โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผู้ยุติการฆ่าตัวตาย แล้วกลายเป็นอมตะ - นิ้วกลม

THINK TODAY

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2561 เวลา 04.26 น. • นิ้วกลม

ชีวิตคนเราเหมือนคลื่นในมหาสมุทร

ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น วนเวียนอยู่เช่นนี้ แต่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่าเมื่อไรที่คลื่นจะขึ้น เมื่อไรที่คลื่นจะลง

แม้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นของจอห์น เบเกอร์จะไม่ได้มีวี่แววเลยว่าเขาจะเติบโตไปเป็นนักวิ่งที่ยอดเยี่ยม สายลมแห่งชีวิตก็พัดพาเขาให้ขึ้นสู่จุดสูงสุดโดยมิได้ตั้งใจ

จอห์น เบเกอร์เข้าร่วมทีมวิ่งของโรงเรียนด้วยเหตุผลเพื่อดึงจอห์น ฮาแลนด์-เพื่อนสนิทหน่วยก้านดีมาเป็นนักกีฬาโรงเรียนตามอุบายที่วางแผนร่วมกันกับโค้ช ในขณะที่ตัวเขาเองนั้นถูกมองว่างุ่มง่ามเกินกว่าจะฝากความหวัง

ในการแข่งวิ่งบริเวณตีนเขาในเมืองนัดแรกระยะทาง 1.7 ไมล์ (2.7 กิโลเมตร) สายตาทุกคู่พุ่งตรงไปที่ลอยด์ กอฟฟ์ เจ้าของตำแหน่งแชมป์กรีฑาเมืองอัลบูเคิร์ก ทันทีที่ปล่อยตัว กอฟฟ์วิ่งนำหน้าทุกคนโดยมีฮาแลนด์วิ่งตามมาติดๆ แล้วนักวิ่งทุกคนก็ค่อยๆ วิ่งหายเข้าไปทางเขาเตี้ยๆ เมื่อเวลาผ่านไป นักวิ่งคนหนึ่งปรากฏกายขึ้นเพียงลำพัง ครูฝึกยังคิดว่าเป็นลอยด์ กอฟฟ์ แต่เมื่อยกกล้องส่องทางไกลขึ้นดูปรากฏว่าเป็นเบเกอร์!

เบเกอร์วิ่งเข้าเส้นชัยโดยทิ้งนักวิ่งที่เหลือทั้งหมดไว้เบื้องหลัง แถมยังทำสถิติใหม่ได้สำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเขาลูกนั้นคือ ตอนแรกเบเกอร์ถูกนักวิ่งคนอื่นทิ้งไปชนิดไม่เห็นฝุ่น เขาจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาได้พยายามสุดความสามารถแล้วหรือยัง สิ่งที่เขาทำหลังจากนั้นคือ-จับจ้องไปที่แผ่นหลังของนักวิ่งที่อยู่ข้างหน้า แล้วมุ่งมั่นทำหนึ่งสิ่งอันแสนเรียบง่ายนั่นคือพยายามวิ่งแซงไปให้ได้ แล้วค่อยตามเก็บนักวิ่งคนถัดไปต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจกล้ามเนื้อที่เหนื่อยล้าโอดครวญ แล้วรักษาความเร็วไว้จนกระทั่งเข้าเส้นชัย

นักวิ่งวัยรุ่นผู้เจียมตัวกลับกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวผู้ไม่เคยยอมอ่อนข้อให้ใคร ปีสุดท้ายก่อนจบมัธยมต้น เบเกอร์ทำลายสถิติการแข่งวิ่งระดับรัฐได้หกครั้ง ระหว่างเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิ่งลมกรดฝีเท้าจัดที่สุดเท่าที่อัลบูเคิร์กเคยมีมา ทั้งที่ขณะนั้นเขายังอายุไม่ครบสิบแปดปีด้วยซ้ำ

เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เขายังคงสร้างสถิติอันน่าอัศจรรย์อย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 1969 เมื่ออายุยี่สิบสี่ปี นักข่าวหน้ากีฬาต่างยกให้เขาเป็นหนึ่งในนักวิ่งลมกรดที่มีฝีเท้าเร็วที่สุดในโลก พร้อมวาดฝันให้เขาเป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกาเพื่อลงชิงชัยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1972

