โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ฝุ่นตลบ "รื้อภาษีดิจิทัล" ปลดล็อก WTO หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 12 ธ.ค. 2562 เวลา 11.32 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2562 เวลา 11.32 น.
FRANCE-COMPUTING-APP-ECONOMY-SOCIAL MEDIA-RETAIL-HACKING
(Photo by Lionel BONAVENTURE / AFP)

การจัดเก็บภาษีการซื้อขายและนำเข้า-ส่งออกสินค้าดิจิทัลผ่านพรมแดนของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงความสามารถในการตรวจสอบดูแลเพื่อการจัดเก็บภาษี ท่ามกลางการไหลเวียนของ “ข้อมูลดิจิทัล” จำนวนมหาศาลในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความเป็นไปได้ในการบังคับใช้กฎด้านภาษีอย่างทั่วถึง

แต่ปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ได้พัฒนาในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ อีบุ๊ก ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามพรมแดนต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 255,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

แม้หลายประเทศจะพยายามผลักดันการจัดเก็บภาษีสินค้าดิจิทัล แต่ยังติดขัดตามข้อตกลงของสมาชิก “องค์การการค้าโลก” (ดับเบิลยูทีโอ) ที่กำหนดให้งดเว้นเก็บภาษีการนำเข้าสำหรับ“ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” (electronic transmissions) มาตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งดับเบิลยูทีโอต้องหารือกันทุกปี เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการใช้ข้อตกลงดังกล่าวต่อไปหรือไม่

“รอยเตอร์ส” รายงานว่า อินเดียและ แอฟริกาใต้ ได้ทำหนังสือถึงดับเบิลยูทีโอ ขอให้พิจารณาไม่ใช้ข้อตกลงดังกล่าวต่อไป เนื่องจากสินค้าดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่ก้าวหน้าสามารถส่งผ่านต้นแบบดิจิทัลเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ข้อตกลงไม่เก็บภาษีสินค้าดิจิทัลยังถูกมองว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของชาติมหาอำนาจในการส่งออกสินค้าดิจิทัลโดยไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศปลายทาง ซึ่งมีคาดการณ์ความสูญเสียของรายได้จากภาษีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศปลายทางที่แตกต่างกันออกไป

ข้อมูลของ “สหประชาชาติ” ประมาณการว่า การงดเว้นการเก็บภาษีสินค้าดิจิทัลส่งผลให้หลายประเทศสูญเสียรายได้ถึง 10,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ขณะที่ดับเบิลยูทีโอระบุว่า เฉพาะประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียรายได้ปีละมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ผลวิเคราะห์ของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุว่า การสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีของประเทศปลายทางอยู่ระหว่าง 280-8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และการเก็บภาษียังจะส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศปลายทาง มากกว่าที่จะกระทบกับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ จากราคาสินค้าดิจิทัลที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพิจารณายกเลิกข้อตกลงงดเว้นการเก็บภาษีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังคงต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากชาติสมาชิกดับเบิลยูทีโอ ซึ่งขณะนี้มีอีก 21 ประเทศนำโดยจีน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ที่เสนอให้งดเว้นภาษีต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จนถึงเดือน มิ.ย. 2020

สาเหตุสำคัญมาจากหลายประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลระบบการจัดเก็บภาษี เช่น ความยากลำบากในการระบุข้อมูลที่ชัดเจนของสินค้าดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น“สถานที่ผลิต” หรือ “ประเทศที่นำเข้า” เพื่อการจัดเก็บภาษีที่อาจมีอัตราภาษีนำเข้าต่างกันตามแต่ละประเทศต้นทาง

แต่บางประเทศก็เริ่มพัฒนาระบบสำหรับการตรวจสอบสินค้าดิจิทัลแล้ว อย่างเช่น“อินโดนีเซีย” ที่สร้างระบบรหัสภาษีสำหรับสินค้าดิจิทัลตั้งแต่ปี 2018 แต่ยังคงกำหนดอัตราภาษีอยู่ที่ 0% ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม “โซเลลวา มลัมบี-ปีเตอร์” เอกอัครราชทูตดับเบิลยูทีโอของแอฟริกาใต้ ระบุว่า หากข้อตกลงงดเว้นภาษีสินค้าดิจิทัลสิ้นสุดลงอาจไม่ได้หมายความว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีในทันที แต่อาจกลายเป็นอำนาจตัดสินของแต่ละประเทศว่าจะเรียกเก็บภาษีหรือไม่

“แอนดรูว์ วิลสัน” ผู้สังเกตการณ์ถาวรประจำสหประชาชาติของหอการค้านานาชาติ (ไอซีซี) ระบุว่า “หากมีประเทศใดเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการดิจิทัลก็มีความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้โดยทันที หากไม่มีมาตรการรองรับข้อพิพาท”

นอกจากนี้ข้อมูลของศูนย์ยุโรปเพื่อเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศยังชี้ว่า ราคาสินค้าดิจิทัลที่ราคาสูงขึ้นจากการเก็บภาษีอาจจะทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลง ซึ่งส่งผลให้อัตราการเติบโต ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ชะลอตัว โดยเฉพาะ “อินเดีย” ที่อาจสูญเสียจีดีพีมากกว่ารายได้จากภาษีสินค้าดิจิทัลถึง 49 เท่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0