โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผ่าน 2 ปีคดี "น้องเมย" เหมือนเดิมเพิ่มเติมคืออัยการสั่งไม่ฟ้อง 2 คดี พ่อลั่น!ต้องไม่ตายฟรี

Manager Online

เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 06.27 น. • MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา- อืดเป็นเรือเกลือ! ผ่าน 2 ปีคดีเสียชีวิต “น้องเมย”นตท.ภคพงค์ ตัญกาญจน์ ไม่คืบ ฟ้อง 3คดี ศาลทหารพิพากษาเพียงรอกำหนดโทษรุ่นพี่ธำรงวินัย ส่วนอีก 2คดีเกี่ยวข้องอัยการสรุปไม่สั่งฟ้อง พ่อลั่น..ไม่ปล่อยตายฟรี โชคดีองค์กรสิทธิฯยื่นมือช่วย

จากกรณีการเสียชีวิตปริศนาของ นตท.ภคพงค์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา ซึ่งใบมรณะบัตรจากโรงเรียนเตรียมทหาร ระบุเพียงว่าเกิดจาก “ภาวะหัวใจล้มแล้วเฉียบพลัน ” ค้านกับสภาพร่างกายที่แข็งแรงที่คนในครอบครัวตัญกาญจน์ ที่ประกอบด้วย นายพิเชษฐ์ - นางสุกัลยา และ น.ส.สุพิชา ยืนยันว่าเป็นการเสียชีวิตที่ผิดปกติจนนำสู่การนำร่างไร้วิญญาณส่งผ่าพิสูจน์รอบ 2 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม หลังผลการผ่าพิสูจน์ในรอบแรกของสถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ไม่เพียงแต่สร้างความคลางแคลงใจให้กับคนในครอบครัว

กระทั่งพบว่าอวัยวะสำคัญทั้ง สมอง,ปอด และอวัยวะสำคัญหลายส่วนหายไป และยังพบรอยช้ำตามร่างกายหลายแห่งที่คาดว่าจะเกิดจากการถูกทำร้าย เนื่องจากซี่โครงซี่ที่ 4 ที่หัก โดยไม่ได้เกิดจากการทำ CPR จนทำให้กองทัพไทย ต้องออกโรงตั้งโต๊ะแถลงข่าวครั้งใหญ่ พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้ง ทีมแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎ, ผบ.โรงเรียนเตรียมทหารและนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย เพื่อตอบคำถามสังคมแต่สุดท้ายคำตอบที่ได้ก็ไม่ต่างไปจากคำตอบแรก

ครอบครัวตัญกาญจน์ จึงต้องเดินหน้าดับเครื่องชนด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อถามหาความจริง และหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย พร้อมว่าจ้างทีมทนายความมืออาชีพ จาก บริษัท บาร์ริสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์เฟิร์ม จำกัด เพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมายควบคู่ไปกับการเดินหน้าหาพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งผลทางนิติวิทยาศาสตร์ และคำบอกเล่าจากตัวบุคคลเพื่อต่อสู้ในชั้นศาล

และเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2561 ครอบครัวตัญกาญจน์ ได้ออกมาเปิดใจถึงความคืบหน้าทางคดีต่อสื่อมวลชน พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวลือเรื่องการรับเงินจำนวน 10 ล้านบาทเพื่อให้ยุติการทวงถามความจริง หลังผู้อำนวยการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาชี้แจงถึงผลการตรวจ DNA ครั้งล่าสุดของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีว่า เนื้อเยื้อจากอวัยวะต่างๆ มีสารพันธุกรรมในปริมาณและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์ จนทำให้ไม่สามารถระบุรูปแบบสารพันธุกรรมเพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นของบุคคลใดได้

