โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฝัน-แม้นฝัน ฤกษ์จำนง เจ้าของแบรนด์ BaanChaan กับงานคราฟท์ตกแต่งบ้านที่ดังไกลระดับโลก

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 13.55 น. • BLT Bangkok
ฝัน-แม้นฝัน ฤกษ์จำนง เจ้าของแบรนด์ BaanChaan กับงานคราฟท์ตกแต่งบ้านที่ดังไกลระดับโลก

ชวนเปิดใจ“คุณฝัน- แม้นฝัน ฤกษ์จำนง” ดีกรีนักศึกษาปริญญาโทจากLeisure Management, Thames Valley University ประเทศอังกฤษ หนึ่งในFinalist Designer of the year awards 2019 สาขาProduct Design และเป็นเจ้าของแบรนด์“บ้านฉัน” (BaanChaan) งานคราฟท์ตกแต่งบ้านที่ดังไกลไปทั่วโลก แม้ว่าจะไม่ได้มีต้นทุนทางด้านการผลิต การดีไซน์ หรือแม้กระทั่งการสาน แต่ก็ทำทุกอย่างด้วยความชอบ และแพสชัน

จุดเริ่มต้นของแบรนด์บ้านฉัน

สมัยเรียนอยู่ที่อังกฤษกับน้องสาว เรากับน้องสาวชื่นชอบของตกแต่งบ้าน ชอบการแต่งบ้าน แต่ก็ยังไม่มีแนวเป็นของตัวเอง รู้แค่ว่าเป็นคนที่ชอบงานคราฟต์ ชอบงานทำมือ ไม่ชอบงานปั๊ม ไม่ชอบงานที่มาจากเครื่องจักร ชอบงานที่มองเห็นได้ถึงคุณค่า มี Value โดยเฉพาะงานสานเมื่อสานเสร็จก็ไม่ได้ออกมาเหมือนกันทุกชิ้น รวมถึงแพทเทิร์น ลวดลายต่างๆ เมื่อเปลี่ยนเส้น เปลี่ยนสี หน้าตาก็เปลี่ยนไป มันเป็นเสน่ห์ที่ให้เราชอบงานคราฟท์ และเราก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถรักษาความเป็นไทยเอาไว้ได้โดยปรับให้เข้ากับยุคสมัย

แต่ตัวเราเองไม่ถนัดงานพวกนี้เลย ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ไม่ได้จบทางด้านดีไซน์ด้วย ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ทั้งหมด มีการลองผิดลองถูกอยู่พอสมควร กว่าจะมาถึงจุดนี้เราก็ใช้เวลามาก ก่อนหน้านี้ที่จับจุดไม่ได้ค่อนข้างเป๋อยู่เหมือนกัน เพราะเราไม่ได้เรียนมา แต่พอหลังๆ ก็เริ่มจะจับจุดยืนของเราได้ แล้วถึงแม้ว่างานสานจะไม่ได้เป็นที่นิยมในสมัยนี้แต่เราก็ยังอยากที่จะรักษามันไว้ ต่อให้ใครมาบอกให้เราทำงานปั๊มเครื่องจักร ที่ก็อปปี้เหมือนกันหมด มันก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรา

เราเริ่มจากการที่ลองเอาหนังมาสาน เพราะเป็นคนชอบงานหนัง โดยสานผสมกับผักตบชวาบ้าง ผสมกับอย่างอื่นบ้าง แต่หลังๆ เราก็พัฒนามาเป็นการใช้เชือก รวมถึงวัสดุหลายๆ อย่าง

