โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผลประเมินภาวะเสี่ยงตกงานในวิกฤตโควิด-19 แรงงานนอกระบบกระทบหนักสุด

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 01 พ.ค. 2563 เวลา 06.07 น. • BLT Bangkok
ผลประเมินภาวะเสี่ยงตกงานในวิกฤตโควิด-19 แรงงานนอกระบบกระทบหนักสุด

เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤตที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากผลของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยมีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ลูกจ้างชั่วคราว แรงงานนอกระบบ จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุด โดยจาก 38 ล้านคนของผู้มีงานทำ จะมีแรงงาน 2 ใน 3 ที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและค่าชดเชยใดๆ ทั้งจากนายจ้างและระบบประกันสังคมในกรณีถูกเลิกจ้าง

สัญญาณตกงานมาก่อนวิกฤต COVID-19

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนผู้มีงานทำของไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้มีงานทำเฉลี่ยในปี 2019 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลงไป 4.8 แสนคนเมื่อเทียบกับจำนวนเฉลี่ยในปี 2014

สาเหตุมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ความต้องการแรงงานมีน้อยลง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการออกจากกำลังแรงงานของกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5.4 เป็น 6.8 ล้านคนในช่วงเดียวกัน

ทั้งนี้จำนวนผู้มีงานทำเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีนี้ยังอยู่ในแนวโน้มขาลง โดยมีจำนวนอยู่ที่ 37.4 ล้านคน ลดลง -0.8% ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน

ขณะที่จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานไทยในปี 2019 อยู่ที่ 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 44.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2014

สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของกลุ่มคนทำงานล่วงเวลา (แรงงานที่ทำงานตั้งแต่ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป) เป็นสำคัญ โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนลดลงจาก 9.7 เหลือ 6.8 ล้านคน หรือหายไปถึง 2.9 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้แนวโน้มการลดลงของจำนวนชั่วโมงการทำงานยังคงมีให้เห็นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนจากจำนวนของคนทำงานล่วงเวลาที่ยังคงหดตัว -7.6%

ไตรมาสแรกมีคนว่างงานพุ่งขึ้น 14.8%

ด้านจำนวนผู้ว่างงาน พบว่า จำนวนผู้ว่างงานรวมเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 4 แสนคนเพิ่มขึ้น 14.8% นับเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน

นอกจากนี้ จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ของสำนักงานประกันสังคมล่าสุดพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2020 จำนวนผู้ประกันตนที่ว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 แสนคน เพิ่มขึ้น 4.5% โดยอัตราการว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008-2009

โดยศูนย์วิจัย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ลักษณะการจ้างงานจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงด้านรายได้และความมั่นคงของการทำงาน โดยกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง SMEs ซึ่งมีจำนวนรวมกันสูงถึง 23.4 ล้านคน คิดเป็น 62.2% ของการจ้างงานรวมและมักจะมีความอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงโดยเปรียบเทียบในทุกๆ สาขาธุรกิจ

ลูกจ้างชั่วคราว กลุ่มเสี่ยงตกงานในภาวะวิกฤต

เมื่อพิจารณาประกอบกันทั้งในด้านสาขาธุรกิจและลักษณะการจ้างงาน จะพบว่า แรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดจะเป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง SMEs ที่ทำงานในธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนรวมกันถึง 6.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.3% ของจำนวนการจ้างงานรวม รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยว และกลุ่มที่มีลักษณะการจ้างงานเดียวกันในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรองลงไป คือ ภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และก่อสร้าง ทั้งนี้ลูกจ้างในธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่น้อยกว่า อย่างไรก็ดี แรงงานในส่วนนี้ถือเป็นส่วนน้อยของการจ้างงานรวม

จากระดับความเสี่ยงดังกล่าว EIC ประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ซึ่งจะคิดเป็นอัตรา การว่างงานประมาณ 8%-13% ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 1985  โดยจะสูงกว่าสถิติอัตราการว่างงานสูงสุดเดิมที่ 5.9% ในปี 1987 ทิ้งห่างอัตราการว่างงานในวิกฤติต้มยำกุ้งที่ 3.4% ในปี 1998 และในวิกฤติการเงินโลกปี 2008-09 ที่ 1.5% ในปี 2009

สาเหตุที่การว่างงานในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าในอดีตเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเปราะบางสะสมตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีมาตรการ lockdown ซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแต่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (sudden stop) อีกทั้งภาคเกษตรที่เคยเป็นแหล่งดูดซับแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่นั้นในครั้งนี้จากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง

ทั้งนี้ จะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมากหรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง และหากผลกระทบลากยาวไปจนถึงครึ่งปีหลังหรือนานกว่านั้น จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้นจากกิจการที่จะมีการปิดตัวลงมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเสี่ยงที่มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ

แรงงานนอกระบบกระทบหนักสุด

ความเสี่ยงตกงานของลูกจ้างชั่วคราวจากผลวิจัย EIC สอดคล้องกับรายงานของ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งในแง่การประคับประคองกิจการ การว่างงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการทำงานที่ลดลง โดยแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาตรา 33 และแรงงานที่อยู่ในธุรกิจ SME เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างเป็นลำดับแรก