แต่ครอบครัวตัญกาญจน์ ก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหวและตัดสินใจดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในช่วงแรก คือ วันที่ 23 ส.ค.2560 ที่มีการธำรงวินัยจน" น้องเมย" หมดสติและเสียชีวิต ซึ่งอัยการศาลทหาร มทบ.12 ได้สั่งฟ้องจำเลยที่เป็นรุ่นพี่บังคับบัญชา 1 คน และพิจารณาให้รอกำหนดโทษเป็นเวลา 1 ปี ในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา

ส่วนเหตุการณ์ที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2560 ซึ่ง “น้องเมย” อยู่ในช่วงทุเลาการฝึกตามคำสั่งแพทย์ แต่ก็พบว่าถูกรุ่นพี่บังคับบัญชาอีกรายสั่งธำรงวินัย ทั่งที่เพิ่งลงจากกองพยาบาลโดยได้แจ้งความดำเนินคดีกับรุ่นพี่รายนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2561ที่ผ่านมา กระทั่งมีการสอบปากคำพยานตามสำนวนการชันสูตร รวม 28 ปาก และสอบปากคำเพิ่มเติมพยานอีก 8 ปาก

และเหตุการณ์ที่ 3 ระหว่างวันที่ 15-17 ต.ค.2560 ซึ่งครอบครัวตัญกาญจน์ และทีมดูแลงานกฎหมายต้องเดินทางไปยัง สภ.บ้านนา จ.นครนายก อยู่หลายต่อหลายครั้งเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มกับรุ่นพี่อีกราย รวมทั้งทีมแพทย์จากกองแพทย์ โรงเรียนเตรียมทหารอีก 2 ราย ที่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “น้องเมย” เมื่อครั้งรับตัวเข้ารักษาหลังมีอาการหนักในวันที่ 17 ต.ค.2560. ก่อนเสียชีวิตในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น

วันนี้ (17 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.สุพิชา ตัญกาญจน์ ว่าในส่วนของการเดินหน้าเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องเพิ่มในคดีที่ 2 และ 3 นั้น ล่าสุดทางครอบครัวเพิ่งจะได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านนา จ.นครนายก ว่าอัยการจังหวัดมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากหลักฐานที่มีไม่สามารถสาวถึงตัวผู้กระทำผิดได้

“แต่ตอนนี้ยังดีที่ครอบครัวของเราได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาดูแลเรื่องสิทธิต่างๆ ที่เราควรจะได้ หรือแม้แต่การสอบถามเรื่องการดูแลจากคู่กรณีและก็ได้พูดคุยกันเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ส่วนการเยียวยาในแง่ผู้ส่วนเสียขณะนี้มีเพียงกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมเท่านั้น ที่เข้ามาช่วยเหลือในสิทธิที่เราควรจะได้รวมถึงการช่วยเหลือด้านค่าฌาปนกิจ แต่หน่วยงานทหาร เรายังไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ”

น.ส.สุพิชา ยังเผยอีกว่าในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ได้เห็นว่าในแง่กฏหมายของไทยการจะกล่าวหาใครว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริงจะต้องหาหลักฐานให้ปราศจากข้อสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำผิดจริงหรือไม่ แต่การดำเนินคดีของเราอยู่ในความก่ำกึ่งคือ เหตุเกิดในโรงเรียนประจำที่ผู้ปกครองไม่สามารถเข้าไปรับรู้ข้อเท็จจริงภายในได้ว่าเกิดอะไรขึ้นหากคนข้างในไม่พูด จึงทำให้ค่อนข้างยากในแง่การหาพยานหลักฐาน การหาประจักษ์พยานหรือพยานปาก ส่วนมากจึงทำได้เพียงการหาเอกสารด้านการรักษาตัว

โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงความทุกข์ของครอบครัว แต่ก็ยังคงต้องเดินหน้าหาความจริงเรื่องการเสียชีวิตต่อไป