เพราะเลือกวัสดุที่แตกต่าง ทำให้ต้องฝึกช่างสานเป็นของตัวเอง

ในตอนแรกที่เราเลือกเอาวัสดุหนังมาสาน มันค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในวิธีสาน ต่างจากการสานหวาย ผักตบชวา หรือวัสดุอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ด้วยความที่หนังมีความนิ่ม ยืดหยุ่นทำให้เราต้องฝึกคนสานขึ้นมาเอง เพื่อให้เข้ากับลักษณะวัสดุสานของเรา ซึ่งก็เป็นข้อดีที่เราสามารถควบคุมเองได้ทั้งหมดในทุกขั้นตอน และพอเราฝึกคนให้มีความสามารถในงานสานแล้ว เราก็พัฒนาเป็นวัสดุอื่นๆได้ หลายๆแบบ เป็นการต่อยอดไป เพราะถ้าใช้วัสดุอย่างเดียวก็จะไม่คลอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย

พอเราเริ่มมีกลุ่มลูกค้า ก็มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากประสบการณ์ ฝีมือ และการออกแบบที่ต้องปรับไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับยุตสมัย เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจริงๆ กลุ่มเป้าหมายของเราส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรม สปา ร้านอาหาร รีสอร์ท ทำให้เราต้องปรับดีไซน์ ปรับสไตล์ของตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้เข้ากับหน้างานซึ่งแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันออกไป ไม่ซ้ำจำเจ ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ รวมทั้งต้องรับการรีเควสท์จากดีไซน์เนอร์ได้ ซึ่งเราก็ต้องพัฒนาจากที่เค้ารีเควสท์ไปให้ได้อีก

งานสานไทยในรูปแบบโมเดิร์น ด้วยฝีมือคนไทย

งานสานของเราส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบโมเดิร์น คอนเทมฯ พยายามจะไม่ให้เป็นลายไทยซะทีเดียว เมื่อก่อนงานของเราอาจจะดูเป็นสไตล์ไทยๆ ด้วยสี ลาย และแพทเทิร์น แต่เราพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ดูชิคขึ้น เข้ากับสีสันที่วางไว้ ซึ่งเมื่อต่างชาติไม่มีใครสานเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนคนไทย มันเลยดูเหมือนว่าเป็นงานสานแบบไทย

เวลาเราไปออกงานที่ต่างประเทศ ทุกคนจะตกใจว่ามันเป็นงานทำมือ ทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราควรจะรักษามันเอาไว้ เพราะคนที่จะมาทำตรงนี้ได้ก็ค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องใช้ความพยายาม ความอดทนมากทีเดียว อย่างเราทำแผงประตูให้กับโรงแรม แผงนึงใช้เวลาร่วม3 - 4 วัน พอเป็นร้อยๆ แผงก็ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ช่างสานของเราทุกคนก็พยายามอย่างเต็มที่ พอเห็นว่าผลงานที่เราทำออกมาสวยก็ชื่นใจ อยากสานให้จบ พอทุกคนรู้ว่าถ้างานจบแล้วมันสวย ทุกคนก็มีแรงอยากจะทำต่อ

ไม่ใช่แค่สานให้เสร็จ แต่ต้องเรียบร้อย และสวยงาม

ถ้าสานเส้นไม่ตรง หรือไม่เรียบร้อย ต้องรื้อแก้ใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าสักแต่จะสาน แต่จะต้องเรียบร้อย และต้องให้รู้ถึงความปราณีตด้วย เพราะถ้าเราจะรักษางานสานไว้ เราต้องไม่ใช่แค่สาน แต่ต้องปราณีต เรียบร้อย และให้สวย เพื่อให้คนอื่นชื่นชมในฝีมือ ซึ่งถ้าเราสานมาแล้วคนอื่นมองว่าใครก็ทำได้ อันนั้นก็จะไม่ใช่เรา

งานคราฟท์ถ้าดูโดยรวมก็เหมือนกันหมด แต่งานของแต่ละคนก็จะมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป เราก็มีขั้นตอนของเรา เช่นวิธีการทำหนัง การตัดเส้นหนัง ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่ได้ทำแบบนี้เพราะมันเสียเวลา แต่ละคนก็อาจจะมีวิธีในการเก็บงานในแบบของเค้า เราก็มีวิธีเก็บงานในแบบของเรา ซึ่งเราคิดว่าวิธีนี้เหมาะกับงานของเราแล้ว และเราก็ไม่ได้อยากจะไปเรียนรู้วิธีของคนอื่น อยากจะโฟกัสแค่การพัฒนางานของเราให้ดีขึ้นไปอีก

