โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พบสารพิษตกค้างในเลือดเด็กนักเรียนรร.แห่งหนึ่ง 97% เภสัชกรชี้ส่อก่อมะเร็ง เหตุกินพืชผักปนเปื้อน-ชุมชนตั้งกลุ่มไลน์เฟ้นผักปลอดพิษ

สยามรัฐ

อัพเดต 24 ส.ค. 2562 เวลา 10.44 น. • เผยแพร่ 24 ส.ค. 2562 เวลา 10.44 น. • สยามรัฐออนไลน์
พบสารพิษตกค้างในเลือดเด็กนักเรียนรร.แห่งหนึ่ง 97% เภสัชกรชี้ส่อก่อมะเร็ง เหตุกินพืชผักปนเปื้อน-ชุมชนตั้งกลุ่มไลน์เฟ้นผักปลอดพิษ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ในงานเสวนาสรุปผลการดำเนินงาน “โครงการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะและชุมชนคนต้นน้ำ จ.เชียงราย” หรือโครงการ “เด็กดอยกินดี” โดยการสนับสนุนของ สสส. ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นด้วยกับการเร่งผลักดันให้ทุกชุมชนบนดอยแม่สลองหันมาผลิตอาหารปลอดสารพิษเพื่อป้อนโรงเรียนให้เพียงพอ จนกระทั่งสามารถลดปัญหาสารพิษเข้าสู่ร่างกายนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน หลังจากเพิ่งตรวจพบสารตกค้างจากยาปราบศัตรูพืชในเลือดของนักเรียน 97% ในโรงเรียนแห่งหนึ่งอยู่ในเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงภาวะมะเร็ง

นางไพลิน สาระมนต์ สกุลนิธิเมธา เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวในเวทีเสวนาถึงผลการตรวจเลือดนักเรียนโรงเรียนปอวิทยา อ.เวียงแก่น ชั้น ป.4 ถึง ม.3 จำนวน 211 คน เมื่อเร็วๆนี้ พบว่า มีเด็กถึง 97% ปนเปื้อนสารอันตรายจากยาปราบศัตรูพืช อยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย และเสี่ยงภาวะมะเร็งในอนาคต อีก 27 คน พบสารปนเปื้อนแต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ที่เหลือ 6 คน หรือ 2.8% ปลอดสารปนเปื้อน ส่วนครูทั้งหมด 22 คน มีเกณฑ์เสี่ยง 13 คน ไม่ปลอดภัย 1 คน

นางไพลิน กล่าวต่อไปว่า ทีแรกยังไม่มั่นใจนัก เพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ จึงตรวจรอบซ้ำสอง ก็ปรากฏผลเหมือนเดิม สำหรับสาเหตุที่พบสารเคมียาฆ่าแมลงในเลือดของนักเรียนโรงเรียนปอวิทยาจำนวนมากน่าจะเกิดจากการรับประทานพืชผักปนเปื้อนสารพิษจากการที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าแมลงในปริมาณมาก

“เราได้รายงานข้อมูลดังกล่าวให้นายอำเภอเวียงแก่นทราบเพื่อหาแนวทางแก้ไข ส่วนทีมงานก็จะเคลื่อนไหวรณรงค์ร่วมกับโครงการเด็กดอยกินดีต่อไปเพื่อให้นักเรียนเข้าถึงโภชนาการที่ดี”นางไพลินกล่าวในเวทีเสวนา

ด้านนายเอกราช ลือชา ผู้อำนวยการโรงเรียนปอวิทยา กล่าวในเวทีเดียวกันว่า โรงเรียนพยายามปลูกผักเอง หาแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษมารองรับโครงการอาหารกลางวันเด็ก แต่ได้ไม่เพียงพอ จึงต้องหาซื้ออีกมากจากตลาดทั่วไปซึ่งเสี่ยงปนเปื้อน จึงเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มไลน์”เชื่อมโยงเภสัชกร ,ผอ.โรงเรียน ,เกษตรกร และอาสาสมัครสาธารณสุข ในตำบล เพื่อแสวงหาแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษป้อนทุกโรงเรียนในพื้นที่ให้พอเพียง พร้อมกับผลักดันส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักปลอดสารพิษให้มากขึ้นเรื่อยๆ

อนึ่งระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2562 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)โดยโครงการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและชุมชนต้นน้ำ ได้ชักชวนสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์บนดอยแม่สลอง เพื่อเก็บข้อมูลโรงเรียนต้นแบบที่ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคและกิจกรรมทางกายให้เกิดรู้เท่าทันสุขภาพสู่นโยบายระดับท้องถิ่น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0