โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผ่านความทุกข์ด้วยความคิดดีต่อผู้อื่น - นิ้วกลม

THINK TODAY

อัพเดต 03 ส.ค. 2561 เวลา 08.44 น. • เผยแพร่ 21 มิ.ย. 2561 เวลา 05.09 น. • นิ้วกลม

ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทิเบต กองทัพจีนบุกยึดทิเบต จับกุมประชาชนและลามะจำนวนมาก อาจารย์ลาเซ ริมโปเช หรือชื่อเต็มว่าพระอาจารย์กุนเทรอ เมินเกียล ลาเซ ริมโปเช เป็นหนึ่งในลามะคนสำคัญที่ถูกจับกุมขัง

ท่านใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนานยี่สิบปี

มิเพียงถูกจำกัดพื้นที่ สิ้นไร้อิสรภาพ แต่ยังถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ นานากระทั่งได้รับบาดเจ็บ

แน่นอนว่าสภาพในคุกนั้นมิได้น่าอภิรมย์ ถูกใช้งาน ข่มเหง ทนทรมานสารพัด

ท่านผ่านคืนวันเหล่านั้นมาได้อย่างไร

คำตอบคือ-ด้วยวิธีเปลี่ยนคุกให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม

ตลอดเวลาที่ถูกจองจำ ริมโปเชไม่เคยหยุดภาวนาและไม่เคยปล่อยให้ความทุกข์ทำให้จิตใจมัวหมอง หนึ่งในบทปฏิบัติหนึ่งที่ท่านสวดตลอดเวลาคือ ทงเลน ซึ่งเป็นการน้อมรับความทุกข์ของสรรพสัตว์ผ่านลมหายใจเข้า และแผ่ความรักความสุขให้แก่สรรพสัตว์ผ่านลมหายใจออก

นี่คือบทภาวนาที่ยิ่งใหญ่

และช่วงอันแสนทรมานในคุกนั้นเองที่เป็นช่วงภาวนาอันยิ่งใหญ่ของท่าน

โดยตระหนักในใจเสมอว่า แม้ตัวเองกำลังได้รับความทุกข์ แต่ก็ขอให้สัตว์อื่นอย่าได้มีความทุกข์

ครั้งหนึ่ง อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ครูที่ผมเคารพรักได้มีโอกาสเข้าพบและพูดคุยกับท่านลาเซ ริมโปเช หลังจากที่ท่านได้รับอิสรภาพแล้ว อาจารย์ประมวลกล่าวถามริมโปเชว่า “ท่านรู้สึกอย่างไรบ้างกับการต้องติดคุกถึงยี่สิบปี” ท่านลาเซตอบติดตลกว่า “นับเป็นโชคดีของชาตินี้ เพราะชาติอื่นๆ ก่อนนี้ ถ้าจะปฏิบัติธรรมก็ต้องบุกป่าฝ่าเขาเพื่อไปหาถ้ำสงบๆ แต่ชาตินี้ไม่ต้องออกแรง จู่ๆ ก็มีคนพาเข้าถ้ำเลย”

และเมื่ออาจารย์ประมวลถามว่า “ช่วงที่ถูกคุมขังและกระทำการรุนแรงถึงยี่สิบปี ช่วงเวลาไหนเป็นช่วงที่ทรมานที่สุด” คำตอบของท่านลาเซคือ ช่วงที่ท่านเผลอโกรธคนที่มาประทุษร้ายท่าน ทันทีที่อาจารย์ประมวลได้ยินคำตอบก็ทรุดตัวลงจากโซฟาที่นั่งอยู่ แล้วก้มลงกราบท่านทันที

นี่คือคำตอบที่มหัศจรรย์และยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง ลองจินตนาการถึงสภาพชีวิตที่ถูกคุมขังนานยี่สิบปี ถูกทรมานสารพัดอย่าง คนผู้นั้นจะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์และกว้างขวางเพียงใด จึงตอบว่า ความทรมานที่สุดของตนคือช่วงเวลาที่ ‘เผลอโกรธ’ คนที่มาประทุษร้ายตนเอง

ทรมานเพราะคิดไม่ดีต่อเขา มิได้ทรมานที่เขาทำไม่ดีต่อเรา

นี่คือความเมตตากรุณาโดยแท้

การคิดดีต่อผู้อื่นเช่นนี้ ต่อให้การกระทำของเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงคนคนนั้น แต่จิตใจของเราที่มีต่อเขาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราย่อมไม่รู้สึกเป็นทุกข์จากสิ่งที่เขากระทำต่อเรา

เรื่องราวของท่านลาเซได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ‘ความคิด’ ภายในจิตใจของเราคือสิ่งสำคัญที่สุด เราสามารถใช้ทุกเหตุการณ์ในชีวิตเป็นเครื่องฝึกฝนจิตใจให้ก่อเกิดความเมตตากรุณาขึ้นได้ ไม่เผลอโกรธเกลียดคนตรงหน้า ดำรงตนอยู่ในจิตใจที่ปรารถนาให้ผู้อื่นไม่เป็นทุกข์อยู่เสมอ

สัมผัสถึงความทุกข์ของผู้อื่นด้วยลมหายใจเข้า เผื่อแผ่ความสุขให้ผู้อื่นด้วยลมหายใจออก

บุคคลเช่นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่ได้พบปะ สัมผัส และพูดคุยด้วย ท่านคือความรักความเมตตาที่มีอยู่จริง จับต้องได้ และจุดประกายให้เราเชื่อมั่นศรัทธาในจิตใจที่ดีงาม

ท่านแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า เราสามารถผ่านภาวะที่ทุกข์ใจที่สุดไปได้…

ด้วยการปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0