แม้ว่าจะต้องนั่งสานโคมเป็นพันๆ ชิ้น เราก็ต้องสานของเราให้ได้ซึ่งทุกชิ้นต้องทำเหมือนกันหมด ต้องสานแบบเดียวกัน เส้นเหมือนกัน ต้องใช้มือเหมือนกัน นั่งตัดเส้น ตัดแพทเทิร์นเราก็ต้องทำ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่มีคุณค่ากับเรา แต่คนใช้งานเค้าถือแปปเดียวเค้าก็เอาไปแขวนเลย โดยไม่รู้ว่าต้องผ่านกระบวนการมาเยอะ

เส้นไม่เท่ากัน มิกซ์สี มิกซ์แพทเทิร์น คือซิกเนเจอร์ของแบรนด์บ้านฉัน

งานของเราแต่ละชิ้น จะมีเส้นที่ไม่เท่ากัน มีสีที่ผสมหลายๆ สี มิกซ์สี มิกซ์แพทเทิร์น บางทีงานแผงนึงมี5 สี โคมตัวนึงมี3 สี สีเดียวเราก็ทำนะ แต่ส่วนมากถ้าเห็นแบรนด์เรา จะเห็นได้ว่ามีเท็กซ์เจอร์ไม่เหมือนกัน มีลายเส้น มีสีที่ผสมกันในชิ้นเดียว เพราะเราเป็นคนที่ชอบเล่นสี เพิ่มลูกเล่นเข้าไป แต่ถ้าเป็นสีเดียว เราก็จะไปเพิ่มลูกเล่นตรงโทนสี อย่างสีน้ำตาลก็จะเป็น น้ำตาลอ่อน น้ำตาลแก่ น้ำตาลเข้มผสมกัน รวมถึงขนาดเส้นที่ใช้สานที่อาจจะมีขนาดต่างกัน ทั้ง2 ซม., 1.5 ซม., 1 ซม. ในชิ้นงานเดียวกัน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเรา เมื่อคนอื่นมองชิ้นงานของเรา ก็จะรู้ว่านี่แหละ คือผลงานของแบรนด์บ้านฉัน

งานคราฟท์ต้องได้รับความใส่ใจ เป็นเสมือนลูกที่ต้องดูแลทั้งหมดด้วยตัวเอง

งานคราฟท์ต้องได้รับความใส่ใจ อย่างการไปออกบูธ ไม่ใช่ว่าส่งให้โรงงานทำเสร็จ ให้ช่างมาทำบูธ แล้วเราจะเดินสะบัดก้นออกไป กลับมาอีกทีตอนบูธสวยแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น แต่เหมือนเป็นลูกที่เราต้องดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ ปล่อยไม่ได้ ซึ่งจากที่สังเกตคนอื่นที่ทำงานคราฟท์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

ทุกชิ้นงานเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกตื้นตัน ชื่นชม ตื่นเต้นทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา รู้สึกกรี๊ดกร๊าดกับงานตัวเองตลอดเวลา ไม่เคยรู้สึกว่างานตัวเองเก่าเลย เพราะเราหาไอเดียใหม่ๆ ให้ตัวเองตื้นตันอยู่ตลอด คือถ้ามีอะไรที่ซ้ำซากจำเจไปแขวนเวลาเราออกบูธ มันก็จะรู้สึกไม่ดี

บ้านฉัน ของตกแต่งบ้านในรูปแบบงานสานแบรนด์ไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก

ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากทั้งดีไซเนอร์ไทย ดีไซเนอร์ต่างชาติที่มาเจอเราตอนไปออกบูธ รวมถึงร้านค้า ชอปต่างๆ ซึ่งจากที่เราอยู่มานาน ก็ทำให้มีลูกค้าอยู่ในหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก รวมถึงลูกค้าในยุโรป และ South Africa เป็นต้น

