โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผู้หญิงไทยสายพุทธ.. กับการเป็นนักบำบัดจิตใจในเมืองคนขาวแห่งนี้ - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 17 มี.ค. 2563 เวลา 13.07 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

วิชาที่เราชอบเรียนที่สุดก็คือ Multicultural หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ, เพศสภาพ, ศาสนา, และอื่นๆ

ล่าสุด เราต้องเขียนรายงานศึกษาวัฒนธรรมของตัวเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อสะท้อนผลงานของเราในฐานะนักจิตบำบัดในอเมริกา ว่ามันมีความยากลำบากหรือความติดขัดใจยังไงบ้างไหม

.

.

.

สังคมที่เป็นปัจเจก (Individualistic culture) คุณค่ามันอยู่ที่การแสดงออกด้วยความแน่วแน่เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการมา แต่สังคมที่เน้นอยู่กันด้วยความผูกพันแบบกลุ่มอย่างคนไทย (Collectivist culture) คุณค่าของมันอยู่ที่การให้ความสำคัญกับสันติภาพของส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง’

.

คนเอเชียโดนสอนมาตั้งแต่เด็ก ให้ใจดี แบ่งปัน คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมไว้ก่อน (Collectivist culture)

บวกกับการโตมาในครอบครัวใหญ่ หลายคนจะถูกพร่ำบอก ให้เป็นเด็กเรียบร้อย พูดน้อยๆ ไม่เถียงผู้ใหญ่ (ในงานวิจัยที่เจอมาสำหรับเด็กเอเชีย มีคนบอกว่า ไม่ใช่แค่ต้องไม่เถียงพ่อแม่นะ แต่เวลาพี่ชายพี่สาวพูดอะไร ตัวเองก็ไม่กล้าขัดอีกแหนะ ต้องเงียบๆ เอาไว้)

ชุดความคิดที่เรายึดถือมาตั้งแต่เด็กคือ เรามีความเอาใจเขามาใส่ใจเราสูง (หลายครั้งก็สูงเกินไป) จนกลายเป็นฟองน้ำที่ดูดความรู้สึกคนอื่นมาจมไว้กับตัวเอง แล้วบีบออกไปไม่ได้ซะงั้น

.

‘คนไทยถูกสอนให้อย่ามีเรื่องกับใครซึ่งๆ หน้า ให้เก็บความโกรธ เกลียด แค้น หมองหม่น เศร้าโศกนั้นไว้กับตัว’

หลายครั้งวิธีจัดการกับอารมณ์ขุ่นมัวของคนเอเชีย

จะเข้าสูตร ‘ยอมรับ, เปลี่ยนความคิด, อดทนสู้ต่อไป’ (accepting, reframing, striving)

จะเห็นได้จากการ ยอมรับกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด เปลี่ยนชุดความคิดที่เรามีให้มองบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าให้ได้ เพื่อจะเดินหน้าต่อ

.

‘ความเกรงใจ’

หนึ่งคำจำกัดความเดียว ที่ประเทศอื่นไม่มี และเราภูมิใจกับสิ่งนี้สุดๆ

และบางครั้งมันก็ขัดกับชุดความคิดของคนที่นี่

เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าคุณจะ ‘สุภาพ’ มันก็ต้องอยู่ในตรรกะที่มีเหตุผลเพียงพอในรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ หลายครั้งฝรั่งจะงงว่าคนไทยจะเกรงใจทำไม เช่น เห็นคนไทยถือของหนักอยู่ แล้วเขาเสนอตัวจะมาช่วยถือ คนไทยเกรงใจ บอกไม่เป็นไร ถือเองได้ ฝรั่งก็ไม่เข้าใจ ก็ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่าถือของหนักจะไม่ไหวแล้ว จะปฏิเสธทำไมว่าไม่เป็นไร ดูไม่จริงใจและไม่มีเหตุผลเอาซะเลย ซึ่งมีผู้ให้คำอธิบายความเป็นไทยได้อย่างดีมาก เขาบอกว่ามันคือ ‘heart and mind’ ระบบความคิดและจิตใจของเรา คนอื่นคิดว่า การปฏิเสธของเราอาจหักหน้าของเขาในที่สาธารณะ แต่ความตั้งใจที่บริสุทธิ์ของเรานั้นมาจากการไม่อยากรบกวนผู้อื่น การคิดถึงผู้อื่นก่อนนั่นเอง และหลายครั้ง ‘ความเกรงใจ’ ก็เลยไปถึงชุดความคิดแห่งความ ‘กตัญญู’ ที่ไม่ใช่แค่อยากให้พ่อแม่สบาย เลี้ยงดูเขาให้มีความสุขนะ แต่หมายถึงไม่อยากเป็นภาระ ไม่อยากให้เขาระแคะระเคืองใจ หลายครั้งเราเลยไม่เลือกจะเล่าเรื่องราวโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ท่านฟัง เพราะไม่อยากให้ท่านต้องมากังวล ให้เราต้องเป็นภาระหัวใจของท่าน

.

.

.

