โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ : บาร์เซโลนา กับปฏิบัติการล้างบางมรดกนายพลฟรังโก

Main Stand

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 14.12 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • มฤคย์ ตันนิยม

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา สโมสรบาร์เซโลนา ได้ผ่านมติคืนเหรียญรางวัลที่ได้รับจากนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก อดีตผู้นำจอมเผด็จการของสเปน ที่เรืองอำนาจในช่วงปี 1936-1975 

 

การคืนเหรียญ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสโมสรฟุตบอล โดยเฉพาะในยุโรป เพราะเหรียญรางวัลถือเป็นเกียรติยศของสโมสร โดยเฉพาะการได้รับจากท่านผู้นำประเทศ ซึ่งควรค่าแก่การเก็บไว้ 

อย่างไรก็ดี บาร์เซโลนา กลับพยายามคืนเหรียญที่ได้มาจากนายพลผู้นี้ เขาทำอะไรให้สโมสรเจ็บช้ำ จนถึงขั้นแม้จะเสียชีวิตไปแล้วยังไม่อยากข้องเกี่ยว?  

ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand    

 

สโมสรของชาวคาตาลัน 

ไกลออกไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงมาดริด มีพื้นที่สามเหลี่ยมที่ชื่อว่า แคว้นคาตาลุญญา ตั้งอยู่ มันมีพื้นที่ 32,000 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดพอๆ กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีสองจังหวัดรวมกัน 

Photo : fusterapartments.com

แคว้นแห่งนี้ถือเป็นเขตการปกครองที่ร่ำรวยที่สุดของสเปน โดยเฉพาะ บาร์เซโลนา เมืองหลวงของแคว้นที่เป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญของประเทศ นอกจากนี้พวกเขายังมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งภาษา และวัฒนธรรม รวมไปถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน 

ความเป็นตัวตนของภูมิภาคนี้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 11 ก่อนที่พวกเขาจะถูกผนวกรวมกับอาณาจักรอารากอนในศตวรรษที่ 12 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสเปนในการก่อตั้งประเทศในช่วงศตวรรษที่ 15 จากการที่ กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ แห่งอารากอน และพระราชินีอิซาเบลลา แห่งคาสตีล อภิเษกสมรสกัน 

พวกเขาอยู่ใต้ร่มเงาของสเปนมาจนถึงศตวรรษที่ 19 จึงได้เริ่มฟื้นฟูอัตลักษณ์ความเป็น“คาตาลุญญา” ขึ้นมาใหม่ ทั้งในแง่ภาษาและวรรณกรรม จนนำไปสู่การเรียกร้องการแยกตัวเป็นอิสระ และการปกครองตัวเองอยู่เสมอ 

ในขณะที่การเรียกร้องเอกราชกำลังเบ่งบาน สโมสรบาร์เซโลนา ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน มันถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1899 โดย ฮานส์ มักซ์ แกมเปอร์ เฮซิง นักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยเล่นฟุตบอลมาก่อน 

ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟุตบอลถือเป็นสิ่งใหม่ มันถูกนำเข้ามาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาทางสังคมและการเมืองในเมืองบาร์เซโลนา มันถูกมองว่าเป็น “ของนอก” และเป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัย 

แกมเปอร์ เห็นประโยชน์ในจุดนี้ กอปรกับในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สโมสรประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้เขาเกิดไอเดียในการสร้างบาร์เซโลนา ให้กลายเป็นสโมสรของชาวคาตาลัน เพื่อให้นักธุรกิจ และนักการเมือง รวมไปถึงชาวเมืองเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น 

Photo : www.fcbarcelona.com

เขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสโมสร เริ่มจากเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นภาษาคาตาลัน และกลายเป็น โจน กัมเปร์ เปลี่ยนโลโก้สโมสรที่เดิมใช้ตราของเมืองบาร์เซโลนา ไปเป็นตราที่ใช้ธงของคาตาโลเนีย หรือ “เซนเยรา” เปลี่ยนภาษาทางการของสโมสรจากภาษาสเปนเป็นภาษาคาตาลัน รวมไปถึงสนับสนุนการเรียกร้องการปกครองตัวเองของคาตาลุญญา  

