โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ผู้ช่วยผู้บริหารโดนเลย์ออฟ ! หันขายเป็ดพะโล้ ร้องไห้ทุกวัน ก่อนเจอทางที่ใช่

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 24 ก.พ. 2563 เวลา 09.32 น. • เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 08.34 น.
83942142_502670750648086_6786309375792250880_n

ผู้ช่วยผู้บริหารโดนเลย์ออฟ ! หันขายเป็ดพะโล้ ร้องไห้ทุกวัน ก่อนเจอทางที่ใช่

คนส่วนใหญ่อาจมี “ต้นทุนชีวิต” ไม่มากมายนัก กว่าจะประสบความสำเร็จ ลืมตาอ้าปากด้วยอาชีพสุจริต ยืนบนขาตัวเองได้อย่างสง่างาม ให้ครอบครัวภูมิใจได้นั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้

ดูอย่างเรื่องราวของ เจ้าของกิจการร้านขายแอกเซสซอรี่โทรศัพท์มือถือ ใหญ่ที่สุดในตลาดดวงแก้ว จังหวัดนนทบุรี ที่เขานั้นต้องล้มลุกคลุกคลานมาไม่ใช่น้อย กว่าจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แม้จะไม่ได้ใหญ่โต โก้หรูอยู่ในห้างติดแอร์ แต่ก็สามารถทำรายได้ให้อย่างคุ้มเหนื่อย มีกำไรพอที่จะนำไปซื้อรถ ซื้อบ้านหลังละหลายล้าน ได้เรียบร้อยแล้ว

คุณวิน-จิรัฎฐ์ พิลา คือ ชายหนุ่มเจ้าของกิจการดัง เกริ่นมาข้างต้น เริ่มบทสนทนาด้วยอัธยาศัยเป็นกันเอง ด้วยการแนะนำตัว ปัจจุบันอายุ 39 ปี  เกิดและโตกรุงเทพฯ พื้นเพคุณพ่อ-คุณแม่เป็นคนภาคอีสาน จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท  เคยทำงานประจำเป็นผู้ช่วยผู้บริหารในบริษัทเอกชนชื่อดังด้านการสื่อสาร ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  เคยได้เงินเดือนสูงสุดกว่าห้าหมื่นบาท

กระทั่งราวปี 2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงบอร์ดผู้บริหารใหม่  จึงมีอันต้อง “ติดโผ” เออร์ลี่ รีไทร์ สุดท้ายโดนจับสลากให้ออก

“ผมพูดได้หลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน เยอรมัน เป็นคนบ้างาน ที่ไต่เต้าจากพนักงานหน้าฟรอนท์ธรรมดา เลื่อนขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ตอนอายุแค่ยี่สิบปลาย ได้เงินตอนเออร์ลี่มาเกือบสองล้านบาท เอาไปเที่ยวยุโรปเกือบหมดเลย” คุณวิน เล่าความหลัง พร้อมหัวเราะร่วน

ก่อนเล่าต่อ  ด้วยความที่อายุยังไม่มาก แม้จะถูกให้ออกจากงาน เขายังมีความรู้สึกว่า พอเที่ยวเสร็จ  ค่อยไปสมัครงาน ด้วยวุฒิ ด้วยศักยภาพที่มี ความสามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้สบายๆ  จึงทำ “เรซูเม่” ไปขอสมัครตามบริษัทแนวเดียวกันกับบริษัทเดิม แต่ถูกปฏิเสธหมด  เพราะเป็นกฎที่ถือปฏิบัติกันมาว่าจะไม่รับคนที่เคยทำงานในบริษัทที่ทำธุรกิจเหมือนกัน

“จำได้ว่าเหลือเงินอยู่แสนหก วันนั้นเพื่อนชวนไปกินก๋วยเตี๋ยวเป็ดคลองน้ำอ้อม แถววัดโพธิ์ทอง เชียงราก เห็นป้ายรับสอนทำเป็ดพะโล้ เป็ดย่าง ผมก็สร้างจินตนาการจะหาเช่าร้านสวยๆ เปิดขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด” คุณวิน ย้อนความทรงจำ

และว่า ตัวเขาพอมีพื้นฐานด้านการทำอาหารอยู่บ้าง เนื่องจากคุณแม่เป็นอาจารย์สอนวิชาคหกรรมศาสตร์  จึงตัดสินใจไปสมัครเรียนวิชาเป็ดพะโล้ ใช้เวลาในการศึกษาทุกขั้นตอนราว 10 วัน เสียค่าใช้จ่ายในการเรียนไปทั้งหมด 95,000 บาท ทุนที่เคยมีหลักแสนกว่า จึงเหลือไม่มาก แผนการที่จะมีร้านห้องแถวสองคูหา จึงต้องสลายไป

