนโรมันที่มีฐานะเท่านั้น วิธีการนี้มีช่องโหว่ที่ไม่สามารถใช้ตรวจสอบคนที่ไม่ใช่คนโรมัน ผู้อพยพจากแคว้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนโรมัน และพวกทาส ซึ่งอาจจะหลบหนีจากภูเขาไฟระเบิดได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ทิ้งหลักฐานในเชิงวัฒนธรรมอย่างจารึกหรือหลุมศพไว้

ในท้ายที่สุด ทัคชี้ข้อสังเกตสำคัญอย่างหนึ่ง คือ รัฐบาลของชาวโรมันจะไม่ดำเนินการทันทีเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งต่างจากรัฐบาลในปัจจุบันหรือรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจะประกาศภาวะฉุกเฉินทันที แต่รัฐบาลโรมันจะไม่เคลื่อนไหวจนกว่าผู้คนจะเริ่มย้ายไปตั้งรกรากใหม่แล้ว เมื่อนั้นจักรพรรดิจะเริ่มจัดสรรเงินเพื่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคใหม่ในชุมชน เช่น เนเปิลส์ (Naples) และ ปอซซุออลี (Pozzuoli) หรือบริการต่างๆ เพื่อรองรับผู้คนที่ไหลเข้ามา

อย่างไรก็ตาม คำถามเรื่องจำนวนผู้อพยพทั้งหมดนั้นยังไม่สามารถให้ตอบได้ ทัค อธิบายว่า หลักฐานที่ได้มาไม่สามารถสืบค้นโดยบ่งชี้ตัวเลขสถิติได้อย่างเจาะจงขนาดนั้น

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ผลวิจัยชี้เป้า โครงกระดูกทหารโรมันชั้นสูง ถูกส่งไปกู้ภัยแถบปอมเปอี ช่วงภูเขาไฟระเบิด

อ้างอิง :

Killgrove, Kristina. “Archaeologist Finds New Evidence Of The Romans Who Escaped Mt. Vesuvius”. Forbes. Online. 19 FEB 2019. <https://www.forbes.com/sites/kristinakillgrove/2019/02/19/archaeologist-finds-new-evidence-of-the-romans-who-escaped-mt-vesuvius/#477da8de64d8>

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0