โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผลสำรวจชี้คนไทย 73.2% รายได้ลดลงหลังการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาต่ำ

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 07.05 น. • BLT Bangkok
ผลสำรวจชี้คนไทย 73.2% รายได้ลดลงหลังการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาต่ำ

ดร. สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยทีดีอาร์ไอ ชวนวิเคราะห์ผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไทย ในภาวะการระบาดโรคโควิด-19 พร้อมเปิดผลสำรวจผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เปิดผลสำรวจผลกระทบหลังเกิดการระบาดโรคโควิด-19

ดร. สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ความเข้าใจนี้จะช่วยให้เราทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจว่าควรจะช่วยเหลือใครบ้าง ช่วยอย่างไร และการตัดสินใจว่า หากต้องปิดเมืองอีกรอบควรจะปิดแบบไหน ปิดเฉพาะบางพื้นที่ หรือปิดหมด เป็นต้น

เพื่อสร้างความเข้าใจดังกล่าวสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจออนไลน์สองครั้ง ครั้งแรกเป็นการสำรวจผลกระทบด้านสังคม (จำนวนตัวอย่าง 43,338 สำรวจระหว่างวันที่ 13-27 เมษายน 2563) และครั้งที่สองผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (จำนวนตัวอย่าง 27,986 สำรวจระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563) มีผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นการสำรวจออนไลน์ทำให้ได้รับแบบตอบรับจำนวนมากจากผู้มีการศึกษาสูงและเกือบครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจทำให้ผลการสำรวจเอนเอียงไปพอควร เช่น ข้าราชการจะไม่มีปัญหาตกงานหรือมีรายได้น้อยลง ดังนั้นผลการสำรวจที่จะเสนอต่อไปนี้ไม่ได้รวมผู้ตอบที่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐ

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รายได้คนไทยลดลง

• 73.2% มีรายได้ลดลงหลังเกิดการระบาด โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 39.9 มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และพบว่า ผู้มีการศึกษาต่ำมีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ลดมากกว่าผู้มีรายได้สูง
• 8% ย้ายที่อยู่ระหว่างการระบาด โดยคาดว่าเป็นการย้ายกลับภูมิลำเนา
• 16.2% กลายเป็นคนว่างงาน ในขณะที่ 1.7% ออกจากกำลังแรงงาน
ผู้ประกอบ 14% ของธุรกิจที่เคยมีลูกจ้างเกิน 10 คนได้ทำการปิดกิจการ อีก 12% ลดจำนวนลูกจ้างเหลือน้อยกว่า 10 คน มีเพียง 65% เท่านั้นที่ยังคงเปิดกิจการต่อ
• 70% ระบุว่าทุกมาตรการ‘ปิดเมือง’ ของรัฐบาลมีผลกระทบต่อการทำมาหากินทั้งสิ้น

ความเห็นประชาชนต่อมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ

• 1 ใน 4 ระบุว่า ไม่สามารถปรับตัวรับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ได้
• เกินกว่าครึ่งตอบว่าจะพอประคับประคองไปได้ถึงเดือนกรกฎาคมนี้เท่านั้น
• ส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ
• ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น ไม่ได้เงิน 5,000 บาท

ผลกระทบด้านสังคม คนไทยวิตกมากขึ้น

• 49% ระบุว่า ความวิตกกังวลนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก
• ผลกระทบมากสุดคือความไม่สะดวกในการเดินทาง
• เด็กวัยเรียน 46% ระบุว่า ไม่พร้อมที่จะเรียนระบบออนไลน์

แม้การสำรวจนี้จะไม่ได้มีการกระจายตัวอย่างตามหลักสถิติเพราะเป็นการสำรวจแบบออนไลน์ที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครตอบ แต่เชื่อว่า ข้อค้นพบข้างต้นตรงกับ ‘ความรู้สึก’ ของพวกเราส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของผลกระทบที่ใหญ่มาก (คนว่างงานเกิน 6 ล้านคน) ขยายตัวในวงกว้างไปทุกสถานะอาชีพ ทุกขนาดกิจการ และกระทบผู้มีรายได้น้อยมากกว่า คนจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวได้ และมีสายปานสั้นมาก ก่อให้เกิดความวิตกกังวลระดับรุนแรง และมีผลกระทบด้านสังคมอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย

ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์นัยเชิงนโยบาย

ผลการสำรวจนี้มีนัยเชิงนโยบายสี่ประการ คือประการแรก เราต้องลดความจำเป็นในการ ‘ปิดเมืองรอบสอง’ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น โดยการลงทุนยกระดับความสามารถในการตรวจเชื้อ ติดตามและสอบสวนโรค กักกัน เพื่อให้สามารถรับมือในกรณีที่มีแนวโน้มจะเกิดการระบาดรอบสอง ซึ่งเป็นการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ จากผลการประมาณการของทีดีอาร์ไอ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ถ้าเราเพิ่มศักยภาพในการตรวจเชื้อให้เป็น 50,000 ตัวอย่างต่อวัน จะทำให้เรายังคงรักษาระดับการเปิดเมืองเช่นในปัจจุบันได้ นอกจากนี้มาตรการรณรงค์ให้คนเว้นระยะห่างและรักษาความสะอาดก็จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นต่อไป

ประการสอง ภาครัฐต้องหมั่นปรับปรุงนโยบายเยียวยารวมทั้งกระบวนการดำเนินการเพื่อให้การเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึง ไม่ตกหล่น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ประการสาม ควรมีนโยบายที่เอื้อให้ประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ยาวนานขึ้น เช่นการปรับเวลาการทำงาน การเปลี่ยนอาชีพ เป็นต้น

ประการสี่ ควรมีการเยียวยาด้านจิตใจด้วยเพื่อบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียดอันเป็นผลมาจากผลกระทบโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการลงบ้างแล้ว แต่เนื่องจากยังมีความเสี่ยงของการระบาดรอบสองอยู่ ก็อาจนำไปสู่การกลับมาเข้มงวดหรือปิดเมืองใหม่อีกรอบก็เป็นได้ จึงควรเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0