โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผู้ค้นพบคนแรก “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” เผยขั้นตอนตรวจ-เชื้อเหมือนในค้างคาว

TODAY

อัพเดต 27 ม.ค. 2563 เวลา 03.56 น. • เผยแพร่ 27 ม.ค. 2563 เวลา 03.33 น. • Workpoint News
ผู้ค้นพบคนแรก “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” เผยขั้นตอนตรวจ-เชื้อเหมือนในค้างคาว

ผู้ถอดรหัสพันธุกรรม "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019" นอกประเทศจีนคนแรก ชี้ "เชื้อ" เหมือนในค้างคาว 96 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่ทราบเส้นทางจากค้างคาวมาที่คนได้อย่างไร

ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นักเทคนิคการแพทย์หญิงผู้ถอดรหัสพันธุกรรมโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในสัมภาษณ์กับ The Reporters เมื่อวันที่ 26 มกราคม ว่า ช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 เราเรียกโรคนี้ว่า "โรค X" เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร โดยไวรัสที่เรากำลังเผชิญอยู่ในกลุ่มเบต้า กรุ๊ปบี แตกต่างจาก "เมอร์ส" ที่เป็นกรุ๊ปซี

ในการวินิจฉัยโรคเริ่มจากเมื่อวันที่ 8 มกราคม นายแพทย์โรม บัวทอง กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยต้องสงสัย มีอาการไข้ มีอาการในระบบทางเดินหายใจมาจากเมืองอู่ฮั่น จึงส่งตัวอย่างมาตรวจ โดยเราใช้การตรวจด้วยเทคนิคตรวจทั้งตระกูลของไวรัส แล้วพบผลบวกเฉพาะโคโรนาไวรัสอย่างเดียว ในขณะที่เชื่อไข้หวัดไม่พบ จากนั้นได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งตามปกติเราต้องนำไปเทียบว่าเป็นเชื้ออะไร

แต่ขณะนั้นประเทศจีนยังไม่บอกว่า เชื้อที่เขาพบเป็นเชื้ออะไร วันที่ 9 มกราคมยังไม่มีข้อมูล จึงนำไปเทียบกับ "ธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก" พบว่าผลออกมาเป็น "เชื้อโคโรนาที่คล้ายกับโรคซาร์สที่มีต้นตอจากค้างคาว" นี่คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มกราคม ทางการจีนเริ่มปล่อยข้อมูลรหัสพันธุกรรมที่พบจากผู้ป่วย เราจึงนำมาเปรียบเทียบ และพบว่า 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนกับผู้ป่วยที่อู่ฮั่น วันที่ 12 มกราคมมีการประชุมคณะกรรมการกรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจซ้ำอีกครั้ง จากนั้นวันที่ 13 มกราคม จึงมีการประกาศว่าประเทศไทยเจอผู้ติดเชื้อจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 รายแรก

"ถ้าเขาบอกว่าที่ seafood market ที่ตลาดค้าอาหารทะเลที่อู่ฮั่น ว่าตรงนั้นขายอะไรกันบ้างมีการขายสัตว์ตัวกลางไหม เพราะตอนนี้เขาบอกว่าเหตุเกิดต้นตออยู่ที่นั่น แต่ยังหาความเชื่อมโยงไม่ได้ บางทีก็ต้องไปสำรวจสัตว์อื่นๆ เพิ่มเติมในแหล่งบริเวณนั้นสัตว์เลี้ยงสัตว์ป่าอื่นๆ"

"สัตว์อะไรที่กินค้างคาวแล้วคนกินได้ ถ้ามองก็จะมีงู เพราะงูเป็นตัวที่ทำร้ายค้างคาวได้"

"แต่โอกาสที่จะเป็นงูค่อนข้างยาก เพราะงูเป็นสัตว์เลื้อยคลาน  แต่ว่าค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม การกระโดดข้ามส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มตระกูลเดียวกัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเหมือนกันเพราะว่า  เพราะว่าเวลาไวรัสเข้าไปสิงสู่เข้าไปในเซลล์ร่างกายของสัตว์หรือคน เขาต้องการตัวเกาะเข้าไปในเซลล์แล้วฝังเข้าไป"   

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อมูลเท่าที่มีตอนนี้ยังบอกได้แค่ว่า ยังไม่ก่อโรคในคน เพราะยังไม่มีเหตุการณ์ที่บอก ว่าเชื้อที่เราพบในค้างคาวประเทศไทยสามารถก่อโรคในคนได้ ดังนั้นเป็นเรื่องของฐานข้อมูลที่เราทำเก็บไว้ คล้ายประเทศจีนที่มีข้อมูลเชื้อไวรัสในค้างคาว เวลาเกิดโรคระบาด สามารถนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมเชื้อโรคจากในคน หรือในสัตว์เลี้ยงมาเทียบเคียงจากสัตว์ป่า เช่นค้างคาว ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งนำโรคสำคัญของโรคอุบัติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอีโบล่า นิปป้า เมอร์ส ซาร์ส มีความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมไปถึงค้างคาวทั้งสิ้น แต่มีเส้นทางกระโดดมาที่คนที่แตกต่างกันไปแค่นั้นเอง

"อย่าไปกินค้างคาว ถ้าจำเป็นต้องเข้าถ้ำทีมีค้างคาวให้แต่งกายให้รัดกุม ใส่เสื้อแขนยาว หมวก แว่นตา เผื่อค้างคาวเยี่ยว หรือขี้ จะได้ไม่โดนตาหรือเข้าปากเรา"

ดร.สุภาภรณ์ ระบุว่า โอกาสที่เชื้อจากค้างคาวสู่คนโดยตรงยังน้อยอยู่ สำหรับประเทศไทยและหลายๆ ประเทศ ยังไม่มีรายงานว่าเชื่อจากค้างคาวติดต่อสู่คนได้โดยตรง เพียงแต่ข้อมูลรหัสพันธุกรรมที่เกิดขึ้นของประเทศจีน เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเหมือนกับค้างคาวมากที่สุด เราใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไขปริศนา

(ชมคลิปสัมภาษณ์จาก The Reporters)

ขอบคุณภาพปก: คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0