โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผังน้ำชุมชนบางสะแก การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หัวใจการแก้ปัญหาน้ำแห้งคลองอย่างยั่งยืน

BLT BANGKOK

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 07.18 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 07.13 น.
3ab6cdc57449f21ce38520cb5a5445b4.jpg

สมุทรสงครามได้รับกล่าวขานว่าเป็นเมืองสามน้ำ คือน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล และหากมองจากมุมเบิร์ดอายวิวแล้วก็จะพบว่ามีลักษณะเหมือนตารางหมากรุก ซึ่งคือเส้นน้ำ ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ คลองใหญ่ และคลองย่อย เต็มไปหมด ซึ่งบริเวณพื้นที่ราบลุ่มในโซนน้ำจืดจึงเหมาะสมกับการทำการเพาะปลูก
ที่ตำบลบางสะแกในอำเภอบางคนทีคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนผลไม้ ทั้งสวนมะพร้าว ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ และส้มแก้วที่มีปลูกได้แห่งเดียวในพื้นที่ ถึงอย่างนั้นด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำแม่กลองพอสมควร แม้ว่าจะมีคลองแควอ้อมไหลผ่าน จึงทำให้ชาวสวนต้องมีการขุดคลองซอยหรือที่คนในชุมชนเรียกกันว่าลำประโดง เพื่อผันน้ำเข้าสู่ร่องสวนที่มีลักษณะยกร่อง โดยคนในชุมชนจะช่วยกันขุดลำประโดง เพราะถือเป็นทางน้ำสาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน 

คุณมนัส บุญพยุง กำนันตำบลบางสะแก เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ตำบลบางสะแก ห่างจากปากแม่น้ำแม่กลองประมาณ​ 20 กิโลเมตร จึงได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเลตามธรรมชาติ ประกอบกับระบบสายน้ำหรือคลองในพื้นที่มีความซับซ้อน มีทั้งคลองใหญ่ คลองย่อย คลองซอยและลำประโดง แต่เพราะเกษตรกรใน จ.สมุทรสงคราม จะใช้น้ำได้ตอนที่ทะเลหนุนสูง ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำขึ้นเท่านั้น ตอนน้ำลงคลองจะแห้งใช้ไม่ได้ ประกอบกับมีคลองซอยจำนวนมาก และมีปัญหาน้ำเข้าไม่ถึงคลองในพื้นที่ ต่างจากการทำเกษตรโดยทั่วไปที่ใช้น้ำจากแม่น้ำหรือคลองส่งน้ำในเขตโครงการชลทาน

หลายปีที่ผ่านมา การไหลของน้ำในคลองและลำประโดงในตำบลบางสะแกเริ่มประสบปัญหาไหลไม่สะดวก จากสภาพลำประโดงตื้นเขิน อุดตันจากการมีวัชพืชปกคลุมกีดขวางเส้นทาง ทำให้น้ำเข้าสู่ร่องสวนไม่เพียงพอต่อการเกษตร ขณะเดียวกันน้ำก็ไม่สามารถที่จะไหลออกมาได้ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำขังและเน่าเสีย ส่งผลถึงปริมาณคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร
ทางจังหวัดจึงมีนโยบายให้แต่ละตำบลทำกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เพื่อจัดเก็บและแก้ปัญหาผักตบชวาตามลำคลอง ทำให้พบปัญหาที่น้ำเข้าไม่ถึงคลองในพื้นที่ อันเป็นจุดที่ทำให้สามารถรักษาคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น

จากนั้นได้ต่อยอดสู่โครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองและลำประโดงที่เชื่อมโยงกับการจัดทำผังเมืองระดับตำบล เพื่อวางแผนการพัฒนาอาชีพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลบางสะแก โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เมื่อปลายปี 2560 เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมา ภูมิปัญญาในการจัดน้ำและความต้องการใช้น้ำในลำคลองและลำประโดง สถานการณ์น้ำและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ระบบน้ำในชุมชน เพื่อค้นหาปัจจัยและการจัดการน้ำในคลองและลำประโดง จนเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน และนำมาจัดทำฐานข้อมูลแผนที่หรือ “ผังน้ำระดับตำบล” สู่การค้นหารูปแบบการจัดการน้ำ รวมถึงเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนเรื่องงบประมาณจากภาครัฐอีกด้วย

ปัจจุบันชาวชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลลำคลองและลำประโดง มีการเดินสำรวจเส้นทางน้ำด้วย GPS จัดทำข้อมูลขนาดความกว้างอย่างละเอียด พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลผ่านโปรแกรม QGIS ทำให้เห็นรายละเอียดและจำนวนของลำคลองและลำประโดงเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 20 ลำคลองและ 44 ลำประโดง เป็น 72 ลำประโดง ขณะเดียวกันยังลงแขกลงคลองอย่างต่อเนื่องซึ่งเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว โดยจัดขึ้นเดือนละ 2 ครั้งหมุนเวียนไปทั้ง 7 หมู่บ้านของตำบล จนสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแห้งคลองได้อย่างหมดจด   

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0