     

คนรุ่นใหม่กับงานคราฟท์ไปด้วยกันได้ เพียงแต่ต้องพัฒนารูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย

ถ้าดูจากกระแสทั่วโลก ไม่ว่าที่ไหนก็จะหยิบยกงานคราฟท์มาใช้ ถึงแม้ว่างานคราฟท์มาฮิตเป็นช่วงๆ แต่สักพักก็จะกลับมา โดยกลับมาในรูปแบบที่ถูกพัฒนา ต่อยอดขึ้น ด้วยแพทเทิร์น สี วิธีการขึงที่แปลกใหม่ แต่ผู้คนก็ยังให้ความสำคัญกับงานคราฟท์ งานทำมืออยู่ ยิ่งตอนนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับงานคราฟท์ด้วย ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ

แต่ละยุคสมัยก็มีการพัฒนาผลงานทำมือให้เข้ากับยุค ซึ่งวิธีนี้ก็จะเป็นวิธีที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาช่วยกันพัฒนางานคราฟท์ และทำให้งานคราฟท์ งานฝีมือยังคงอยู่ ซึ่งงานพวกนี้คนรุ่นใหม่ก็สามารถเอามาทำให้เข้ากับยุคสมัยได้ และตอนนี้คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจในงานคราฟท์มากขึ้น เพียงแต่จะมีการพัฒนาชิ้นงานให้เป็นสไตล์ของคนรุ่นใหม่       

ฝันมองว่างานคราฟท์ มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตน และอยู่กับเราได้นาน อย่างงานที่สานไว้เมื่อ10 ปีที่แล้ว เอามาดูใหม่ก็ยังมีความสวย มีเรื่องราวที่น่าจดจำในสมัยอดีต อย่างน้อยบ้านหลังนึง การเพิ่มงานคราฟท์เข้าไปสักชิ้น ก็จะทำให้ความน่าสนใจของบ้านเพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มเรื่องราว เพิ่มความรู้สึก

ตลาดงานคราฟท์ในประเทศไทย

งานคราฟท์เป็นงานที่ค่อนข้างมีราคาเพราะต้องใช้เวลา ใช้ฝีมือ ซึ่งตลาดในเมืองไทยค่อนข้างจะสนใจของในราคาที่ค่อนข้างถูกหน่อย แต่โดยรวมแล้วก็มองว่าคนไทยก็ยังเลือกงานคราฟท์มาเป็นของตกแต่ง แต่พวกดีไซเนอร์ร้านอาหาร หรือโรงแรมต่างๆ ให้ความสนใจ และพยายามใส่งานคราฟท์เข้าไปในการตกแต่งพอสมควร

เมื่อไหร่ที่เราไปออกงาน ไปออกบูธเราจะมีออเดอร์ มีลูกค้ามาสั่งงานตลอด ซึ่งฝันเชื่อว่าถ้าเราควบคุมคุณภาพได้ และเราพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เราจะมีลูกค้าเข้ามาไม่ขาด

เราสร้างและสู้มาตั้งนาน จะปิดเพราะโควิด-19 ก็ใช่เรื่อง

ตอนนี้เราโชคดีตรงที่เรายังมีงานที่ค้างอยู่ ทำให้ลูกน้องของเรายังมีงานทำไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณเดือนหน้า ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องมาลุ้นอีกที แต่สำหรับงานใหม่เราก็ยังไม่ได้มา รวมทั้งลูกค้าค้างออเดอร์มากพอสมควร ทำให้สินค้ากองอยู่เต็มโรงงาน ทั้งอาจจะไม่มีเงินมารับของ โปรเจคถูกฟรีซ รวมถึงโรงแรมปิดเค้าก็ไม่มีความจำเป็นจำจะต้องรีบใช้แล้ว