เรา ในฐานะนักจิตบำบัดที่นี่

เราเคยตอบคำถามเพื่อนหลายคนมาก

ว่าการมีคนไข้เป็นคนอเมริกันนั้นง่ายกว่าคนเอเชียเยอะเลย

เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่เครียดแล้วจบแค่เรื่องตัวเอง แต่คนเอเชียมีความรักครอบครัว มีความต้องรับผิดชอบสังคมที่ตัวเองอยู่มากล้น ความเครียดและหนักหน่วงของพวกเขาจึงต้องพ่วงอีกหลายชีวิตที่พวกเขาแคร์

  • เราเป็นเลสเบี้ยน แต่แม่เรารับไม่ได้
  • เราเป็นนักเขียน แต่มันไม่ดีพอสำหรับครอบครัว

และอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาค้นหา ‘คุณค่า’ ที่คนไข้ยึดอยู่กับใจ คุยความเสี่ยง คุยความขับข้องใจ ซึ่งในที่สุดแล้ว ไม่ว่าคนไข้จะเลือกครอบครัว หรือเลือกความสุขของตัวเอง เราทำได้ก็แค่อยู่กับคนไข้ไปเรื่อยๆ เท่าที่คนไข้ต้องการ

.

เราต้องฝึกการมีปากมีเสียงบอกเล่าเรื่องราวความคิดของเราให้มากขึ้น ไม่ใช่เก็บมันเอาไว้ เออออห่อหมกเหมือนตอนอยู่ไทย แต่เรารู้สึกภูมิใจมากที่มีความ ‘เรียบร้อยและกาลเทศะ’ ที่โดนปลูกฝังมาให้มีพลังมากพอจะเคลือบการแสดงออกทางความคิดของเราเอาไว้ ให้คิดถึงใจเขาใจเรา มีความมั่นใจ แต่ไม่กลายเป็นคนก้าวร้าว (เวลาเห็นนักเรียนยุโรปเถียงครูที่นี่ที นึกว่าจะหาเรื่อง ตกใจมาก)

หลายครั้งที่มันก็ทำเราวิตกกังวลเครียดหนักไปหลายวัน อย่างตอนที่เราต้องโทรไปแจ้งเรื่องการล่วงละเมิดของเด็ก เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องจัดการอย่างหนักแน่นไม่ปวกเปียก เป็นบทบาทที่เรานั้นไม่คุ้นเคย

ความเกรงใจของเรา บางครั้งมันเลยเถิดไปถึงการ ‘ไม่กล้าถามซ้ำซาก’ เพราะเกรงใจอาจารย์ที่ปรึกษาเราที่ต้องมานั่งอธิบายแล้วอธิบายอีก แต่เอ้อ! มันก็หน้าที่ของเขา และเราก็ต้องเข้าใจถ่องแท้เพราะมันมีผลต่อคนไข้! และหลายครั้งที่เราก็เกิดความลำบากใจที่จะถามคำถามจี้ใจคนไข้ แต่เอ้อ! นั่นมันก็หน้าที่เราอีกนั่นแหละ! เรามักเป็นคนกลัว ‘ความขัดข้องใจ’ แต่จริงๆ แล้วหน้าที่ของเราคือ ‘ขุดความขัดข้องใจ’ นั้นออกมา ให้คนไข้เข้าใจตัวเองให้มากที่สุด (มัวแต่เป็นเชียร์ลีดเดอร์อยู่กับที่ คนไข้ก็ไม่ไปถึงเส้นชัยซะที)

ทุกวันนี้ก็สนุกมากกับการปรับตัว และรู้สึกตลกตัวเองไปอีกแบบ

.

.

และสุดท้ายเลย กับความขัดแย้งในใจของเราระหว่างทำการบำบัดคนไข้ในข่วงแรกๆ

คือหลายครั้ง เวลาคุยกับคนไข้ เราต้องขุดออกมาให้ลึกที่สุดให้ได้ เหมือนเป็นคนดราม่า (ซึ่งจริงๆ แล้วเราเป็นคนดราม่า) เพื่อจะใช้อดีตมาอธิบายให้สมเหตุสมผลกับการกระทำและความคิดฝังรากลึกที่มีอยู่นี้

ซึ่งมันขัดกับความเป็น ‘ชาวพุทธ’ ที่ให้เราปล่อยวางและเป็นไปตามกฎแห่งกรรมเหลือเกิน จนบางครั้งความเป็น ‘ฟองน้ำ’ ของเรา มันก็เลยเถิดจนกลายเป็นตรงกันข้ามกับการ ‘ปล่อยวาง’ อย่างสิ้นเชิง

เราหยุดคิดถึงเรื่องของคนไข้ไม่ได้ จนมีอยู่ช่วงหนึ่งเรา Burn Out อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้จากความกดดันที่สุมหัวเพราะไม่รู้จักเอาตัวเองไปพัก

เราเริ่มรู้สึกสูญเสียความเป็นพุทธไปทีละน้อย และหากเรากลับมาใช้ความเป็นพุทธ เราก็กลัวว่าเราจะเป็นนักจิตบำบัดที่ไม่ดีพอ

จนในที่สุด เราถึงได้เรียนรู้ ‘การแบ่งรับแบ่งสู้ให้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของกันและกัน’

คนหนึ่งคน เอาหลายวิถีแนวคิดที่เลือก มาปรับใช้กับช่วงชีวิตในแต่ละส่วนได้อย่างสมดุล

จนตอนนี้ เราก็พยายามทำอย่างที่เพื่อนนักบำบัดของเราบอกนั่นแหละ

 

‘เธอมีเวลาจะช่วยคนไข้ให้ดีที่สุดก็แค่ 50 นาทีในห้องเองนะ และเมื่อหมดเวลานั้นแล้ว เธอก็ต้องปล่อยหัวสมองที่ทำงานหนักวุ่นหาเหตุผลในตอนนั้นออก ปล่อย-วาง

คิดถึงคนไข้น่ะได้ แต่ให้คิดถึงแค่เบาๆ’

อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันอังคาร บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0