โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผู้ประกาศข่าว ช่อง 3 ลุยเกษตร เปิด “โกดังผักสลัด ณ บางกะเจ้า” รับลูกค้า

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 23 มี.ค. 2562 เวลา 23.00 น.
24 โกดังผักสลัด

“เจก รัตนตั้งตระกูล” ชื่อนี้หากใครดูช่วงข่าวในพระราชสำนัก หรือรายการข่าวในบางช่วง ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ก็จะได้มีโอกาสพบผู้ประกาศข่าว ซึ่งอ่านข่าวด้วยสไตล์กระฉับกระเฉง เป็นตัวของตัวเอง และไม่เพียงแต่จะมีความสามารถด้านการเป็นผู้ประกาศข่าว ยังมีความสามารถในการเป็นเกษตรกรชั้นแนวหน้าของพื้นที่บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการด้วย

คุณเจก รัตนตั้งตระกูล กระโดดเข้ามาศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรโปนิกส์กับการปลูกผักสลัดประเภทต่างๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเรียนรู้จากการทดลองปลูกด้วยตนเอง ตามคำแนะนำของครูที่สอนในคอร์สการอบรมแบบวันเดียวจบ จนกระทั่งวันนี้ เป็นเจ้าของ “โกดังผักสลัด ณ บางกะเจ้า” อย่างเต็มตัว ในวัยเพียง 40 ปี

ผลงานการปลูกผัก ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทผักสลัด พันธุ์กรีนโอ๊ค และรางวัลชมเชย พันธุ์เรดโอ๊ด จากงานมหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัย และของดีเมืองปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2561 และปีนี้ก็คว้ารางวัลที่ 3 มาครอง ด้วยคุณภาพของผักสลัดที่ปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์

แรงบันดาลใจที่นับเป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นให้คุณเจกก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับการยอมรับนั้นคือ การเติบโตมากับธรรมชาติที่บางกะเจ้า และแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่อยู่กับธรรมชาติ มีความเป็นเกษตรกรอยู่ดั้งเดิม จึงคิดว่าควรทดลองปลูกผักให้เป็นกิจกรรมของครอบครัว จึงนำพื้นที่บางส่วนของบริเวณบ้านให้เป็นพื้นที่ปลูกผักแบบลงดิน ซึ่งก็พบกับอุปสรรคหลายอย่างในเรื่องของธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้

จากนั้นจึงเริ่มไปเรียนเทคนิคการปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์จากคอร์สที่มีการอบรม เมื่อเรียนแล้วนำความรู้มาทดลองใช้ทันที ด้วยการตั้งโต๊ะปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์เพียงตัวเดียว โดยใช้โต๊ะที่มีความยาว 12 เมตร และใช้เงินลงทุน 30,000-40,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีโต๊ะปลูกผักทั้งหมด 5 โต๊ะ

“ประมาณเกือบ 2 ปีที่แล้ว ครอบครัวเราอยากจะหากิจกรรมสนุกๆ ทำด้วยกัน ส่วนผมนอกเหนือจากการอ่านข่าว อย่างน้อยได้ลองทำ ปลูกพืช ปลูกผัก ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมีท้องร่องหลังสวน ก็ลองปลูกผักเล่นๆ ดู ก็ยังไม่เป็นไฮโดรโปนิกส์ ก็เจอทั้งเรื่องแมลง ทั้งโรค คุมลำบาก ก็เลยคุยกันในครอบครัวว่า ลองปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ดูไหม เรียนวันหนึ่งก็จบแล้ว เมื่อเรียนเสร็จแล้ว ก็ทดลองปลูก เพื่อให้รู้ว่าเราชอบไหม และทุกฤดูกาลจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลกับผักที่เราปลูกอย่างไรบ้าง ต้องทดลองปลูก ตอนนั้นก็ต้องถมที่ พื้นที่หลังบ้านเป็นร่องสวน ซึ่งมันรกมาก ปรับพื้นที่ใหม่ ปูหิน และนำโต๊ะที่จะปลูกผักสลัดไปลงเพียงโต๊ะเดียว วางไว้กลางแจ้ง และก็เริ่มนำเทคนิคที่เรียนมาใช้ บวกกับประสบการณ์ของตัวเองนิดๆ หน่อยๆ ปรากฏว่าผักที่ปลูกออกมาให้ผลผลิตได้ดี” คุณเจก เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น

