โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผู้เชี่ยวชาญพาไปหาคำตอบ จริงหรือไม่ ไวรัสโควิดกินเนื้อปอดเป็นอาหาร

ไทยรัฐออนไลน์ - Social

อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 13.49 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 13.00 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ดร.แกง หรือ ดร.วีระพงษ์ พาไปหาคำตอบ จริงหรือไม่ ที่ไวรัสโควิด-19 กินเนื้อปอดเป็นอาหาร

อาจารย์เภสัชกร ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน แอดมินแฟนเพจเฟซบุ๊ก ดร.แกง โพสต์ข้อความระบุว่า มีภาพ และคลิปเผยแพร่จากสื่อมวลชนที่แสดงให้เห็นถึงเนื้อปอดของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายไป หลายคนเข้าใจไวรัสเดินทางเข้าไปในปอด แล้วใช้ปอดเป็นแหล่งอาหาร บำรุงตัวมัน

โดยแท้จริงแล้วอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่กำลังทำสงครามต่อต้านกองทัพไวรัสโควิด-19 ที่ทำตัวเหมือนโจรสลัด บังคับให้เซลล์เราใช้ทรัพยากรสร้างพวกมันให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่สงครามระหว่างเรากับไวรัสมันมีฤทธิ์ทำลายล้างสูงมากจนเกิดผลข้างเคียงกับเจ้าของพื้นที่ ทำให้เนื้อเยื่อปอดได้รับความเสียหายรุนแรง

ข้อเท็จจริงก็คือ

- ผู้ป่วยประมาณ 80% ไม่ได้มีอาการรุนแรง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย "เอาอยู่" หายได้เอง เกิดภูมิคุ้มกัน

- เซลล์ภูมิคุ้มกันมีทั้งพวกนักรบที่ไปต่อสู้โดยตรง (cellular immune response) เช่น พวกฟาร์โกไซต์ที่ไปโอบล้อมจับกินไวรัส และพวก T cell กับอีกพวกหนึ่งที่สร้างอาวุธต่อต้านอย่างจำเพาะ นั่นคือให้พวก B cell สร้าง "แอนติบอดี้" เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว (humoral immune response)

- ในกรณีที่ไวรัสมันมีกำลัง พลานุภาพสูง ร่างกายเราก็ยิ่งต้องสร้างสารชีวโมเลกุลไปต่อสู้ เช่นพวกที่มีชื่อว่า ไซโตไคน์ (cytokine) คีโมไคน์ เป็นต้น และกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ให้ช่วยระดมพลมาต่อสู้ข้าศึก

- ไซโตไคน์ และสารพวก "พลอสตาแกลนดิน" เราเรียกว่าเป็นสารก่อไข้ภายใน (endogenous pyrogen) หมายถึงร่างกายเราสร้างขึ้นมาเอง สารพวกนี้ก็จะไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองส่วนไฮโปธารามัสให้เซตอุณหภูมิใหม่ให้สูงขึ้นกว่าปกติ เราจึง "เป็นไข้" ซึ่งเป็นอาการหลักของโรคนี้

- กองกำลังของเซลล์ภูมิคุ้มกันได้เดินทางมาที่ปอดเพื่อต่อสู้กับเหล่าไวรัส และมีการหลั่งสารเหล่านี้ ซึ่งก็เกิดการเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการอักเสบรุนแรงในปอด (hyperinflammation) และยังสามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะอื่นๆ อีกด้วย

- เมื่อเนื่อเยื่อปอดอักเสบ (pneumonia) ถูกทำลายเยอะ ก็จะนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว (respiratory failure) เฉียบพลัน ซึ่งภาษาแพทย์เขาบอกว่าเกิดจาก acute respiratory distress syndrome (ARDS) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19

- มีบางทฤษฎีเสนอว่า ไวรัสที่เข้าสู่สมองจะไปมีผลต่อศูนย์ควบคุมการหายใจ (primary respiratory control center) ที่เมดุลลาออบลองกาตา (medulla oblongata) จึงทำให้ปอดทำงานล้มเหลว อาการบางส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาทการรับกลิ่น การรับรส และการทำงานของกล้ามเนื้อ

โดยสรุปแล้ว ไวรัสไม่ได้กินเนื้อปอดเป็นอาหาร ไวรัสเป็นโจรสลัดเข้ามาจี้บังคับให้เซลล์ถุงลมปอดสร้างกองกำลังให้พวกมันเพิ่มจำนวน แล้วกองทัพเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราก็พยายามเข้าจู่โจม ทำลายล้าง หากเกิดสงครามรุนแรงขึ้น กองทัพใหญ่เกิน มีการใช้ขีปนาวุธมากเกินไป เนื้อเยื่อปอดก็ถูกทำลายในที่สุด แต่ทั้งนี้มีเพียงผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่เกิดภาวะเช่นนี้

"คนปกติที่แข็งแรง ไม่มีอาการ ไม่ใช่จะแพร่เชื้อไม่ได้ ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม อย่าชะล่าใจเดินไปเที่ยวกระจายเชื้อให้ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว กลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ"

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0