โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ผู้ว่าการ ธปท. ชู 3 ประเด็นหลัก ฉีดวัคซีนเศรษฐกิจไทย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ก.ย 2562 เวลา 14.22 น. • เผยแพร่ 19 ก.ย 2562 เวลา 14.22 น.
วิรไท_20190916_123652

ในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 16 กันยายนที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทยว่าจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจความไม่แน่นอนมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเกิดจากปัจจัยภายในและต่างประเทศที่เข้ามากระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ อย่างเหตุการณ์ประท้วงที่ฮ่องกง เกิดจากคนรุ่นใหม่ “ขาดความหวัง” ในการดำเนินชีวิตแบบเดิม ๆ หรือกรณีประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ฝรั่งเศส มาจาก “ความกลัวมากกว่าความหวัง” เพราะคิดว่าคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้นอยู่ด้วยความหวังไม่ใช่ความกลัว

เรื่องเศรษฐกิจไทยตลอดจนเศรษฐกิจโลกจะมีวัฏจักรอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการมองไกล หรือมองระยะยาว ว่าจะทำอย่างไรให้แน่ใจได้ว่า เศรษฐกิจไทย สังคมไทย จะมีภูมิคุ้มกันทางสังคมในระยะยาว ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยอยู่ได้ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ไม่ใช่อยู่ด้วยความกลัว

“ความหวังต้องมาจากหลายปัจจัย และแต่ละคนต้องเห็นว่า ตัวเองจะมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศักยภาพชีวิตของตนเองได้ ซึ่งผมขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “การพัฒนา หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคง มีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” ผมชอบมาก เพราะพูดถึงชีวิตแต่ละคน ไม่ได้พูดเรื่องระดับมหภาค นี่เป็นโจทย์ใหญ่มาก” นายวิรไทกล่าว

ชู 3 ปัจจัยสร้างสร้างภูมิคุ้มกัน

นายวิรไทกล่าวว่า มี 3 เรื่องที่จะทำให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อยู่ด้วยความหวังได้ เรื่องแรก คือ จะทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้น และมีโอกาสที่จะใช้ความเก่งของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ 2.ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน คือ ต้องไม่ไปเบียดบังทรัพยากรและคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อไปมาใช้ในรุ่นเรา เพราะจะไม่มีทางจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ และ 3.ทำอย่างไรให้คนไทยมีภูมิคุ้มกัน (safetyness) ในโลกยุคที่มีความผันผวนสูง

“หัวใจสำคัญ คือ เรื่องการศึกษา ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษามีส่วนทำให้คนไทยสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา ขณะที่ปัจจุบันมีปัญหานักเรียนนักศึกษาลดน้อยลง แต่ขณะเดียวยังมีคนอีก 30 ล้านคน ในตลาดแรงงานยังต้องมีการพัฒนาตลอดชีวิต ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรื่องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในตลาดแรงงาน อาจสำคัญกว่าบัณฑิตที่ยังอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ขณะที่ความรู้มีอายุสั้นลงมาก ความรู้ที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว วันนี้อาจจะเชยไปแล้ว ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องทำให้คนไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิต ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเขาได้” นายวิรไทกล่าว

อย่านำภาษีในอนาคตมาใช้

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า เรื่องความยั่งยืน ในภาพใหญ่อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น การกรณีขาดดุลการคลังมาก ๆ ก็แปลว่า ภาระภาษีของคนในอนาคตถูกนำมาใช้ในวันนี้ จึงต้องดูว่าจะรักษาสมดุลได้อย่างไร เพื่อไม่นำทรัพยากรในอนาคตมาใช้มากเกินไป โดยบางประเทศถึงกับมีกฎหมายกำหนดว่า ต้องสร้างทรัพย์สินให้เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่ไปนำทรัพย์สินของคนรุ่นต่อไปมาใช้อย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่มองหางานทำจะมีการดูด้วยว่า บริษัทใดคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร หรือสร้างปัญหาให้สังคมอย่างไร ดังนั้น หากภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ก็จะช่วยให้สังคมมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

ผู้ว่าธปท.ชี้ “หน้าที่ของทุกคน”

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หรือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันในบทบาทที่แตกต่าง ยกตัวอย่าง เรื่องหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่ช่วงรัฐบาลยุคก่อนที่ส่งเสริมเรื่องรถคันแรก ทำให้หนี้ครัวเรือนขึ้นเร็ว ขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อแข่งขันกันมาก ซึ่งเมื่อดูตัวเลขเชิงลึกก็พบว่า เป็นการปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ในระบบเหมือนเดิม แต่ปล่อยกู้กันมากขึ้นแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

นอกจากนี้ จากการศึกษาของ ธปท.เห็นชัดว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้ลดลง ทำงานเดือนแรกก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว เพราะมีผ่อน 0% 6 เดือน นอกจากนี้ก็มีการซื้อของทางอินเทอร์เน็ตกันตลอดเวลา

คุมเกม “ลดกระตุ้น” การก่อหนี้

“แบงก์ชาติก็มีหน้าที่ต้องออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลให้เหมาะสม ไม่ให้สถาบันการเงินแข่งขันจนไปซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาจึงออกเกณฑ์เรื่องบัตรเครดิต เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล LTV สินเชื่อที่อยู่อาศัย และล่าสุดก็เรื่องสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่ ธปท.ก็ไม่ได้กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินทุกราย อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ ลีสซิ่ง ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของเรา”

อีกด้านที่ทำ คือ การตั้งคลินิกแก้หนี้ ขณะนี้สถาบันการเงินก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น เพราะถ้าปล่อยไว้ก็จะเป็นปัญหากลับมากระทบความยั่งยืนของสถาบันการเงิน เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมธนาคารไทยก็ได้เอ็มโอยูเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบก็เห็นทันทีว่าบางสถาบันการเงินประกาศจะเลิกทำแคมเปญสำหรับผู้มีรายได้น้อยอย่างเช่น ผ่อน 0% 6 เดือน ที่ไปใช้จ่ายในสิ่งไม่เกิดประโยชน์ อีกเรื่องก็คือ ร่วมกับหลาย ๆ องค์กรในการสร้างความรู้ทางการเงิน” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวและว่า

เรื่องภูมิคุ้มกันการก่อหนี้ สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง คือ ต้องรู้จัก “พอเพียง” หมายถึงเศรษฐกิจสมดุลเหมาะสมกับแต่ละคน เป็นการ “พอเพียงที่ใจ”

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… ครัวเรือนหนี้ท่วม130% ธปท.หวั่นเศรษฐกิจติดหล่ม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0