สิ่งนี้ก็ทำให้สโมสรบาร์เซโลนา กลายเป็นตัวตน และสัญลักษณ์ทางเมืองของชาวคาตาลัน ต่างจากสโมสรอื่นในแคว้นอย่าง เอสปันญอล ที่มีความใกล้ชิดกับส่วนกลาง และมีความเป็นสเปนมากกว่า จนได้รับคำนำหน้าชื่อว่า “เรอัล” ซึ่งหมายความถึงการอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์

แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าหมายในการเล่นงานของรัฐบาล 

 

เผด็จการครอบงำ 

การเรียกร้องเอกราชของแคว้นคาตาลุญญา เติบโตไปพร้อมกับบาร์เซโลนา และกับบาร์เซโลนา พวกเขาใช้สนามฟุตบอลและสโมสร เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการต่อสู่กับรัฐบาลเผด็จการอยู่เสมอ

 

Photo : www.todocoleccion.net

ในปี 1925 ที่สเปนลงแข่งกับทีมชาติอังกฤษ ในขณะที่กำลังบรรเลงเพลงชาติสเปน ชาวคาตาลัน ได้แสดงการต่อต้านด้วยการส่งเสียงโห่ จนทำให้เพลงชาติต้องหยุดลงชั่วคราว แต่พอเป็นเพลงชาติอังกฤษ กลับส่งเสียงสนับสนุน 

ทำให้หลังเกมนัดนั้น นายพลปรีโม ริเวรา ผู้นำจอมเผด็จการได้สั่งแบนสโมสรบาร์เซโลนา ห้ามลงแข่งเป็นระยะเวลาถึง 6 เดือน ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ใกล้กับสนามบาร์เซโลนา แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล แถมหลังจากพ้นโทษแบน พวกเขายังโดนห้ามใช้ธงคาตาโลเนียในสนามของตัวเอง พร้อมกับมีการขึ้นทะเบียนแฟนบอลของบาร์เซโลนาทุกคน เป็นนัยว่าถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด 

และมันก็ยิ่งมาหนักข้อมากขึ้นในสมัยรัฐบาลทหารของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก หลังเขานำฝ่ายกบฎเอาชนะฝ่ายสาธารณรัฐ ในสงครามกลางเมืองสเปนในช่วงปี 1936-1939 จนได้ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ 

Photo : archivo.urgente24.com

ฟรังโก นิยมในแนวคิดแบบฟาสซิสต์ เขาเป็นพวกขวาจัด และต้องการสร้างสเปนให้เป็นหนึ่งเดียว โดยขจัดความเป็นอื่น แน่นอนว่านโยบายนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ บาร์เซโลนา สโมสรที่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนอย่างจัง 

อันที่จริงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างนายพลฟรังโกและบาร์เซโลนา ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนสงครามกลางเมือง จากการบุกจับตัว โจเซฟ ซันยอล ประธานสโมสร ที่ถูกสังหารโดยกองกำลังของฟรังโก แถมในช่วงสงคราม บาร์เซโลนา ยังถือเป็นกำลังสำคัญของของฝ่ายสาธารณรัฐ 

ทำให้หลังสงครามสงบ นายพลฟรังโก ได้เริ่ม “เช็คบิล” กลุ่มศัตรู มีรายงานว่าผู้ต่อต้านถูกประหารจากคำสั่งของเขาถึง 10,000 คนและอาจจะสูงถึง 25,000 คนเลยทีเดียว 

ในขณะเดียวกัน เขาเห็นประโยชน์ในการใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวตามลัทธิชาตินิยม เขาอ้างว่าชัยชนะและความสำเร็จของทีมชาติสเปนเป็นเพราะรัฐบาล และเปลี่ยนสโมสรให้มีความเป็นสเปนมากขึ้น สำหรับบาร์เซโลนา เขาจัดการโมดิฟาย ด้วยการเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นภาษาสเปน และกลายเป็น Club de Fútbol Barcelona รวมทั้งเอาธงคาตาโลเนียออกจากตราสัญลักษณ์ของสโมสร 