การจ้างงานมากกว่าครึ่งหนึ่งในตลาดแรงงานไทยเป็นการจ้างงานนอกระบบ ซึ่งรวมถึงการจ้างงานเกือบทั้งหมดในภาคเกษตร (24%) และแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคม (31%) และหากนับรวมแรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ประกันตนเองโดยสมัครใจในระบบประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการว่างงานแล้ว (10%) เท่ากับว่าในการจ้างงานทั้งหมดประมาณ 38 ล้านคน มีแรงงานถึงราว 2 ใน 3 ที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและค่าชดเชยใด ๆ ทั้งจากนายจ้างและระบบประกันสังคมในกรณีถูกเลิกจ้าง

แรงงานนอกระบบจึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างฉับพลันสูงสุดในกรณีที่ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะ ในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บันเทิงและนันทนาการ ค้าปลีกและค้าส่ง ที่มีการจ้างงานนอกระบบสูงกว่าค่าเฉลี่ย และยังเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 สูงที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น การจ้างงานกว่า 70% ในโครงสร้างแรงงานไทยเป็นการจ้างงานในธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม หรือ SMEs ที่มักมีสถานะทางการเงินและทางเลือกในการระดมทุนจำกัดกว่าธุรกิจรายใหญ่ อีกทั้งการจ้างงาน SME มีความเข้มข้นสูงในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 จึงมีโอกาสจะได้รับผลกระทบในแง่การจ้างงานหรือรายได้สูง

แรงงานต่างชาติอยู่อย่างไรในภาวะวิกฤต

ขณะเดียวกันในประเทศไทยก็ยังมีแรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเช่นกัน ด้านรศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย การพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในภาวะที่โรคระบาดโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก เรื่องที่น่ากังวลคือ เรื่องการดูแลกิจการที่อาจจะกระทบแรงงานต่างด้าวมากกว่า 2.7 ล้านคนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่มาจาก 3 ประเทศรอบบ้านเราคือ เมียนมาที่มีมากกว่า 1.8 ล้านคน กัมพูชามากกว่า 6.5 แสนคน และ สสป.ลาวมากกว่า 2.8 แสนคน กระจายอยู่แทบทุกจังหวัดของประเทศไทย มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกิจการส่งออกตามจังหวัดชายทะเล  ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกระจุกตัวในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและหัวเมืองจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ

ปัญหาที่อาจจะมีคือ แรงงานส่วนใหญ่มาทำงานเพื่อเก็บเงินและส่งเงินกลับประเทศ การอยู่อาศัยและการกินอยู่มีลักษณะที่ประหยัด ชุมชนแรงงานต่างด้าว ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านการเคหะฯ แฟลตล้งกุ้ง แถว สมุทรสาครอยู่อย่างแออัด ห้องหนึ่งนอน 3-5 คน นอนตามช่องทางเดินอาคาร เป็นต้น ถ้าบังเอิญเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นมาในชุมชนเหล่านี้ บางแห่งมีคนงานต่างด้าวอยู่เป็นหมื่นคน จะให้กักตัวอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์เพื่อสังเกตอาการ 14 วัน เขาคงปฏิบัติตาม Social distancing ลำบาก เพราะว่าไม่มีที่ให้เขาทำเช่นนั้นได้

ดังนั้น ควรคำนึงถึงแหล่งจ้างงานของพวกเขา ที่สำคัญนายจ้างคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับแรงงานต่างด้าวมากที่สุดควรจะเป็นคนที่ “รับผิดชอบ” ชีวิตแรงงานต่างด้าวมากที่สุดและถ้าเกิดโรคระบาดในกลุ่มต่างด้าวจะกระทบชุมชนคนไทยและงานสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สมมติมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าว 20,000 คน และมีคนที่อยู่แวดล้อมนับร้อยๆ จะเอาสถานที่ไหนไปกักตัวพวกเขาได้ จึงขอให้กระทรวงแรงงานอย่าผ่อนความเข้มงวดในการตรวจติดตามการระบาดของโควิด-19 จากแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาลในประเทศไทย

จากปัญหาทั้งหมดนี้ รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อให้เศรษฐกิจกลับฟื้นขึ้นได้โดยเร็วเมื่อสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายมาตรการจากทางการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเงินโอน 5,000 บาท (“เราไม่ทิ้งกัน”) การพักชำระหนี้ชั่วคราว หรือการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loans) ผ่านสถาบันการเงินให้แก่ธุรกิจ เป็นมาตรการเชิงเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อลูกจ้างและภาคธุรกิจ โดยมีการจ้างงานเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งแต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขหลักในการขอรับความช่วยเหลือ อีกทั้งข้อมูลของภาครัฐที่ไม่สมบูรณ์หรือผิดพลาดยังทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติทั้งที่ความช่วยเหลือจำเป็นต้องถึงมือผู้ที่ประสบปัญหาจริง และด้วยความรวดเร็วทันการ จึงอาจก่อให้เกิดภาระแก่รัฐมากเกินความจำเป็น

สัมภาษณ์ รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ จากทีดีอาร์ไอ

"ทางภาครัฐได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ปูพรมด้วยหลายภาษา “ถิ่น” ของแรงงานต่างด้าวในหลายๆ ช่องทาง เพื่อให้ชาวต่างด้าวได้เข้าใจพิษภัยของโรคโควิด-19 การป้องกันตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากโควิด-19 เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ต้องทำให้เข้าถึงทุกชาติพันธุ์ที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งมีทั้งชาวมอญ กะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ พม่า ม้ง ลาหู่ ที่หลักๆ ยังมีภาษากัมพูชา ภาษาลาว เป็นต้น พวกเขาอยู่กระจายโดยทั่วไป"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0