โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ'แนะหนทางรอดเศรษฐกิจไทยยุคโควิด-19

แนวหน้า

เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 14.46 น.

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแนวทางรับมือเศรษฐกิจ ยุคโควิด-19 ชี้ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดภาระทางการเงิน เติมสภาพคล่อง นโยบายที่ออกมาต้องไม่กลัวเรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะ เพราะนโยบายการคลังเป็นเครื่องมือเดียวที่จะเติมรายได้ เยียวยาประชาชน ระบุ รัฐบาลกู้ได้ แต่ต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยอมรับห่วงคนไทยตกงาน 3 ล้าน แนะ ต้องสร้างงานในชนบทรองรับเป็นล้านตำแหน่ง และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

8 กรกฏาคม 2563 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการฟังหูไว้หู  ตอน “รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ ยุคโควิด-19 กับผู้ว่าแบงก์ชาติ” ออกอากาศเวลา  20.30น.-21.00น. วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ทางช่อง 9 อสมท ดำเนินรายการโดย ชุติมา พึ่งความสุข และ อ.วีระ ธีรภัทร ว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ต้องใช้หลายอย่างเข้ามาแก้ปัญหา เศรษฐกิจติดลบ ไตรมาส 2 ถือว่าหนักที่สุดแล้ว โลกหลังโควิดจะไม่เหมือนก่อนจะมีโควิดแน่นอน  ธุรกิจขาดรายได้ ดังนั้น ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วยลดภาระทางการเงิน ทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ เลื่อนกำหนดการชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยลง และเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่จำเป็นต้องมีสภาพคล่องในช่วงนี้

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ไม่ต้องการให้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราวกลายเป็นปัญหาทั้งระบบสถาบันการเงินทำให้แก้ไขปัญหายาก บทเรียนจากวิกฤติที่ผ่านมาทำให้เราต้องจัดการป้องกันก่อนที่ปัญหาจะลามออกไป เพราะหากปล่อยให้วิกฤติหนักไปแล้ว ทุนในการกู้คืนจะสูงกว่ามาก

วันนี้เราเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมหภาคมีความเข้มแข็งระดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้ อันแรกเลย เราไม่มีหนี้ต่างประเทศสูง ต่างจากปี 40 อันที่สอง เรามีทุนระหว่างประเทศในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง มันก็เป็นกันชนไม่ให้แรงกระแทกจากภายนอกมากระแทกเราได้แรง อันที่สาม เรามีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่อง แปลว่ารายได้จากการที่เราขายสินค้าออกไปต่างประเทศ มันมากกว่ารายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่เราต้องจ่ายออกไป มันก็เป็นความมั่นคงทางด้านต่างประเทศ ถึงแม้ว่าปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวหายหมด เราก็เชื่อมั่นว่าเราจะเกินบัญชีเดินสะพัด ในขณะที่เพื่อนบ้านเราหลายประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่หาเงินตราต่างประเทศได้น้อยกว่าที่ต้องจ่ายออกไป เขาก็ต้องไปกู้เงินตราต่างประเทศ จากความเข้มแข็ง

มาตรการที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหา เราต้องไม่กลัวเรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะ เพราะนโยบายการคลังเป็นเครื่องมือเดียวที่จะเติมรายได้ให้ประชาชนกับเยียวยาได้ในตอนนี้ ถ้าเรากลัวที่จะมีโอกาสเสี่ยงเรื่องการคลังในอนาคต ก็ต้องปิดความเสี่ยง ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ปฏิรูประบบภาษี เพื่อหายรายได้เพิ่มมากขึ้น ลดรายจ่ายลง  วันนี้จำเป็นต้องจ่าย รัฐบาลก็ต้องกู้มาใช้จ่าย แต่ต้องให้แน่ใจว่าเป็นการใช้จ่ายในเรื่องที่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ก็ไปปฏิรูประบบการหารายได้ การจัดการทรัพย์สินในอนาคต ก็จะทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงมากในเรื่องการคลัง

“รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้เงิน โจทย์คือ กู้มาแล้วจะใช้ทำอะไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

นายวิรไท กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือเรื่องของการจ้างงาน เพราะรอบนี้มีคนตกงานเยอะมาก และก่อนเกิดโควิดก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานค่อนข้างมาก โจทย์คือเมื่อโลกกลับมาหลังโควิด คิดว่าตำแหน่งงานจะไม่เหมือนเดิม ประมาณการณ์จ้างงานในภาคบริการ การผลิต 27 ล้านคน ก่อนโควิด ไตรมาส 2 เศรษฐกิจชะงัก แรงงานหายไป 6 ล้านคน ถ้าภาคธุรกิจเปิดกลับมาใหม่  อาจจะกลับมาได้ครึ่งหนึ่งคือ 3 ล้านคน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะคนที่กลับมาทำงานอีกครั้งอาจขาดทักษะในระบบใหม่ เราต้องหาวิธีให้เขามีงานทำ ถ้าเราทำให้มีงานในชนบทได้ก็จะช่วยให้คนมีงานทำ หลังโควิดต้องหางานให้คนทำเป็นล้านตำแหน่ง ต้องให้มีตำแหน่งงานอยู่ได้เป็นปี ซึ่งที่จริงแล้วประเทศต้องการใช้คนทำงานเป็นจำนวนมาก

นโยบายที่สำคัญมากอีกอันคือ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โจทย์เช่น เราพึ่งเศรษฐกิจจากต่างประเทศค่อนข้างมาก อย่างส่งออก ท่องเที่ยว จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น  หรือบางอุตสาหกรรมเจอการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีรถไฟฟ้า รถขับได้ด้วยตัวเอง ทำให้ตลาดรถยนต์ทั่วโลกดิ่งลง ก็ต้องปรับโครงสร้าง มันมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่เยอะ จะทำอย่างไรให้สามารถย้ายไปอยู่ในส่วนที่มีความต้องการได้ มันต้องมีกลไกช่วยย้ายทรัพยากร ไปสู่อุตสาหกรรมที่สอดสอดคล้องกับโลกใหม่ อาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมก็ได้ แต่วิธีการทำธุรกิจมันจะเป็นแบบโลกใหม่ ไม่ใช่แบบเดิม

ขอบคุณข้อมูลรายการฟังหูไว้หู

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0