ฟรังโกยังสั่งห้ามใช้ภาษาคาตาลันในสนาม พร้อมเปลี่ยนการเลือกตั้งประธานสโมสรเป็นการแต่งตั้งแทน โดยส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็นบอร์ดบริหาร เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสโมสร และในสนามเขายังบังคับให้ผู้เล่นทุกคนทำท่าฟาสซิสต์ในการทำความเคารพ  

Photo : @Altalego1

แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม แม้จะถูกควบคุมอย่างไม่เป็นธรรม แต่มันกลับส่งเสริมให้ชาวคาตาลัน ใช้สโมสรเป็นเครื่องมือในการแสดงการต่อต้าน ทั้งไม่ยอมใช้ธงสเปน ไม่ทำท่าฟาสซิสต์ รวมไปถึงการใช้สนามแข่งขันเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนทางการเมืองและพูดภาษาคาตาลัน 

“ฟรังโกพยายามจะประกาศความเป็นสเปนผ่านกีฬาฟุตบอล แต่เขาพลาดมหันต์ เมื่อประกาศจุดยืนอยู่คนละข้างกับบาร์ซา โดยเฉพาะเมื่อแคว้นคาตาลุญญาถูกสั่งห้าม ไม่ให้มีพรรคการเมืองหรือรัฐบาลของตัวเอง หรือแม้กระทั่งใช้ภาษาคาตาลันในทีม” ลิซ โครล์ลีย์ และวิก ดุค ระบุไว้ในหนังสือ Football, Nationality and the State 

“ชาวเมืองจึงยิ่งผลักอัตลักษณ์ตัวเองเข้าสู่สโมสรบาร์ซ่า ทั้งเสื้อทีม เพลงประจำสโมสร เพราะว่าในเวลานั้น มันเป็นแค่หนทางเดียวที่พวกเขาจะได้ประกาศความเป็นเชื้อชาติของตัวเอง”

อย่างไรก็ดี ฟรังโก ก็ไม่ยอมแพ้ เขาใช้ทุกวิถีทางในการเล่นงานสโมสรแห่งนี้ 

 

เกมอัปยศ 

อันที่จริง นายพลฟรังโก ไม่ได้ชื่นชอบฟุตบอลมากมายขนาดนั้น แต่เขาเห็นว่ากีฬาฟุตบอล ที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนั้น คือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการโฆษณาชวนเชื่อ ในการสร้างความเป็นสเปน เขาจึงได้ให้การสนับสนุน เรอัล มาดริด ซึ่งเป็นทีมจากเมืองหลวง ขึ้นมาเป็นคู่ต่อกรกับบาร์เซโลนา 

Photo : www.dailymail.co.uk

แรกเริ่มเดิมที เรอัล มาดริด เป็นทีมที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์สเปน เนื่องจากเป็นหนึ่งในสโมสรที่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้า อัลฟองโซที่ 13 ในปี 1920 แต่หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐสเปนที่ 2 ในปี 1931 ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลายไป ทำให้พวกเขาต้องกลับไปใช้ มาดริด เอฟซี ก่อนจะกลับมาเป็น เรอัล มาดริด อีกครั้งในปี 1941 ในยุคที่ฟรังโก เรืองอำนาจ   

และในปี 1943 บาร์เซโลนา และ เรอัล มาดริด ต้องโคจรมาพบกันใน โคปา เดล เจเนราลิซิโม (ปัจจุบันคือ โคปา เดล เรย์) ในรอบรองชนะเลิศ แม้ว่าทีมจะได้รับการตัดสินการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม แต่บาร์เซโลนา ก็เข้ามาถึงรอบนี้ได้สำเร็จ และเอาชนะไปได้ในบ้าน 3-0 