ระหว่างการฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อการแข่งโอลิมปิก เบเกอร์ตกปากรับงานในฝันของเขาอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือการเป็นครูฝึกให้กับโรงเรียนประถมแอสเพนในเมืองอัลบูเคิร์ก เขากลายเป็นโค้ชที่เด็กๆ รัก ด้วยการสอนอย่างใกล้ชิดและรับฟังความทุกข์ร้อนของเด็กๆ อย่างใส่ใจ ในสนามฝึกซ้อมของเขาจะไม่มีใครเป็นดาวเด่น ไม่มีเสียงวิจารณ์ความสามารถของนักเรียนให้ได้ยิน เขาต้องการเพียงให้เด็กทุกคนทำสุดความสามารถ กิตติศัพท์ของ ‘โค้ชผู้ใจดี’ จึงค่อยๆ แพร่กระจายออกไปจนเป็นที่รู้กัน

ต้นเดือนพฤษภาคม ปี 1969 ก่อนวันครบรอบวันเกิดปีที่ยี่สิบห้าของเขาไม่กี่วัน ขณะฝึกซ้อม เบเกอร์สังเกตว่าเขาเหนื่อยกว่าเดิม สองสัปดาห์ต่อมาเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก และในเช้าวันหนึ่งเขาตื่นขึ้นมาด้วยความร้าวระบมเพราะอาการบวมเป่งที่ขาหนีบ หลังพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เบเกอร์เข้ารับการผ่าตัดและพบว่าเซลส์ในลูกอัณฑะข้างหนึ่งมีเนื้อร้ายขยายตัวอย่างเฉียบพลัน และเนื้อร้ายนั้นได้ลามออกไปจนทั่วแล้ว ต่อให้ผ่าตัดครั้งที่สอง เบเกอร์ก็อาจมีเวลาเหลืออยู่บนโลกนี้เพียงหกเดือนเท่านั้น

ต่อแต่นี้จะไม่มีการวิ่งอีกแล้ว และจะไม่มีคำว่าโอลิมปิกให้พูดถึงอีก ส่วนอาชีพครูฝึกในฝันนั้นก็จบสิ้นลงแน่นอนแล้ว อดีตนักวิ่งดาวรุ่งตกอยู่ในห้วงทุกข์ดำมืดซึ่งแผ่ลามปกคลุมไปยังครอบครัวของเขาด้วย

ในวันหนึ่งเขาตัดสินใจขับรถไปที่ยอดเขาแห่งหนึ่งเหนือระดับน้ำทะเลราวสามกิโลเมตร วางแผนยุติความทุกข์ทั้งมวลในพริบตา เร่งเครื่องยนต์เพื่อจบทุกสิ่งลงเพียงแค่นั้น แต่แล้วเขาก็ตัดสินใจเหยียบเบรกกะทันหัน ภาพที่ผุดขึ้นในหัวตอนนั้นคือภาพของเด็กๆ ที่โรงเรียนแอสเพนที่เขาพร่ำสอนให้ทำทุกอย่างให้เต็มความสามารถ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคใด เขารู้ดีว่าการฆ่าตัวตายของเขาย่อมกระทบต่อความคิดของเด็กๆ เมื่อสูดหายใจเต็มปอดอีกครั้ง เขาตั้งใจกับตัวเองใหม่ว่า “ไม่ว่าจะมีเวลาเหลืออีกเท่าไรก็ตาม เราจะทุ่มเทให้เด็กๆ จนหมด”

หลังผ่าตัดใหญ่ เบเกอร์ทุ่มเทเวลาให้กับการเป็นโค้ช และยังเพิ่มงานใหม่ให้ตัวเองอีกด้วย คือกีฬาสำหรับคนพิการ เยาวชนที่เคยเตร่อยู่ข้างขอบสนามจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยโค้ช และได้รับริบบิ้นที่โค้ชเบเกอร์อุตสาหะทำขึ้นด้วยมือตัวเอง

พอถึงปลายปี เบเกอร์มีอาการเจ็บที่คอและปวดที่ศีรษะ เนื้อร้ายได้ลามไปถึงคอและสมองแล้ว เขาต้องทนทรมานกับอาการเจ็บอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยทนตอนกัดฟันวิ่งเข้าเส้นชัย แพทย์แนะนำให้เขาฉีดยาระงับปวด แต่เขาส่ายหัวด้วยเหตุผลว่ายาจะทำให้เขาไม่กระฉับกระเฉงและทำให้ทำหน้าที่โค้ชได้ไม่เต็มที่ ความทุ่มเทเพื่อเด็กๆ ของเขาถึงขั้นทำให้คุณหมอที่ดูอาการเขาเอ่ยปากว่า “จอห์น เบเกอร์เป็นหนึ่งในบรรดาผู้เห็นแก่ผู้อื่นมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมเคยรู้จัก”