สำหรับรอบผักสลัดที่คุณเจกปลูกนั้น จะมีรอบการเติบโตประมาณ 42 วัน ต่อรอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการลงเมล็ด และ เติบโตจนเก็บกินได้ ซึ่งช่วงแรกที่ปลูกเพียงโต๊ะเดียว ได้ผลผลิตราว 480 ต้น ก็นำผลผลิตมากินเอง พร้อมกับแบ่งให้เพื่อนบ้านกิน โดยคุณเจกบอกว่า เป็นความสุขที่ได้เห็นตั้งแต่เป็นผักเม็ดเล็กๆ และเติบโตขึ้นมา จนมีผลผลิตให้กิน

“ตอนลงทุนยังไม่ได้มองตลาด ให้มีกิจกรรมที่มีความสุข เหมือนปลูกผักอยู่หลังบ้านแล้วกินผลผลิต แต่ผลผลิตที่ได้มันเยอะน่ะ 480 ต้น ตอนลองปลูกเต็มโต๊ะ ก็หลายกิโล แล้วผักต้นใหญ่มาก 1 ต้น แบ่งได้ 2 จาน สบายๆ 480 ต้นก็ได้เป็นพันจาน ในช่วง 2 รอบแรก ได้ผลผลิตออกมาทานเอง พอรอบหลังทานไม่หมด ก็เปิดบ้านให้คนปั่นจักรยานเข้ามาเพื่อให้เก็บผักกลับบ้าน คิดต้นละ 25 บาท คนก็ทยอยกันมา โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ มาเคาะประตูบ้าน ซื้อผักหน่อยจ้า เราก็เปิดหลังบ้านให้เขาเดินเข้ามาเก็บ ต่อมาลูกค้าก็เริ่มถามหาว่ามีอะไรให้ทานบ้างไหม ก็เริ่มเปิดเป็นร้านอาหารตามมาเรื่อยๆ” คุณเจก เล่า

มาถึงตรงนี้เรื่องของผักสลัดก็สนุกขึ้นอีก เมื่อคุณเจกนำผลผลิตจากการปลูกด้วยไฮโดรโปรนิกส์ ไปให้เพื่อนๆ ที่ช่อง 3 ชิม หลังจากนั้นก็เปิดจำหน่าย ซึ่งมีทั้งแบบตัดต้นไปขายแบบสด และการแปรรูปนำผักสลัดไปใส่กล่อง จำหน่ายพร้อมน้ำสลัด ซึ่งมีสูตรทั้งแบบญี่ปุ่น และซีฟู้ด สนนราคาเพียง 3 กล่อง 100 บาท รวมทั้งนำไปเปิดขายที่ตลาดนัดดาราของช่อง 3 เรียกว่า วางไม่ถึง 2 ชั่วโมง ขายหมดในพริบตา เพราะนอกจากจะมีผักสลัดที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีโลโก้ของคุณเจก การันตีว่าเป็นผักสลัดไฮโดรโปรนิกส์ เป็นผลผลิตที่ปลูกโดยผู้ประกาศข่าว

“ผมก็มาคิดว่าเมื่อกระแสตอบรับดี เราก็เปิดอีกส่วนหนึ่งเป็นร้านอาหารให้คนที่บางกะเจ้าได้ทาน ทำตามออเดอร์ ก็คิดว่า เปิดเป็นที่เล็กๆ ตอนแรกไม่ได้คิดจะเป็นร้านอาหาร คิดแค่ว่า มีที่เก็บผลผลิต ก็เริ่มต้องซื้อตู้เย็น และก็ต่อบ้านน็อกดาวน์ พอมีบ้านน็อกดาวน์ เต็นท์ก็เริ่มมา ชื่อโกดังผักสลัดก็เริ่มมา จากนั้นก็คิดกับภรรยาว่าจะตั้งชื่ออะไรดี ก็คิดชื่อโกดังผักสลัดขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่จดจำชื่อ พอทำร้านอาหารก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากเมนูสลัดที่เคยได้รับความนิยมจากตลาดนัดดาราช่อง 3 ก็ค่อยๆ ขยาย เป็นเมนูข้าว เป็นเมนูเพื่อสุขภาพ ส่วนเมนูดั้งเดิมก็คือ โกดังสลัด แหนมเนือง และเมนูล่าสุดคือ เมี่ยงไก่ลาว ทุกวันนี้ก็เป็นธุรกิจครอบครัว ใครทำอะไรได้ก็มาช่วยกันก่อน ซึ่งตอนนี้เปิดเฉพาะเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนลูกค้ามีทั้งเป็นกลุ่มที่มาสัมมนา และกลุ่มเด็กอนุบาล มาดูสวนผัก ก็เป็นอะไรที่เราเซอร์ไพรส์ มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ” ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 เล่าถึงความสนุกกับที่สิ่งที่เริ่มทำจากจุดเล็กๆ ในการปลูกผักสลัดและขยายกิจการมาเรื่อยๆ”