ด้านนายพิเชษฐ ตัญกาญจน์ เผยว่าไม่ว่าจะเปลี่ยนใครมาดูแลเรื่องคดีสุดท้ายทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม และในฐานะพ่อที่ต้องสูญเสียลูกชายบอกได้เลยว่าลึกๆ ทุกวันนี้ก็ยังคงเสียใจอยู่ ที่สำคัญเมื่อวานนี้วันที่ 16 ต.ค.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาก็มีพิธีมอบกระบี่สั้นให้นักเรียนที่ขึ้นเหล่า เช่นเดียวกับ จปร.ที่รับไปก่อนหน้า มันก็เลยเกิดคำถามว่าแล้วลูกผมอยู่ไหน เพราะถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ปีหน้าเข้าก็ขึ้น จปร.ปี 2 แล้ว

“ 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรคืบหน้า โดยเฉพาะการทำงานของแพทยสภา ที่เราเคยยื่นเรื่องการผ่าพิสูจน์ในรอบแรกไปวันนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วก็ไม่มีอะไรและเราไม่เคยได้รับคำตอบที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าการเสียชีวิตของเมย ที่แท้จริงคืออะไร โดยเฉพาะส่วนงานราชการทั้งตำรวจ อัยการสูงสุด โยนกันไปกันมาจนสุดท้ายคดีของเรากลับมาอยู่ที่อัยการจังหวัด และทุกอย่างก็เป็นไปแบบเดิมๆ วันนี้จึงต้องให้ทนายความเดินหน้าต่อ โดยยืนยันว่าจะไม่ท้อและจะไม่ยอมให้ น้องเมย ตายฟรีอย่างแน่นอน ”นายพิเชษฐ กล่าว

โดยในวันนี้ครอบครัวตัญกาญจน์ ได้จัดพิธีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับ “น้องเมย” เนื่องในวันครบรอบการเสียชีวิตครบ 2 ปีที่วัดวิเวการาม จ.ชลบุรี ซึ่งก็มีบรรดาญาติสนิทและคนรู้จักกับครอบครัวเข้าร่วมทำบุญ เช่นเดียวกับ พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองทัพไทย ที่นำคณะนายทหารเข้าร่วมเป็นปีที่ 2

พลเอก นเรนทร์ เผยว่าการเดินทางมาร่วมทำบุญครบรอบการเสียชีวิตของ “น้องเมย” ถือเป็นสิ่งที่ตนเองและคณะให้ความสำคัญในฐานะของการเป็นผู้สูญเสียเช่นเดียวกับครอบครัวตัญกาญจน์ นั่นคือการสูญเสียบุคลากรของกองทัพ โดยมองบทเรียนการสูญเสียที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเกิดซ้ำและหามาตรการป้องกันและปรับปรุงในจุดที่เป็นปัญหา

อย่างไรก็ดีในเรื่องของการพิสูจน์ความจริงเรื่องการเสียชีวิตเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากทางครอบครัวสามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนและศาลนำสู่การพิจารณาและตัดสิน กองทัพ ย่อมที่จะต้องยึดคำพิพากษาของศาลให้เป็นที่สุดและยินดีที่จะให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ในเมื่อวันนี้ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ทางกองทัพ ก็ยินดีที่จะดูแลครอบครัวในลักษณะใจถึงใจ

ด้าน นางสุกัลยา มารดาของ “น้องเมย” เผยว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนเป็นการเสียใจอย่างที่สุด แต่ในวันนี้หลังจากที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมายก็เริ่มหันมามองในสิ่งที่ลูกทิ้งไว้ให้นั่นคือการหันเข้าหาธรรมะ เพื่อดูแลจิตใจ ส่วนในเรื่องของคดีนั้นทุกคำตัดสินที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ จนเกิดความรู้สึกว่าความยุติธรรมช่างหาได้ยากในโลกใบนี้ แต่เราก็จะไม่ปล่อยให้ลูกต้องตายฟรีอย่างแน่นอน และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีก 10-20 ปี เราก็จะยังเดินหน้าหาความจริงให้เขาต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0