โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา ของดีเมืองนครศรีฯ

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 06.40 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 23.00 น.
19 ลิเภา

ย่านลิเภา หรือ หญ้าลิเภา ที่เคยรู้จักมาตั้งแต่เด็กๆ และไม่เคยเห็นประโยชน์ของมันเลย นอกจากมองเห็นมันเป็นแค่วัชพืชที่ขึ้นรกเรื้อตามสวนยางและสวนผลไม้ ที่ต้องฟันทิ้ง
ตอนที่เป็นเด็กๆ ก็เคยเอามาทำเป็นเชือกผูกไม้จ่อวาด ก็คือว่า ตัดไม้ไผ่ลำเล็กๆ เรียวๆ มา แล้วใช้ก้านมะพร้าวที่ชุบยางไม้มาผูกติดกับปลายยอดของลำไม้ไผ่แล้วผูกด้วยย่านลิเภา ผู้ใหญ่ก็มามัดผูกทำไม้กวาดแข็งแรงและทนทานดีนักแล ประโยชน์ของย่านลิเภาเท่าที่เคยรู้ตอนสมัยเด็กๆ ก็มีเท่านี้

เพิ่งได้รู้ถึงคุณประโยชน์ของย่านลิเภาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เองว่า ย่านลิเภาที่เคยเอามาเล่นในสมัยเด็กๆ นั้น บัดนี้ได้สร้างรายได้ให้กับผู้คนได้มากมาย ด้วยทำเป็นเครื่องจักสาน ที่ดูดีสวยงามและมีคุณค่า ทั้งยังเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

ย่านลิเภา เขาว่ากันว่า เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่ในแต่ละท้องถิ่น บ้างเรียกตีนมังกร ตีนตะขาบ กระฉอด กระฉอก ตะเภาขึ้นหน ลิเภาใหญ่ กูดก้อง กูดเครือ กูดงอดแงด กูดแพะ กูดย่อง ก็เรียกต่างๆ กันไป แต่ชื่อที่บางท้องถิ่นเรียก ทำให้ตะขิดตะขวงในความรู้สึกนี่สิ

แต่ก็นะ ภาษาใครภาษามัน ท้องถิ่นใครก็ภาษาของท้องถิ่นนั้น ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกหญ้าลิเภาว่า หมอยแม่ม่าย บ้างก็เรียกหมอยยายชี ไม่รู้จริงๆ ว่าเหมือนกันหรือเปล่า เพราะไม่เคยเห็น เคยเห็นก็แค่ย่านลิเภานี่แล  คนใต้ ถ้าให้เรียกตามสำเนียงใต้จริงๆ ก็เรียกว่า ย๋านหลีเพ่า ก็คือย่านลิเภาในภาษากุงเต้บนั่นเอง

ตามตำราทางวิชาการ ย่านลิเภาจัดเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลำต้นหรือย่าน มีลักษณะคล้ายเส้นลวดทอดยาวเลื้อยพาดพันเกาะไต่ตามต้นไม้อื่น แต่ละเส้นแต่ละย่าน ทอดยาวหลายเมตร

ใบ เป็นใบประกอบคล้ายขนนกสองชั้น โดยมีแกนกลางเป็นก้านใบ โคนก้านมีสีเป็นสีน้ำตาลเข้ม และรอบๆ ขอบใบก็มีขนเป็นสีน้ำตาล แผ่นใบคล้ายรูปหอกปลายใบแหลมเป็นรูปหัวใจ

ส่วนที่ใช้เป็นยานั้น ชาวอีก้อ แม้ว และมูเซอ เขาจะใช้รากและเหง้ามาต้ม ดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้ร้อนในได้ ตำรายาไทยยังบอกว่า ใช้ทั้งต้นมาปรุงเป็นยาแก้ฝีได้ทั้งภายนอกภายใน
เขาว่ามาอย่างนั้น ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ที่นครศรีธรรมราช โดยกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรเมืองนครศรีธรรมราช ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา เหล่าแม่บ้านในตำบลท่าเรือได้รวมกลุ่มกันคิดทำอาชีพเสริม เพื่อหารายได้หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ หลังจากพบปะพูดคุย จึงลงความเห็นกันว่า น่าจะทำผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา และด้วยการส่งเสริมจากสหกรณ์การเกษตร เมืองนครศรีธรรมราช จึงรวมกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างมั่นคง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530

ด้วยที่ตำบลท่าเรือนี้ ผู้สูงอายุในกลุ่ม มีความรู้ ความสามารถและมีฝีมือในการทำจักสาน
ที่สำคัญคือ ย่านลิเภา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักนั้นหาง่าย และขึ้นอยู่ตามพงรกหลังบ้านบ้าง บนคันนาบ้าง มีอยู่มากมาย และทางกลุ่มได้เห็นทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เขาจัดการประกวดสานย่านลิเภา และมีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจ สมาชิกในกลุ่มจึงพยายามศึกษาเรียนรู้ พัฒนาในการสานย่านลิเภาเพิ่มเติม และค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นๆ

โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ในการจัดสรรงบประมาณ การพัฒนารูปแบบ และการจัดการการตลาด หลังจากต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างทำ เมื่อเห็นว่า ฝีมือในการผลิตดีขึ้น สวยงามขึ้น แล้ก็ส่งให้กับกลุ่ม เอาไปขายต่อไป
มาถึงปัจจุบันนี้ วัตถุดิบหายากมากขึ้น เพราะที่ดินแถวตำบลท่าเรือ มีราคาแพงขึ้นด้วย มีบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า และร้านรวง  ที่ดินที่เคยมีย่านลิเภาเลยต้องหดหายไปพร้อมกับความเจริญของเมือง ย่านลิเภาจึงต้องสั่งซื้อมาจากจังหวัดนราธิวาสบ้าง จากจังหวัดปัตตานีบ้าง

คุณชุติมา บุญต่อ เล่าว่า ตอนเริ่มทำกันใหม่ๆ ก็ลองผิดลองถูก ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ทั้งรูปร่างของผลิตภัณฑ์ก็ไม่หรูหราอะไร ไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ ที่ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นสวยงาม หรูหรา และได้ราคา ทำให้พี่น้องภายในกลุ่มมีรายได้จุนเจือครอบครัว และกินดีอยู่ดีกว่าสมัยก่อนมาก

ใครสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา ของกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรเมืองนครศรีธรรมราช ไปขายต่อ หรือซื้อไปใช้สอย ติดต่อได้ที่ คุณชุติมา บุญต่อ เลขที่ 33 หมู่ที่ 16 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ (083) 390-7332 หรือ (087) 274-6857

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0