สำหรับเป้าหมายต่อไป คุณเจก ตั้งเป้าว่าจะขยับขยายกิจการให้รองรับลูกค้าได้มากขึ้น และมีความมั่นคงมากขึ้น จากเดิมที่เริ่มต้นจากธุรกิจในครอบครัว

“ตอนนี้คนรู้จักระดับหนึ่ง แต่เราต้องการให้คนรู้จักมากกว่านี้ มันควรจะเป็นธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้มากกว่านี้ ตอนนี้อาจจะเปิดบริการได้แค่เสาร์อาทิตย์และวันหยุด ในมุมของผม ต่อไปร้านอาหารอาจจะต้องขยายเวลาเปิดในวันธรรมดา ถ้าโกดังเหมือนร้านอื่นๆ ที่เขามีเมนูเพื่อสุขภาพ ไปเปิดที่อื่นเพิ่มได้ไหม นี่คือโมเดลที่เพิ่มขึ้นมา ตอนนี้ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่า ผลผลิตที่ได้มาจะไปขายใครต่อ เพราะ 1 ปี จะได้ผลผลิตทั้งหมด 8 รอบ ต่อการปลูก 1 โต๊ะ วันนี้มีทั้งหมด 5 โต๊ะ รวมทั้งโต๊ะขนาดอนุบาล” คุณเจก เล่าให้ฟังถึงการเติบโตของร้านอาหารซึ่งต่อยอดมาจากการปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ ที่มีโอกาสขยายเป็นธุรกิจที่มั่นคงต่อไปได้”

ที่สำคัญการต่อยอดของคุณเจก ที่เดินทางมาถึงการทำร้านอาหารซึ่งมีเมนูเพื่อสุขภาพ มีเมนูหลักคือ สลัดผักไฮโดรโปนิกส์ ภายใต้ชื่อร้าน “โกดังผักสลัด ณ บางกะเจ้า” นั้น คุณเจก ไม่ได้เรียนจบสาขาด้านเกษตรกรรม แต่มีความสนใจทางด้านการเกษตร เพราะเติบโตกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติในพื้นที่บางกะเจ้า จึงทำให้การเรียนรู้ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์มีการต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ โดยคุณเจกมีวิธีคิดที่จะเป็นกำลังใจให้กับเกษตรกรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้อย่างดี

“การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไม่ใช่การทำเกษตรแบบเดิมๆ เป็นการทำเกษตรแบบอาศัยเทคโนโลยีนิดๆ เข้ามาช่วย มีเรื่องอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การผสมปุ๋ย และเรื่องหลักการเทคโนโลยี เครื่องทุ่นแรงต่างๆ มีระบบราง ระบบเรื่องของน้ำ ซึ่งทุกอย่างสามารถควบคุมได้ ถ้าเราอิงกับธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ จะควบคุมมันไม่ได้ แต่ถ้าปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ เราควบคุมได้ ปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลต่อพืช สามารถควบคุมมันได้ แม้จะมีผิดพลาดบ้าง เช่น ปลูกแล้วบางต้นก็ตายบ้าง แต่สัดส่วนตั้งแต่ปลูกมา ประสบความสำเร็จ 90% ส่วนอีก 10% เจอกับผักที่ตาย หรือขายไม่ได้ ก็ถือว่าชนะเลิศแล้วในการปลูกผักสลัดแบบไฮโดรโปนิกส์”คุณเจก เล่าให้ฟังอย่างมีความสุขถึงประสบการณ์ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทดลองทำ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จนประสบความสำเร็จ

วิธีคิดในการเรียนรู้กับการปลูกผักสลัดด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์จากคุณเจก จะนำมาใช้กับการทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรื่องเกษตรกรรมอย่างเดียว

“ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องมองแต่เรื่องเกษตร แต่ถ้าเราอยากทำอะไรก็ลองทำดู พอรู้ว่าไม่ใช่ ก็คือไม่ใช่ ถ้ายังมีเวลาก็ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเป็นวิชาเกษตรก็ลองเอาความรู้ วิชาใหม่ๆ เรื่องของเทคโนโลยีเข้าไปจับ เพื่อให้การเกษตรพัฒนา จริงๆ ไฮโดรโปรนิกส์ก็เป็นศาสตร์ๆ หนึ่ง ที่มีกระบวนการเรียนรู้ตลอดเวลา และ ณ วันนี้ เราปลูกได้แล้ว แต่มันเป็นไปได้ไหม ที่เราจะเอาพืชชนิดอื่นมาลองปลูก ก็มีแล้วน่ะ อย่างผักไทยๆ ก็ปลูกได้ อาทิ ผักชี ต้นหอม หรือเป็นไปได้ไหมที่จะนำดอกไม้มาปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปรนิกส์ แม้กระทั่งการทำเกษตรกรรมขั้นพื้นฐาน ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้ผลผลิตที่มีดีขึ้นกว่าเดิม นี่คือ การเอาองค์ความรู้เข้ามาจับ การเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การบริหารจัดการในฟาร์มเอง ทุกอย่างต้องใช้แรง เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าลดคน ลดแรงงาน และนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยได้อีก อันนี้คือ สิ่งที่ต้องคิดต่อ แม้มันจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผมก็ว่ามันไม่จบที่เราจะต้องเรียนรู้” คุณเจก เล่าให้ฟัง

