โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผลไม้แช่แข็ง-เครื่องดื่ม-เครื่องสำอาง สินค้าดาวรุ่ง ดันส่งออกไทยพุ่ง

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 21 มี.ค. 2562 เวลา 08.29 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

หลายปัจจัยราคาน้ำมันขึ้น บาทอ่อน หนุนส่งออกก.พ. กลับมาพุ่ง 5.91% หลังเดือนม.ค.ติดลบ พาณิชย์ เผยสินค้าดาวรุ่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง มาแรง ตีตลาดเอเชีย…

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือนก.พ.62 การส่งออกมีมูลค่า 21,553.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.91% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.61 เป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวก หลังจากเดือนม.ค.62 ติดลบสูงถึง 5.72% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 17,519.2 ล้านเหรียญฯ ลดลงสูงถึง 10.03% เป็นการติดลบหลังจากเดือนม.ค.62 ที่เพิ่มขึ้นถึง 13.96% ส่งผลให้มีดุลการค้าเกินดุล 4,034.4 ล้านเหรียญฯ หรือเกินดุล 119,731 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกเดือนก.พ.ที่เพิ่มขึ้นถึง 5.91% เมื่อหักมูลค่าการส่งออกสินค้าทองคำ น้ำมัน ที่มีความผันผวนสูง และอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ไทยนำเข้ามามากในเดือนม.ค.-ก.พ.62 เพื่อซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ ออก จะติดลบถึง 4.9% ส่วนในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 62 การส่งออกมีมูลค่า 40,547.6 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 40,545.5 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.20% ส่งผลให้มีดุลการค้าเกินดุล 2 ล้านเหรียญฯ แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทขาดดุล 20,829 ล้านบาท

“การส่งออกเดือนก.พ.ที่เพิ่มขึ้น มาจากหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มลดความตึงเครียดลง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลง การแก้ปัญหาแรงงานของไทยที่ทำให้ไทยหลุดจากใบเหลืองจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป (ไอยูยู) และสถานะด้านแรงงานของไทยในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้การส่งออกสินค้าไทยไปประเทศพัฒนาแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าดาวรุ่งหลายรายการ ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาก เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ที่ช่วยผลักดันการส่งออกในเอเชีย สำหรับปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ยังคงเป็นค่าเงินบาทแข็งค่า ที่ทำให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้น และความสามารถการแข่งขันลดลง และการมีผลใช้บังคับของความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของประเทศคู่แข่ง เช่น เอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนาม ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

สำหรับผลกระทบของสงครามการค้า ที่ทำให้สินค้าบางรายการของไทยส่งออกเพิ่มขึ้น และบางรายการลดลงนั้น แต่ในภาพรวมทำให้มูลค่าการส่งออกไทยหายไป 22.7 ล้านเหรียญฯ โดยผลจากการที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้า สินค้าทั้ง 4 รายการ ได้แก่ โซลาเซลล์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้น แต่ไทยกลับส่งออกสินค้า 4 รายการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ อยู่ที่ 63.9 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 55.9% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออก 22.9 ล้านเหรียญฯ

ส่วนผลจากการส่งออกสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ ทำให้ไทยส่งออกได้ 1,641 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4.6% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออกไทย 72.1 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ผลจากการเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน ทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปจีนได้ 2,079.6 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.4% หรือมูลค่าหายไป 117.7 ล้านเหรียญฯ

"การส่งออกของไทยสอดคล้องกับการส่งออกของโลกที่หดตัวลง แต่เชื่อว่าในไตรมาส 2 จะดีขึ้น เพราะสงครามการค้าน่าจะหาทางออกที่ดีได้ และทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้นได้ ส่วนเป้าหมายมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ ขณะนี้ ยังคงยืนยันขยายตัว 8% จากปี 61 แต่น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ จะขอหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาสถานการณ์ส่งออก และพิจารณาว่าจะทบทวนใหม่หรือไม่”.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0