เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ลงนามในประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่อง ข้อปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยประกาศฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และเพื่อส่งเสริมให้บุคคลเช่นเดียวกับบุคลอื่นสามารถใช้สิทธิเสรีภาพ จึงได้ออกประกาศให้ส่วนราชการปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในด้านใดด้านหนึ่งดังต่อไปนี้
- การแต่งกาย ให้บุคลากรสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศสภาวะของบุคคลตามข้อบังคับของหน่วยงาน
- การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม จัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนบุคคล ข้อจำกัดของบุคคล และอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสภาวะของบุคคล
- การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน มีการระบุคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา หรือความสามารถที่สอดคล้องกับลักษณะงาน ไม่ระบุเพศโดยกำเนิด หรือเพศสภาพ/เพศสภาวะ
- การใช้ถ้อยคำ ภาษา และกิริยาท่าทาง และเอกสารต่างๆ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับคำศัพท์ที่เหมาะสมในการใช้เรียกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศสภาวะของบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของบุคลากรทุกเพศ รวมถึงเป็นการแสดงถึงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีของบุคคล
- การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงาน ส่งเสริมให้มีการสรรหาบุคคลทั้งเพศชาย เพศหญิง หรือผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่สังคมเสมอภาคอย่างแท้จริง
- การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดในการทำงาน
สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว นาดา ไชยจิตต์ ผู้หญิงข้ามเพศ ในฐานะนักกฎหมาย ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำของชนชั้นแรงงาน Sex Worker กลุ่มชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางเพศ และนักสิทธิมนุษยชน ได้เป็นผู้เผยแพร่สู่สาธารณะ พร้อมแสดดงความคิดเห็นว่า วันนี้พ่อเมืองจันทบุรีนำทีมประกาศใช้ข้อบังคับจังหวัดแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศแห่งแรก ขอให้บังคับใช้ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ
สิ่งที่ทุกท่านเห็นอยู่นี้คือผลงานจากคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ร่วมผลักดันแนวปฏิบัติมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความทุ่มเทของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และเจ้าหน้าที่จากกองส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
“ก่อนหน้านี้สภาพบังคับของมันเรียกได้ว่าแทบจะเป็นหมัน เบาเป็นขนนก จนแทบจะไม่เกิดการนำไปบังคับใช้ใดๆ เลย จนมาวันนี้เมื่อหัวขบวนเปลี่ยน ประธานคณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สทพ.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ตอบรับนโยบายผลักดันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ขอให้จันทบุรีนำร่องแล้วแพร่สะพัดไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทยนะคะ” นาดากล่าว
ขณะที่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. กะเทยไทยคนแรก พรรคก้าวไกล และในฐานะกรรมาธิการความหลากหลายทางเพศ แสดงความคิดเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีออกประกาศแห่งความเท่าเทียมทางเพศฉบับประวัติศาสตร์จังหวัดแรกของประเทศไทย ขอแสดงความยินดีกับหน่วยงานต่างๆ สังกัดจังหวัดจันทบุรี ที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงนามในประกาศแห่งความเท่าเทียมทางเพศฉบับนี้ออกมา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ความเห็น 2
God of war Lincoln
ความเท่าเทียมมีถึงสัตว์เลี้ยงมั้ยถ้าเป็นของชาวบ้านธรรมดาเช่นหมาเป็นต้นถ้าเป็นหมาของกษัตริย์ต้องเรียกใช้คำสรรพนามนำหน้าว่า"คุณ" ไอ้ทองแดงหมาภูมิพลต้องเรียกคุณทองแดงหน้าชื่อใช่มั้ย
09 มิ.ย. 2563 เวลา 08.10 น.
Tum-Amnat
การแต่งกายไม่อะไรนะ จะแต่งตามเพศสภาพก็ไม่รู้สึกว่าขัดอะไร ขออย่างเดียว คงคำหน้านาม ตามเพศโดยกำเนิดเอาไว้ แค่นี้ก็พอละ
09 มิ.ย. 2563 เวลา 07.48 น.
ดูทั้งหมด