ในเกมนัดที่ 2 พวกเขาต้องบุกไปเยือน เอสตาดิโอ ชาร์มาร์ติน (สนามเหย้าของมาดริดก่อนจะเป็น ซานติอาโก เบอร์นาเบว) และหวังที่จะผ่านเข้ารอบ จากประตูที่ยิงตุนเอาไว้ ทว่าผลการแข่งขันไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมาดริด กลายเป็นฝ่ายที่ไล่ถล่มพวกเขาถึง 11-1 

อย่างไรก็ดี ก่อนเกมนัดนั้น มีการระบุว่าได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยกับนักเตะบาร์ซา แล้วพูดทำนองว่า อย่าลืมว่าที่พวกแกมาเล่นในแผ่นดินนี้ได้ เป็นเพราะความกรุณาของฟรังโก ที่ให้อภัยความไม่รักชาติของพวกแก

Photo : www.mirror.co.uk

“เรอัล มาดริด ไม่เคยอวดอ้างถึงเกมนั้น เพราะที่จริงแล้ว มันไม่ใช่เกมการแข่งขันฟุตบอล” โจอัน บาริว นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ของบาร์เซโลนากล่าวกับ Goal 

“มันได้รับการจดจำในฐานะเกมอัปยศ ผลดังกล่าวทำให้มาดริด ไม่เคยอวดอ้างถึงมัน เพราะว่ามันคือผีที่เลวร้ายที่สุดที่ถูกซ่อนไว้ในช่วงยุคมืดของสเปน”

แม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นายพลฟรังโก เป็นผู้สั่งการด้วยตัวเองหรือไม่ แต่เกมนี้ก็มีเรื่องให้น่าคิดหลายอย่าง ทั้งการเหลือผู้เล่นน้อยกว่า การออกนำถึง 8-0 ตั้งแต่ครึ่งแรก และการจบลงด้วยสกอร์ที่มโหฬาร 

“เรื่องดังกล่าวไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ เพราะว่าไม่มีสมาชิกของบาร์เซโลนาเหลืออยู่แล้วในตอนนี้ แต่แน่ชัดว่าการยิงถึง 11 ประตู และการเล่นกับคู่แข่งด้วยผู้เล่นที่น้อยกว่า มันไม่มีอะไรปกติเลยสักนิด” บาริวกล่าวต่อ  

“คำเตือนเหล่านั้นมีเพื่อนักเตะบาร์เซโลนาที่สงสัยว่า มันคุ้มค่าที่จะต่อต้านหรือเปล่า และท้ายที่สุดพวกเขาก็ไม่ได้ต่อต้าน”   

“เพราะว่าเกมนั้นมันเป็นมากกว่าการดวลกันในเชิงกีฬา มันสอนบทเรียนให้บาร์เซโลนา และทำให้ทีมอับอายเหมือนกับว่าไม่ควรมีทีมไหนที่จะคิดแตกต่างไปจากพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับไอเดียความเป็นคาตาลัน”   

Photo : www.scoopnest.com

นอกจากนี้ในปี 1953 ทั้งบาร์เซโลนา และมาดริด ได้เกิดความขัดแย้งในการดึงตัว อัลเฟรด ดิ สเตฟาโน ดาวเตะชาวอาร์เจนตินา ที่ถือเป็นหนึ่งในยอดนักเตะของโลกแห่งยุคนั้น และกลายเป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้พวกเขาเคียดแค้นกันจนถึงทุกวันนี้ 

บาร์เซโลนา คือทีมแรกที่รุกเข้าหา ดิ สเตฟาโน และการเจรจารก็ลุล่วงไปด้วยดี ถึงขั้นที่แข้งชาวอาร์เจนไตน์ บินมาเตะนัดอุ่นเครื่องให้กับบาร์ซา แต่ฟรังโก ก็ใช้อำนาจที่มียับยั้งการย้ายทีมในครั้งนี้ 
เริ่มตั้งแต่จับตัว มาร์ติ คาร์เรโต ประธานสโมสรบาร์เซโลนาที่โรงแรมในกรุงมาดริด และบอกว่าบริษัทสิ่งทอของเขาจะถูกตรวจสอบภาษีอย่างหนัก หากไม่ยอมปล่อยมือจากดีล ดิ สเตฟาโน 