เขาจึงตัดสินใจไปหาทำเลขายตามตลาดนัด ที่แรกคือ ตลาดคอนโดบ้านสวนบางเขน จำแม่น มีทุนตั้งต้นทั้งหมด 3,000 บาท

“ลงขาย วันแรก โอ้โห อุปสรรคร้อยแปดจากเพื่อนร่วมค้าด้วยกัน พวกเขาคงอยากรับน้องใหม่ และที่สำคัญ ขายไม่ได้เลย  เพราะตอนนั้นยังไม่มีศิลปะในการขาย เคยทำแต่งานออฟฟิศมาก่อน ยังมีความรู้สึกว่า มีหัวโขนของหนุ่มออฟฟิศ มากกว่าการเป็นพ่อค้า กลัวจะเจอคนทำงานที่เดียวกัน เขาคงพากันพูดว่าผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มาขายของตลาดนัดเหรอ” คุณวิน เล่าเสียงหม่น

ทำใจยากมั้ยเวลานั้น คุณวิน บอกตรงๆ ว่า  ยากมาก ถ้าพูดถึงตอนนั้นภาวะจิตใจยังไม่ยอมรับตัวเองเต็มร้อย รู้สึกอาย เหมือนกับว่าทุกเช้าเคยผูกไท ใส่สูท มีรถประจำตำแหน่งให้ขับไปขับมา มีห้องทำงานส่วนตัว มีแม่บ้านยกกาแฟมาให้  ถึงวันหนึ่งต้องมาเป็นพ่อค้า อยู่หน้าเขียง ผูกผ้ากันเปื้อน ตัวเลอะๆ เทอะๆ กลัวคนจะคิดด้วยวุฒิขนาดนี้ ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดหรือเปล่า

“ร้องไห้ทุกวันตลอดสองเดือน ของก็ขายไม่ค่อยได้  เพราะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่าวันละสี่พันบาท แต่เป็ดพะโล้ กระดูกแข็งมาก การสับเลาะจึงค่อนข้างยาก ต้องใช้ทักษะ ต้องอาศัยความคล่องแคล่ว ความน่าเชื่อถือถึงจะมี ถ้าทำย็อกๆ แย็กๆ ลูกค้าก็ไม่มั่นใจ” คุณวิน บอกอย่างนั้น

เมื่อเกิดแรงกดดันหลายด้าน คุณวิน จึงตัดสินใจหยุดร้านพักหนึ่ง ก่อนออกตะเวนตามตลาดนัดต่างๆ ศึกษาหาเทคนิคการเลาะ/การสับเป็ด รวมทั้งกลยุทธ์เรียกลูกค้า ก่อนจดจำมาฝึกฝนเองที่บ้านจนคล่อง ส่วนเรื่องร้องเรียกลูกค้าให้เข้ามาแวะชม เขากล้าทำมากขึ้น และเมื่อมีลูกค้าแวะ เขาจะนำเป็ดที่หั่นเป็นชิ้นใส่ถาดไว้แล้ว ส่งให้ลูกค้าได้ชิมรสชาติทันที

ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ กิจการเป็ดพะโล้ของเขาดีขึ้นตามลำดับ จากเคยขายได้วันละไม่ถึงพัน ก็ขยับขึ้นตามความคล่องแคล่วของพ่อค้า มาเป็นวันละหลายหมื่นบาท จากเป็ดพะโล้โนเนม มาเป็นร้านเป็ดพะโล้เมืองปทุม มีถึงสามสาขา ที่ลูกค้าต้องนั่งรอตั้งแต่ร้านยังจัดไม่เสร็จ

“ขายเป็ดพะโล้อยู่ 4-5 ปี ชีวิตดูเหมือนดี แต่สุดท้ายมาล้มป่วย เส้นประสาททับไขกระดูก เจ็บหลังนอนเป็นเดือน สาเหตุมาจากการยกของหนักผิดท่าเป็นเวลานาน ต้องทำกายภาพ ยกของหนักไม่ได้อีกต่อไป หมดค่ารักษาไปเป็นแสน สุดท้ายร้านเป็ดต้องเลิกไปโดยปริยาย” คุณวิน เล่าความหลังครั้งนั้น