ต้นปี 1970 เบเกอร์ได้รับคำขอร้องให้ช่วยเป็นโค้ชชมรมกรีฑาเล็กๆ แห่งหนึ่งของนักเรียนหญิงตั้งแต่ประถมถึงมัธยมปลาย เขารับหน้าที่นั้นทันที วันหนึ่งเขาไปถึงที่นัดซ้อมพร้อมกล่องรองเท้าแล้วประกาศว่าในกล่องมีรางวัลอยู่สองรางวัล รางวัลหนึ่งสำหรับนักเรียนหญิงที่แม้ไม่เคยชนะการแข่งขันที่ไหนมาก่อนแต่ก็ไม่ยอมแพ้กลางคัน นักเรียนที่เห็นรางวัลก็ตาลุกวาวกับถ้วยรางวัลที่เบเกอร์นำติดมือไปฝาก หลังจากนั้นโค้ชเบเกอร์ก็มอบถ้วยให้กับคนที่มีคุณสมบัติ “วิ่งไม่ชนะแต่ก็ไม่ยอมแพ้” อยู่เสมอ หลายเดือนต่อมา ครอบครัวของเขาค้นพบว่าถ้วยรางวัลเหล่านั้นเป็นถ้วยรางวัลจากการแข่งขันต่างๆ ที่เบเกอร์ได้รับมาแล้วบรรจบลบชื่อตัวเองออกนั่นเอง

ทีมเดอะ ดุก ซิตี แดชเชอร์ที่เบเกอร์เป็นโค้ชให้กลายเป็นชมรมกีฑาที่น่ากลัวของคู่แข่ง ไล่ทำลายสถิติการแข่งขันมาเรื่อยๆ กระทั่งเบเกอร์ถึงขั้นทำนายว่า “เดอะแดชเชอร์จะไปถึงรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันกรีฑาร่วมระดับชาติ”

บ่ายวันหนึ่งที่สนามซ้อม นักกรีฑาหญิงคนหนึ่งวิ่งตรงมาหาเขาแล้วตะโกนบอกเขาว่า “โค้ชคะ คำทำนายของโค้ชเป็นจริงแล้ว เราได้รับเชิญให้เข้าร่วมแข่งขันกรีฑาระดับชาติรอบชิงชนะเลิศในเดือนหน้าค่ะ” นั่นทำให้เบเกอร์ดีใจอย่างยิ่ง เขาตั้งความหวังสุดท้ายในชีวิตว่า ขอให้ตัวเองมีชีวิตยืนยาวพอที่จะได้ร่วมทางไปกับนักกีฬาของเขา

แต่คลื่นของชีวิตก็ลงถึงจุดต่ำสุด เช้าวันหนึ่งที่โรงเรียนแอสเพน เบเกอร์ล้มลงบนพื้นสนาม เนื้อร้ายที่แผ่ลามไปทั่วได้แตกออก ทำให้เขาหมดสติเฉียบพลัน หลังจากการรักษาทุกวิถีทาง อีกหนึ่งเดือนหลังจากนั้นเขาสิ้นลมแล้วจากไปโดยไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า สมาชิกของทีมเดอะ ดุก ซิตี แดชเชอร์สามารถเอาชนะการแข่งขันกรีฑาร่วมระดับประเทศที่เมืองเซนต์หลุยส์สำเร็จในสองวันถัดมา-- “เพื่อโค้ชเบเกอร์” นักกรีฑาหญิงทั้งหลายบอกเช่นนั้น

แต่ดูเหมือนว่าเส้นกราฟชีวิตของเบเกอร์มิได้สิ้นสุดลงพร้อมลมหายใจของเขา มันกลับขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งภายหลังพิธีศพ เด็กจำนวนหนึ่งเริ่มเรียกโรงเรียนของพวกเขาว่า “โรงเรียนจอห์น เบเกอร์” และชื่อโรงเรียนที่เปลี่ยนไปนี้ก็ติดปากผู้คนอย่างรวดเร็ว จนเกิดขบวนการเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้อย่างเป็นทางการ เด็กๆ บอกว่า “เราอยากเรียกโรงเรียนของเราว่าจอห์น เบเกอร์” เจ้าพนักงานของแอสเพนจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการโรงเรียนเมืองอัลบูเคิร์กพิจารณา ต่อมา คณะกรรมการเสนอให้จัดทำประชามติ ปีต่อมา ครอบครัวห้าร้อยยี่สิบครัวเรือนในเขตแอสเพนพร้อมใจกันลงคะแนนตอบข้อเสนอนั้นทั้งหมด โดยไม่มีเสียงคัดค้านเลยแม้แต่เสียงเดียว