“เราใส่ความสุข และตั้งใจมาก ทุ่มเททุกอย่างให้ดีที่สุด อะไรที่เราเคยพลาดก็ไม่ทำ และการที่เราใส่ใจกับความสำเร็จของเรา การที่เราคิดแทนผู้บริโภคทุกอย่าง ไม่ว่าเราจะปลูกผัก หรือทำอาหารให้ สิ่งที่ผมกับภรรยาผมคิดเหมือนกันก็คือ เราทำผลผลิตให้กับลูกค้าเหมือนกับเรากินเอง อย่างภรรยาผมจะละเอียดมาก ผักถ้าเสียไป จะคัดออกทันที ทำอาหารก็ตั้งใจทุกจาน อะไรไม่ดี เราก็เขี่ยทิ้ง ธุรกิจร้านอาหาร สำหรับเราก็มือใหม่ แต่เกษตรเราก็มือใหม่ แต่มันคือการเริ่มต้นและการเรียนรู้ ต้องตั้งใจกับมันและเรียนรู้ มันก็เป็นทางของมัน ร้านอาหารไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก ทำเกษตรก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้มาขนาดนี้ แต่มันก็มาของมันเอง ก็โอเค เพราะฉะนั้นจงตั้งใจกับทุกงานที่เราทำ เดี๋ยวมันก็มาเอง และเราตั้งใจในสิ่งที่ปัจจุบันที่เราทำ เดี๋ยวมันก็ออกมาเอง”

ที่สำคัญ วันนี้ คุณเจก รัตนตั้งตระกูล ก้าวขึ้นมาผลิตสื่อการสอนให้กับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ “การปลูกผักสลัดด้วยวิธีไฮโดรโปรนิกส์” ผ่านการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งเหมาะกับยุค 4.0 ที่อยู่ตรงไหนก็เรียนได้ และนำไปใช้ได้จริง โดยผู้ที่สนใจเรียนรู้เทคนิคปลูกผักสลัด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงแวะเยี่ยมชม “โกดังผักสลัด ณ บางกะเจ้า” ได้ที่บ้านเลขที่ 99/4 ตำบลบางกอบัว อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทร. 090-465-8949 และที่เฟซบุ๊ก “โกดังผักสลัด ณ บางกะเจ้า ไฮโดรโปนิกส์”

ต่อยอดไอเดีย สู่เส้นทาง “โค้ช”

*ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์  *

คุณเจก รัตนตั้งตระกูล เปิดใจถึงการนำความรู้ทางเกษตรกรรมไปต่อยอดสู่เส้นทางการเป็นผู้สอน หรือโค้ช ด้านการปลูกผักสลัดด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีแนวทางในการปลูกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า คอร์สที่สอน อันดับแรก จะบอกให้ผู้เรียนมองตลาดก่อนว่า จะปลูกอะไร และอย่าปลูกพืชผักที่คนเขาปลูกกัน เพราะถ้าอะไรที่เราเริ่มเห็นว่าดี จะช้าไปแล้ว ต้องมองไปข้างหน้าว่า อะไรที่ยังไม่มี แล้วกำลังจะมา นั่นคือ ต้องตั้งจุดประสงค์ก่อนว่า เราปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อขายใคร ถ้าพื้นที่เรามีการขายผลไม้ชนิดหนึ่งอยู่แล้ว และมีผู้ขายกันมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าปลูกมาแล้ว จะขายใครต่อ เพราะผลผลิตทางการเกษตรอายุสั้น ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน

*ดังนั้น ต้องคิดก่อนว่า เราปลูกไปแล้วเราขายใคร จริงๆ การตลาดนำการผลิตด้วยซ้ำ ยกเว้นคุณจะปลูกเป็นกิจกรรมยามว่าง ทำสนุกๆ ปลูกเล็กๆ พอ แต่ถ้าจะทำในเชิงธุรกิจที่จะค้าขาย ต้องเพียงพอในเรื่องการใช้การตลาดนำการเกษตร  *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0