โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ฝนดาวตกสวยๆ ส่งท้ายปี ดูได้ด้วยตาเปล่าไม่ต้องใช้กล้อง มาดูกันนะ

Thaiware

อัพเดต 12 ธ.ค. 2561 เวลา 03.06 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2561 เวลา 03.04 น. • เคนชิน
ฝนดาวตกสวยๆ ส่งท้ายปี ดูได้ด้วยตาเปล่าไม่ต้องใช้กล้อง มาดูกันนะ
ปีใหม่ใครอยากให้เรื่องราวดีๆ เข้ามาในชีวิต เตรียมอธิษฐานกับฝนดาวตกส่งท้ายปีเลย ตกแค่คืนเดียวพลาดแล้วจะเสียใจ

ฝนดาวตกหรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า Meteor Shower เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่งดงาม และสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไม่ต้องใช้กล้องดูดาวหรืออุปกรณ์พิเศษใดๆ ทั้งสิ้น

และเนื่องในช่วงเวลาแห่งความสุขส่งท้ายปีแบบนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือชื่อย่อในภาษาอังกฤษว่า NARIT เขาได้เชิญชวนชาวไทยให้มาดูของสวยๆ งามๆ อย่างปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 4 - 17 ธันวาคมของทุกๆ ปี โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 14 ธ.ค. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธ.ค. 2561 สังเกตเห็นได้ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:30 น. จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ระหว่างดาวพอลลักซ์ (Pollux เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนคู่) และดาวคาสเตอร์ (Castor เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวคนคู่ มีความสว่างเป็นอันดับที่สองรองจากดาวพอลลักซ์) โดยให้สังเกตดูท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของไทย แต่ในช่วงหัวค่ำมีแสงดวงจันทร์รบกวน จะเริ่มสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ชัดเจนหลังเวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไปนะ

ความสวยงามของฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่

โดยทาง NARIT ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (Fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่ มีทิศทางพุ่งมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น  

***ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน นักดาราศาสตร์จัดประเภทให้มันเป็น ดาวหางหิน เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากจนความร้อนทำให้พ่นฝุ่นออกมาจากพื้นผิว และทอดยาวออกไปเป็นหางเช่นเดียวกับดาวหาง

และความพิเศษของฝนดาวตกเจมินิดส์ คือเป็นฝนดาวตกที่มีอัตราการตกค่อนข้างสูงและ ที่สำคัญคือมีอัตราความเร็วของฝนดาวตกที่ช้า ทำให้ในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกที่เสียดสีกับชั้นบรรยากาศเป็นลูกไฟที่ยาวและนานกว่าฝนดาวตกอื่น ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นเส้นฝนดาวตกที่ค่อนข้างยาว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0