โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผลสำรวจชี้ เยาวชนไทยเข้าสู่วงจรการพนันกว่า 40% ส่วนใหญ่มาจากเพื่อนชักจูง โดยเฟซบุ๊กมากที่สุด

BLT BANGKOK

อัพเดต 20 ก.ย 2562 เวลา 07.36 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 07.31 น.
b2840557acf694c5a36faf4b82cf1a51.jpg

เครือข่ายเยาวชน จาก 5 เครือข่าย ได้แก่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย (สดย.ท.), สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.), เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน, AIESEC หรือสมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ, สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การค้าสยามพารากอน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการยูรีพอร์ต ประเทศไทย (U-Report) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
ซึ่งกิจกรรมหลักเป็นการแถลงผลสำรวจความคิดเห็นของเด็ก และเยาวชนทั่วประเทศ ที่มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 4,677 คน โดยนางสาวสุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนสถานการณ์เกี่ยวกับเด็ก และเยาวชน โดยเฉพาะปัญหาจากการพนันออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนว่าสังคมไทยยังไม่มีความตระหนักมากเท่าที่ควร เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ ที่ไม่ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพนันเป็นต้นตอของปัญหามากมาย เช่น ปัญหาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว ฯลฯ  
โดยข้อมูลที่สำคัญพบว่า คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการชักจูงให้เด็ก และเยาวชนเล่นพนัน คือ เพื่อนสนิท ร้อยละ 40.39 รองลงมาคือพ่อแม่ และผู้ใหญ่ในบ้าน ร้อยละ 30.53 ซึ่งปัจจุบันมีเด็ก และเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนันกว่าร้อยละ 42.38 โดยการพนันออนไลน์ที่นิยมเล่นเป็นลำดับแรกคือไพ่ประเภทต่างๆ รองลงมาคือเกม/สลอต ตามมาด้วยเล่นพนันฟุตบอลหรือพนันกีฬา ส่วนด้านการโฆษณาชวนพนันในสื่อออนไลน์ที่ดึงดูดให้เด็ก และเยาวชนตามไปเล่นพนันมากที่สุดคือเฟซบุ๊ก ร้อยละ 40.46 รองลงมาคือเว็บไซด์ดูหนังฟังเพลง ร้อยละ 28.54

ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของเราอย่างมาก การพนันออนไลน์จึงเป็นภัยร้ายใกล้ตัวเด็ก และเยาวชน เพราะสามารถเข้าถึงง่าย ไว สะดวก ตรวจจับได้ยาก เปิดโอกาสให้เด็กเล่นได้โดยไม่จำกัดอายุ มีการพนันให้เลือกเล่นได้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา
ซึ่งธุรกิจพนันออนไลน์นอกจากหากินอย่างผิดกฎหมายแล้ว ยังใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ดึงดูด และล่อลวง ให้เด็กและเยาวชนสนใจเข้าไปลองเล่น แต่มีเงื่อนไขต่างๆ ที่ซับซ้อนจนต้องกลายเป็นเหยื่อที่ ‘ติดกับดัก’ อยู่ในวงจรการพนัน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบโดยรวมต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชน ที่ส่งผลต่อสังคม และประเทศชาติ การพนันออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไข
ขณะที่ นายณพบดี กุลมงคล ประธานฝ่ายบริหารสมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งมีเครือข่ายเยาวชนนานาชาติกว่า 120 ประเทศ และเขตการปกครอง ระบุว่า ต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องการพนันออนไลน์ในเด็ก และเยาวชนเป็นปัญหาระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีทั้งกฎหมาย และมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งจริงจัง และมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับธุรกิจการพนันออนไลน์เปิดให้เยาวชนเข้าไปเล่น
ทั้งยังมีมาตรการหลายระดับสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง และสังคมในการดูแลเยาวชน ด้วยเครื่องมือ และระบบที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพนันในรูปแบบต่างๆ เสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงกลไกของการพนันออนไลน์ นอกจากนี้ เครือข่ายของไอเซคฯ ในแต่ละประเทศ ยังมีการจัดโครงการรับอาสาสมัครเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหา และลดผลกระทบ ตลอดจนจัดการศึกษาอบรมให้มีความรู้เท่าทัน โดยมุ่งเน้นที่ชุมชน และเยาวชนเป็นหลัก

สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ซึ่ง นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ให้ข้อมูลว่า ทางเครือข่าย และภาคี มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อหน่วยงานของภาครัฐมาโดยตลอด เช่น ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการลดผลกระทบจากการพนันโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน เพื่อเร่งจัดทำแผนงานและมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน โดยเฉพาะการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหา และผลกระทบต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และทัศนคติที่ถูกต้อง พร้อมทั้งสร้างการรู้เท่าทันการพนันออนไลน์ นอกจากนี้ ยังได้ขอให้เร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันให้มีความทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง  ซึ่งยังคงรอการตอบสนอง และหวังว่าจะบังเกิดผลที่ชัดเจนได้ในรัฐบาลนี้
นางสาวชลลดา บุญประเสริฐ รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้ความเห็นในฐานะตัวแทนขององค์การระดับโลกที่มีสมาชิกเป็นผู้หญิงใน 145 ประเทศ ว่า มีข้อมูลจากงานวิจัยเชิงคุณภาพหลายชิ้นระบุว่า เยาวชนจำนวนมากเลิกเล่นการพนัน ได้เพราะคุณแม่ หรือคนรักขอร้องให้เลิก จึงเห็นได้ชัดว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันเรื่องนี้ ด้วยความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พูดคุยกันด้วยหลักเหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งสมาคมฯ มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายที่ได้รับจากองค์การโลก จึงได้จัดทำโครงการและกิจกรรมดีๆ เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายเพียงปลายนิ้ว เช่น โครงการแผนที่สร้างเสริมสุขภาพเพื่อเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงรอบสถานศึกษา, โครงการสอนน้องว่ายน้ำ, โครงการกินเปลี่ยนโลก : กินตามแม่ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เหล่านี้ รวมถึงการร่วมเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนรณรงค์กับภาคีอื่นๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหา และลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ได้เช่นกัน
ทั้งนี้เครือข่ายเยาวชนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้เตรียมจัดทำข้อเสนอต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ด้วยความมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมช่วยกันดูแลเยาวชนให้มีคุณภาพ โดยส่งเสริมให้มีกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อป้องกัน และลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0