แต่ชีวิตคนเราไม่สิ้นต้องดิ้นไป เมื่อสุขภาพกายดีขึ้น คุณวิน จึงสมัครเข้าทำงานในบริษัทเทรดดิ้งแห่งหนึ่ง ทำอยู่ปีเศษตัดสินใจลาออก เพราะทนถูกบีบให้ “หายอด” ไม่ไหว ว่างงานอยู่ไม่นาน ตัดสินใจเปิดร้านข้าวต้มย่านลำลูกกา คราวนี้ทำร่วมกับพี่สาว ช่วงกำลังมือขึ้นมีลูกค้าประจำกลุ่มใหญ่ กลับเกิดเหตุไม่คาดคิด คือ น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

“ลำลูกกา เจอน้ำท่วมหนักสุด ข้าวของในร้านพังหมดมูลค่าร่วมแสนกว่า แทบหมดตัว เครียดกันทั้งบ้าน  เลยมานั่งคิด เรามาจากไหน มาจากบริษัทสื่อสาร เรามีความรู้ด้านไหนบ้าง สุดท้ายตัดสินใจนั่งรถเมล์ไปถนนเสือป่า กำเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ไปหาซื้อแอกเซสซอรี่ พวกสายชาร์จและเคสโทรศัพท์มือถือ หมดไปไม่เกินห้าพันบาท กะมาปูผ้าวางขายกับพื้นตามตลาดนัดแถวบ้าน” คุณวิน เล่ามาถึงจุดเริ่มอาชีพล่าสุด

ก่อนบอกต่อ โซนในตลาดนัดที่ไปปูผ้านั้น ดันหันหน้าชนกับร้านโทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่ขนาด 3-4 ล็อก  ซึ่งมีของหลากหลายและครบมากกว่า  เป็นความกดดันแรก สร้างความกังวลจะขายได้มั้ย เพราะมีตัวเลือกน้อยกว่า แต่ด้วย “พื้นฐานพ่อค้า” ที่มีอยู่เป็นทุนแล้ว คิดว่าอาชีพใหม่ครั้งนี้ น่าจะไปได้

“หากมีลูกค้าเดินเข้ามา ตั้งใจไว้เลย ทำยังไงให้เขาซื้อของเราให้ได้ ถึงแม้ร้านเราจะมีตัวเลือกน้อยกว่า และสิ่งเดียวที่จะทำให้เขาซื้อ มีอยู่อย่างเดียวเลย คือ ความเชื่อใจ” คุณวิน บอก

ทั้งเผยเทคนิคต่อ

“ผมมีเทคนิคในการพูด แรกเริ่มลูกค้าหลายคนอาจแอนตี้ คิดว่าของในห้างน่าจะดีกว่าของในตลาดนัด ซึ่งผมสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติลูกค้าได้ ผมขายสินค้ามีรับประกัน ซื้อไปใช้ไม่ได้ภายในหกเดือน ไม่ว่าจะขาดใน ขาดนอก ไม่เห็นทองแดงโผล่ มาเปลี่ยนเลยนะ ภายในหกเดือน ร้านผมอยู่ตรงนี้แหละ ผมรับประกันสินค้าให้ การขายของต้องไม่โกหก เช่น ใช้โทรศัพท์รุ่นนี้ ขายสายชาร์จรุ่นไหนให้ก็ได้ อย่างนั้นไม่ทำ เพราะอย่างแรกต้องรู้รุ่นก่อน เครื่องเล็กหรือใหญ่ ต้องแมตช์กับสายชาร์จแบบไหน นี่คือการขายของผม” นอกจากจะต้องมีศิลปะในการสื่อสารกับลูกค้าแล้ว ทักษะความชำนาญในด้านต่างๆ เช่น การติดฟิล์ม การซ่อมบำรุงโทรศัพท์ นับเป็นจุดดึงดูดลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งความสามารถในด้านนี้ คุณวินได้ขวนขวายศึกษาและฝึกปรือจนมั่นใจว่า มี “ความเป็นมืออาชีพ” ระดับหนึ่ง ที่ลูกค้าให้ความวางใจทุกเพศ ทุกวัย

“ตลาดดวงแก้ว อยู่ใกล้โรงเรียนพระหฤทัยนนท์ ทำให้ผมได้ลูกค้าเป็นกลุ่มอาจารย์ชาวต่างชาติ จำนวนหนึ่งการที่ผมสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ น่าจะเป็นข้อได้เปรียบบ้าง เมื่อเทียบกับร้านในละแวกเดียวกัน” คุณวิน บอกอย่างนั้น

ก่อนบอกเทคนิคค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ประจำตัวให้ฟัง