ผลที่เกิดขึ้นนี้มิได้น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะในเทศกาลขอบคุณพระเจ้าในขณะที่เบเกอร์ยังเป็นโค้ชอยู่นั้น เขาได้รับจดหมายยกย่องชมเชยจากผู้ปกครองของเด็กๆ กว่าห้าร้อยฉบับ “ลูกสาวฉันเคยเป็นตัวป่วน ไม่ยอมตื่นไปโรงเรียน แต่เดี๋ยวนี้เธอแทบรอเวลาที่จะไปโรงเรียนไม่ไหวเพราะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้ดูแลนักวิ่ง” หรือ “ลูกสาวฉันบอกว่ามีซูเปอร์แมนที่โรงเรียนแอสเพน ฉันยังไม่ค่อยเชื่อ แต่พอได้ขับรถไปดูโค้ชเบเกอร์กับเด็กๆ ฉันว่าลูกของฉันพูดถูก” หรือ “หลานสาวของเราต้องทุกข์ทรมานจากเงื่อนไขทางร่างกายของเธอ แต่ปีที่แสนวิเศษที่แอสเพนนี้ โค้ชเบเกอร์ให้เกรดเอสำหรับความพยายามอย่างเต็มที่ของเธอ ขอบคุณที่มอบความเคารพตัวเองให้เด็กขี้อายคนหนึ่ง”

หากเป็นดวงดาว จอห์น เบเกอร์คงเป็นดาวแสนสวยที่อายุสั้นเหลือเกิน แม้ไม่อาจเลือกที่จะไม่เป็นโรคมะเร็ง แต่สิ่งที่เขาเลือกได้คือใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่าที่สุด เป็นคุณค่าที่มอบประโยชน์ให้ผู้อื่น ช่วงเวลาหนึ่งปีสุดท้ายในชีวิตจึงเป็นหนึ่งปีที่แสนจะมีความหมาย แม้เส้นทางสว่างไสวของการเป็นแชมป์กรีฑาโอลิมปิกจะดับวูบลง แต่เขาได้ส่องแสงให้กับเส้นทางใหม่ของนักเรียนจำนวนไม่น้อย เป็นการใช้แสงสว่างที่มีอยู่ของตัวเองให้กับผู้ที่ยังมีลมหายใจต่อไป

เรื่องราวของจอห์น เบเกอร์ทำให้ผมคิดถึงคำพูดของราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สันที่ว่า “การรับรู้ว่ามีชีวิตแม้เพียงหนึ่งชีวิตที่หายใจได้คล่องขึ้นเพราะการมีชีวิตอยู่ของคุณ เท่านี้ก็เป็นความสำเร็จแล้ว” และคำพูดของอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ที่เชื่อมั่นว่า “เราทุกคนสามารถทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทำให้ความทุกข์บางประการสิ้นสุดลงได้”

สิ่งนั้นคือการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น, ไม่ต้องใหญ่โต อาจจะเพียงหนึ่งคนก็เป็นได้

เช่นนี้แล้ว แม้ชีวิตจะแสนสั้นเพียงใด มันก็ยังคงสวยงาม

แม้ชีวิตจะเป็นเหมือนคลื่นที่มีขึ้นและลง แต่เรายังคงพยายามเชิดหน้าขึ้นอยู่เสมอ

มนุษย์เป็นสิ่งสวยงามเช่นนี้เอง

จุดสิ้นสุดหรือเส้นชัยของชีวิตอยู่ตรงไหนไม่มีใครรู้ รู้เพียงว่าบนเส้นทางที่มีขึ้นมีลงนั้น หน้าที่ของเราคือทำมันให้ดีที่สุด

ถ้วยรางวัลมิได้เป็นของผู้ชนะเท่านั้น หากยังเป็นของผู้ที่พยายามอย่างเต็มที่ด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0