ซึ่งต่อไปก็ต้องมาวางแผนใหม่ อาจจะต้องไม่เลือกงาน ปรับเรื่องราคา รวมไปถึงการขายทางออนไลน์ ซึ่งก็มีลูกค้าที่ไม่มารับของจากเราแล้ว เพราะร้านเค้าปิดกิจการไปเลย เราก็เลยมาคิดอยู่ว่าสต็อคที่เรามีอยู่ค่อยข้างเยอะจะมาขายทางออนไลน์ดีไหม

ยิ่งตอนนี้เรารู้สึกว่าประเทศไทยปลอดภัยที่สุด การจะเดินทางไปออกบูธที่ประเทศอื่นเราก็ยังไม่กล้า และก็ไม่รู้ด้วยว่าจะกล้าอีกเมื่อไหร่ เพราะฉนั้นเราต้องทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าต่างชาติยังซื้อสินเค้าของเราอยู่ ซึ่งเราอาจจะต้องทำเป็นออนไลน์แคตาล็อกส่งให้ลูกค้าต่างชาติ จากที่เคยให้ลูกค้าได้สัมผัสกับวัสดุจริง ตอนนี้ก็คงทำไม่ได้แล้ว แต่เราก็ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้สัมผัสจริงจากทางหน้าจอ ให้เห็นงานคราฟท์ของเราผ่านจอมากขึ้น ซึ่งเราต้องเอาเทคโนโลยี รวมถึงสื่อต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

เราต้องทำทุกวิถีทางให้พนักงานของเรามีงานทำ มีกิน ไม่ลำบาก คือถ้าอยู่กับเราแล้วต้องไม่ลำบาก คือจะให้เราไล่คนออกเราก็ทำไม่ได้ มันเป็นปัญหาที่เราต้องมาหาวิธีที่จะทำให้ทุกคนอยู่ได้ และผ่านช่วงนี้ไปได้ เราสร้างมาตั้งนาน จะปิดเพราะโควิด-19 หรือจะให้งานคราฟท์ตายไปกับโควิด-19 ก็ใช่เรื่อง เราสู้มาตั้งนานเราจะปิดเพราะโควิด-19 ไม่ได้

แม้ว่าจะดังไกลไปทั่วโลก แต่มีอีกเยอะที่ต้องเรียนรู้ และเดินไปให้ประสบความสำเร็จได้ไกลกว่านี้

ถ้าถามว่าฝันพอใจไหมในฐานะที่ตัวเองไม่มีต้นทุนในด้านการออกแบบ หรือเร่ิมต้นจากศูนย์ แต่มีคนสนใจเรา ส่งงานให้เราสม่ำเสมอแบบนี้ ก็ถือว่าเราพอใจ และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ถามว่าถึงจุดที่พอใจที่สุดไหม ก็ต้องบอกว่ายัง เพราะเราต้องเรียนรู้และพัฒนามากกว่านี้ ต้องไปให้ไกลกว่านี้ จริงๆ เราก็ภูมิใจในระดับหนึ่ง ที่มีคนนึกถึงเราเวลาที่เค้าเปิดโรงแรมแล้วเค้าเลือกงานเรา จากเมื่อก่อนที่ต้องวิ่งไปของานเค้า หรือต้องคอยลุ้นว่าเค้าจะสั่งซื้องานเราไหม

แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่เราไม่เคยมีKnow How มาก่อน ทั้งการผลิต หรือเทคนิคอะไรต่างๆ ที่เราต้องพัฒนากว่านี้ ให้เราข้ามไปอีกสเต็ปหนึ่ง ให้มีความอินเตอร์กว่านี้ รวมถึงมีคุณภาพในการผลิตที่ลูกค้าคอมเพลนน้อยที่สุด ซึ่งมีอีกเยอะที่เราต้องเรียนรู้ และเดินไปให้ประสบความสำเร็จได้ไกลกว่านี้

ช่องทางการติดต่อFacebook : https://www.facebook.com/baanchaandecor/
Website : http://www.baanchaan.com/
โทร. 098 245 3665

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0