หรือการที่สมาคมฟุตบอลสเปน ที่ฟรังโกควบคุม ไม่ยอมรับการย้ายทีมของดาวเตะทีมชาติอาร์เจนตินา ทั้งที่ฟีฟ่ารับรอง โดยอ้างว่า มาดริด คือทีมที่ซื้อตัวดิ สเตฟาโน มาจากต้นสังกัดที่แท้จริง (เนื่องจาก บาร์เซโลนา ไปซื้อมาจากริเวอร์เพลท ทีมที่อ้างว่าถือสิทธิ์ในตัวนักเตะ ส่วนมาดริด ซื้อจากมิโลนาริออส ต้นสังกัดที่ ดิ สเตฟาโน เล่นอยู่จริงๆ ในขณะนั้น) แถมยังออกกฎห้ามซื้อนักเตะต่างชาติทีหลังเพื่อยับยั้งการย้ายทีมของนักเตะรายนี้ 

แน่นอนว่าบาร์เซโลนา ไม่เห็นด้วยจากการแทรกแซงอย่างไม่เป็นธรรม จึงได้ประท้วงจนทำให้สมาคมฟุตบอลสเปนตัดสินใหม่ให้ บาร์ซา และ เรอัล มาดริด ได้สิทธิ์ถือครองนักเตะทั้งคู่ โดยแบ่งกันเล่นคนละปี แต่สุดท้าย พวกเขาก็ยอมแพ้ ขายสิทธิ์ในตัว ดิ สเตฟาโน และไม่ต้องมาเล่นให้พวกเขาอีก 

Photo : www.dailymail.co.uk

ทำให้การต่อสู้ของบาร์เซโลนาของมาดริด เป็นมากกว่าการแข่งขันในสนาม พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นของ “เอล กลาซิโก” อันดุเดือด เพราะการเอาชนะมาดริด เปรียบเสมือน การเอาชนะระบอบการปกครองของฟรังโกได้   

ทำให้ในปี 1968 ตอนที่ นาร์ซิส เด คาร์เรราส ได้รับเลือกเป็นประธานสโมสร เขาได้ประกาศว่า “พวกเราต้องต่อสู้กับทุกสิ่งและทุกคน เพราะว่าพวกเราเป็นตัวแทน บาร์ซาเป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล” และทำให้วลี “Més que un club” หรือ “เป็นมากกว่าสโมสร” กลายเป็นคำขวัญของบาร์เซโลนาตั้งแต่นั้นมา

การโดนกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากฟรังโก ทำให้เมื่อเขาสิ้นลม จึงจัดการล้างบางสิ่งที่ผู้นำจอมเผด็จการทำไว้จนไม่เหลือซาก 

มรดกที่ไม่อยากเก็บไว้ 

“ชัยชนะของฟรังโก เป็นความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมและคุณค่าของคาตาลัน” ฆอร์ดี เฮริว อดีตนายกเทศมนตรีเมืองบาร์เซโลนากล่าวกับ Independent เมื่อปี 2011   

Photo : www.elespanol.com

นายพลฟรังโกปกครองสเปนอย่างยาวนานถึง 39 ปี สุดท้ายมัจจุราช ก็พรากลมหายใจเขาไปในปี 1975 มันคือจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยในผืนแผ่นดินสเปน พร้อมกลับการกลับมาของระบอบกษัตริย์ในรอบหลายสิบปี (ที่เขาเองเป็นผู้วางเอาไว้) 

การจากไปของฟรังโก ทำให้บาร์เซโลนา พยายามที่จะลบล้างมรดกของอดีตผู้นำจอมเผด็จการ พวกเขาจัดการเปลี่ยนชื่อสโมสรกลับมาใช้ชื่อ Futbol Club Barcelona พร้อมทั้งเปลี่ยนโลโก้กลับมาใช้แบบเดิมที่มีธงของคาตาลุญญาในตราประจำสโมสร พวกเขายังได้สิทธิ์ในการกลับมาใช้ภาษาคาตาลัน และทำให้มันกลายเป็นภาษาอย่างเป็นทางการของทีม

