โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผลพวงม็อบ "จอร์จ ฟลอยด์" ทุบบริโภค ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 06 มิ.ย. 2563 เวลา 16.07 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 16.07 น.
Damaged and boarded up storefronts are seen after protests against the death in Minneapolis police custody of George Floyd, in Manhattan

การบริโภคภายในประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการฟื้นตัวของสหรัฐจึงขึ้นอยู่กับว่าชาวอเมริกันหันมาใช้จ่ายกันมากน้อยแค่ไหนหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการบริโภคในประเทศสหรัฐมีแนวโน้มที่ไม่สดใสมากนัก อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยใหม่อย่างการประท้วง “จอร์จ ฟลอยด์”

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า สำนักการวิเคราะห์เศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า อัตราการออมของชาวอเมริกัน ประจำเดือน เม.ย. 2020 พุ่งขึ้นถึง 33% ของรายได้หลังหักภาษี ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1960 ถึงแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์บางส่วนจะมองว่าอัตราการออมที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดขายสินค้าได้ ส่งผลให้ชาวสหรัฐหันไปออมเงินแทน

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนมองว่า การบริโภคของชาวอเมริกันจะซบเซาไปอีกระยะ เนื่องจากความมั่นใจผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งภาวะวิกฤตที่หนักหนาที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จึงทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและหันมาออมเงินกันมากขึ้น

ขณะที่ ไดแอน สวอง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแกรนท์ ธอร์นตัน ชี้ว่า ภาคการบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐราว 2 ใน 3 ดังนั้นการฟื้นตัว จึงขึ้นอยู่กับว่าการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการออมของประชาชนมีสาเหตุมาจากการปิดร้านค้าจากล็อกดาวน์ หรือเกิดจากการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของพฤติกรรมผู้บริโภค หากเป็นกรณีแรกก็มีโอกาสที่การบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัว และหากเป็นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ขาดความเชื่อมั่นก็จะสะท้อนถึงโอกาสการฟื้นตัวที่ลากยาว

นอกจากนี้การประท้วงกรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชาวแอฟริกันอเมริกันผิวสีได้กลายเป็นอีกปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวดังกล่าว โดย วิกตอเรีย เฟอร์นานเดซ นักกลยุทธ์การลงทุนของกองทุน ครอสส์มาร์ก โกลบอล อินเวสต์เมนต์ส แสดงความกังวลว่า ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีกที่เพิ่งกลับมาเปิดดำเนินการ หลังถูกล็อกดาวน์มานับเดือน กำลังต้องยืดเวลาการเปิดร้านออกไปจากความรุนแรงต่าง ๆ จากการประท้วง

รวมถึงยังเป็นปัจจัยใหม่ที่สร้างแรงกดดันต่อ “ตลาดแรงงาน” สหรัฐที่เพิ่งส่งสัญญาณฟื้นตัว จากเดิมที่คาดการณ์ว่าหลังการคลายล็อกดาวน์ตัวเลขการปลดพนักงานที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำจะเริ่มลดลง แต่การประท้วงอาจทำให้อัตราการปลดพนักงานกลับมารุนแรงอีกครั้ง จากผลกระทบต่อธุรกิจ

โดยบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ กว่า 6 ล้านตำแหน่งอาจถูกให้ออกจากงาน โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่แล้วจากการล็อกดาวน์ เมื่อถูกซ้ำเติมจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั่วสหรัฐ

ดังนั้นหากเกิดการปลดพนักงานรายได้สูงเหล่านี้ นอกจากจะทำลายกำลังซื้อจำนวนมหาศาล ยังจะเป็นตัวแปรที่ย้อนกลับไปฉุดความมั่นใจของผู้บริโภคอีกครั้ง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหที่ท้าทายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0