“ผมนับถือลูกค้าทุกท่าน เรียกพ่อ เรียกแม่ และยกมือไหว้ทุกครั้งที่รับเงิน  ผมไม่ได้มองว่าลูกค้าเป็นพระเจ้า    แต่มองว่าเป็นผู้มีพระคุณ ทุกวันนี้ผมมีบ้านหลังละสามล้านกว่า ซื้อรถเก๋ง รถกระบะ อย่างละคัน ทุกอย่างมาจากกำไรในธุรกิจนี้  ถ้าไม่มีพวกท่าน คงไม่มีผมวันนี้”

 คุณวิน บอกต่ออีกว่า อาชีพค้าขายแอกเซสซอรี่โทรศัพท์มือถือนี้ เขาเริ่มจากศูนย์ด้วยทุนหลักพัน จากปูพื้นขายมีอยู่ล็อกเดียว จนวันนี้มีร้านห้าล็อก เป็นร้านใหญ่ที่สุดในตลาดดวงแก้ว มีลูกน้อง มูลค่าของที่ลงในร้านไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท เดือนหนึ่งๆ มีกำไรเลี้ยงตัวได้สบาย

ธุรกิจนี้กำไรดีก็จริง  แต่อยู่ที่คุณจะบริหารจัดการเงินได้หรือเปล่า ปัจจุบันผมไม่สุรุ่ยสุร่าย แต่สมัยก่อน ไม่เคยใช้เงินสด ใช้แต่บัตรเครดิตมีอยู่ 8 ใบ วงเงินเต็มทุกใบ  กินข้าวมื้อหนึ่งไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาท  แต่ทุกวันนี้ ผมไม่อายที่จะกินข้าวแกงข้างถนน” คุณวิน บอกยิ้มๆ

 ถามถึงภาวะการแข่งขันธุรกิจนี้ เจ้าของเรื่องราว ท่านเดิมบอก โทรศัพท์มือถือ เปรียบเป็นปัจจัยที่หก สินค้าอื่น พวกเสื้อผ้า เครื่องประดับ  ยอดตกหมด ขายแทบไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เคส ฟิล์ม สายชาร์จ โทรศัพท์มือถือ  ที่หลายคนอาจมองเป็นของฟุ่มเฟือย แต่หลายคนบอกยังมีความจำเป็น ทำให้ขายได้อยู่

ส่วนเรื่องคู่แข่ง ที่มีอยู่ไม่น้อย ทั้งในห้างและตลาดนัดด้วยกัน คุณวิน บอกยิ้มๆ ว่า สินค้าในแบบของเขา ที่คุณภาพเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันกับในห้าง เขาสามารถขายได้ถูกกว่า เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่เท่ากันกับร้านในห้าง ยิ่งในระดับตลาดนัดเหมือนกัน ยิ่งไม่เคยกลัว ด้วยมีฐานลูกค้าประจำ  มีการซื้อซ้ำตลอด

เมื่อถามถึงเป้าหมายธุรกิจ คุณวิน บอกหนักแน่นว่า อยากเป็นศูนย์ค้าส่งอุปกรณ์มือถือ ตอนเขาอายุ 47 จะไม่เป็นพ่อค้าตลาดนัดแล้ว แต่จะใช้เงินบริหารเงิน เพราะต้องการให้ครอบครัวสบาย ช่วงที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ ทุกวันนี้มีบ้าน มีรถ ได้เพราะอาชีพนี้ แต่คิดว่าประสบความสำเร็จแค่ครึ่งทางเท่านั้น

“ใครอยากทำอาชีพค้าขายอุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ ผมสอนให้ได้นะ ไม่คิดค่าวิชาอะไรเลยด้วย เพราะอยากให้คนมีอาชีพ แต่ต้องรับปากก่อนถ้ามีอาชีพอย่างผมแล้ว ต้องซื่อสัตย์ ไม่ทำให้สิ่งที่สอนไปเป็นสิ่งเลวร้ายกลับคืนมา ไม่ใช่ผมชี้โพรงให้กระรอก สอนคนให้เป็นโจร อย่างนั้นไม่เอา” คุณวิน ทิ้งท้าย

ปัจจุบัน ร้านคุณวิน จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมทุกยี่ห้อ ตั้งอยู่ที่ตลาดดวงแก้ว (ติดกับโรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี) ถนนติวานนท์-ปทุมธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

อยากไปอุดหนุนหรือขอศึกษาวิชาอาชีพค้าขาย โทรศัพท์ไปพูดคุยกันก่อนได้ที่ โทรศัพท์ (087) 404-6669, (099) 292-2946 หรือ Line : vinpower69

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0