ล่าสุดบาร์เซโลนา เพิ่งจะผ่านมติคืนเหรียญรางวัลที่ได้รับจากนายพลฟรังโก หลังได้รับการเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2019 โดยมีผู้เห็นด้วยถึง 671 เสียง ไม่เห็นด้วยเพียงแค่ 2 เสียง และอีก 7 คนงดออกเสียง

ทั้ง 3 เหรียญคือเหรียญที่ได้รับจากมือฟรังโก ประกอบไปด้วยเหรียญรางวัลชนะเลิศ โคปา เดล เจเนราลิซิโม เมื่อปี 1951 เหรียญที่ระลึกในการเปิดสนาม ปาเลา เบลากรานา สนามกีฬาในร่มที่สโมสรบาร์เซโลนาเป็นเจ้าของ และเหรียญที่ระลึกครบรอบการก่อตั้ง 75 ปีของสโมสรเมื่อปี 1974 

“มันอาจจะช้าไปหน่อย แต่ดีกว่าไม่ได้ทำเลย” โจเซฟ มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสรบาร์เซโลนา กล่าว

“นี่คือการให้เกียรติต่อพ่อแม่และบรรพบุรุษของเราที่ได้รับความเจ็บปวดในช่วงเผด็จการ” 

และไม่เพียงต่อบาร์เซโลนาเท่านั้น ที่พยายามลบล้างมรดกของฟรังโก เพราะแม้แต่รัฐบาลสเปน ก็ยอมรับว่าสิ่งที่อดีตผู้นำของเขาเคยกระทำเอาไว้นั้นไม่ถูกต้อง และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2019 ศาลฏีกา เพิ่งจะมีมติย้ายศพของเขาออกจาก อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (Valley of the Fallen) และนำไปฝังที่สุสานของครอบครัวแทน 

Photo : www.npr.org

การกระทำของบาร์เซโลนา และรัฐบาลสเปน คือการเยียวยาบาดแผลของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของฟรังโก ที่เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นรายในตอนนั้น รวมไปถึงคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกริดรอนสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม 

มันคือการพยายามในการชำระประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดในอดีต และหวังว่าจะไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.marca.com/en/football/barcelona/2019/10/06/5d9a26ade2704e97458b45e7.html 
https://www.goal.com/en/news/general-franco-real-madrid-king-history-behind-clubs-link/fcoqldp8h2bb1841o2rspmuhe 
https://www.footballparadise.com/francisco-franco-madrid/  
https://punditarena.com/football/thepateam/how-franco-utilised-spanish-football/  
https://sites.duke.edu/wcwp/research-projects/spain/origins-of-the-rivalry/
https://www.goal.com/en/news/they-were-overcome-by-military-pressure-did-general-franco/6hicxub57kla1nn29zr34jiqe 
https://www.independent.co.uk/news/world/europe/barcelona-topples-the-final-reminder-of-francos-regime-2200180.html 
https://www.theversed.com/70907/politics-in-spanish-football-franco-secessionism-and-identity/#.tKj5FZuWGF  
https://www.ft.com/content/4c58a764-a43f-11e7-9e4f-7f5e6a7c98a2 
http://outsideoftheboot.com/2014/05/22/fascism-football-the-political-history-of-spanish-football/
https://www.forbes.com/sites/tomsanderson/2019/10/14/political-tensions-heighten-in-build-up-to-barcelona-and-real-madrid-clasico/#6ed4c35072da 
https://www.irishmirror.ie/sport/soccer/soccer-news/football-matches-changed-world-franco-3642437 
https://www.bbc.com/sport/football/28204560 
https://www.the101.world/la-liga-under-the-reign-of-franco/ 
https://thematter.co/pulse/barcelona-and-catalan/36495 
https://www.bbc.com/thai/41473864 
https://thaipublica.org/2016/05/fuadi-5/ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0