โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 05 ธ.ค. 2562 เวลา 13.23 น. • เผยแพร่ 05 ธ.ค. 2562 เวลา 13.15 น.

เป็นที่โจษขานกันไปทั่ว กับ"คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร" ที่มี"ตู่ใหญ่"พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยเป็นประธาน กมธ. ซึ่งมี กมธ.จากพรรคการเมือง 14 คน ในชุดแรก

แบ่งเป็นกลุ่ม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 7 คนได้แก่

"สุทา ประทีป ณ ถลาง" ส.ส.ภูเก็ต - ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี -พยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา จากพรรคพลังประชารัฐ , ดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคชาติพัฒนา , อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ส.ส.ศรีสะเกษ -รังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ จากพรรคภูมิใจไทย , ภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์

กลุ่มส.ส.​พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 คนได้แก่

นิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด- วิทยา ทรงคำ ส.ส.เชียงใหม่- น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.- ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. จากพรรคเพื่อไทย , ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ - จารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี - จุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคอนาคตใหม่

แต่เมื่อมีเหตุทำให้ กมธ. ขั้วรัฐบาล ต้องเปลี่ยนตัว กมธ. โดยให้"ดล- พยม และธนะสิทธิ์"ลาออก เปลี่ยนเป็นไพบูลย์​ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. และ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี จาก พรรคพลังประชารัฐ"

แน่นอนว่า งานนี้ ย่อมมีเงื่อนงำ เพราะจู่ๆ ตำแหน่ง กมธ. ที่ ส.ส.ต่อคิวแบบชนิดว่า "แย่งกันมาเป็น"จะลาออกไปแบบหน้าตาเฉยไม่ได้

เมื่อย้อนรอยต่อเรื่องนี้ พบต้นสายปลายเหตุ คือ"การเอาเรื่องแกนนำในรัฐบาล" ที่เริ่มจาก "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"ผู้เป็นเสาค้ำยัน" รัฐบาล ตู่-ป้อม" และตัวเจรจากับ 10 พรรคเล็กร่วมรัฐบาล ต่อประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 เรื่อง คือ วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก และ การต้องโทษจำคุกข้อหายาเสพติด ซึ่งศาลออสเตรเลียตัดสินเป็นที่สุด

ต่อด้วยความพยายามเรียก"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ"ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกมธ.​ ในประเด็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยส่อไปในทางมิชอบ เพราะเหตุจากการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

ซึ่ง 2 เรื่องนี้"พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์" ฐานะประธานกมธ.ฯ ใช้อภิสิทธิ์เสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา โดยไม่มีผู้ใดร้องเรียน

และอีกประเด็นหนึ่งคือการฟื้นตรวจสอบ นาฬิกาหรู ของ "พล.อ.ประวิตร"ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบจนได้ข้อยุติเพราะมีประชาชนยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ

หากจะมองแค่นี้ พอจะเห็นได้ว่า การทำหน้าที่ของ "กมธ. ขั้วรัฐบาล" โดยเฉพาะ ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ควรแสดงบทบาทคัดค้าน กลับไม่ทำหน้าที่"ปกป้องนาย"และยังเปิดทางให้"เสรีพิศุทธ์"ฉวยความเป็นประธานที่ประชุม ใช้สิทธิ์ดำเนินการ ทั้งที่หลายคนมองว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้ และไม่อยู่ในขอบข่ายของหน้าที่กมธ. ซึ่ง"พยม-ธนะสิทธิ์"ถือเป็น"มือใหม่ปราบโกง"เพราะด้วยเป็น ส.ส.สมัยแรก และไม่เคยจับงานนี้มาก่อน ทำให้ การแก้เกมเพื่อปกป้องนาย จึงคิดไม่ได้ หรือ คิดได้ก็ไล่ไม่ทัน

และเมื่อเปลี่ยนตัว สิ่งที่ได้เห็นตั้งแต่การก้าวมาของ"ปารีณา และ สิระ"​ในการประชุมนัดที่ 10 วันที่ 13 พฤศจิกายน คือ การแสดงความเห็นโต้แย้ง ในการทำหน้าที่ประธานกมธ.ฯ ของ"พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์"เมื่อเข้าสู่วาระพิจารณา เรื่องตรวจสอบ"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"ซึ่ง ส่ง"พล.อ.ชัยชาญ​ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม" และ "ประสาน หวังรัตนปรานี ผู้ช่วย พล.อ.ประวิตร" นำหนังสือ และเตรียมข้อมูลมาชี้แจง​ แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ยอมรับการชี้แจงแทนหรือหนังสือชี้แจง พร้อมจะขอมติจากที่ประชุมให้ เรียก "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"มาชี้แจงด้วยตนเอง

"ปารีณา" เปิดประเด็นโต้แย้งว่า "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์" ใช้อำนาจเกินขอบเขต ขณะที่"สิระ"หนุนอีกเสียง ว่า ต้องพิจารณากรอบอำนาจให้รอบคอบก่อนจะมีมติเรียก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มาชี้แจง

หากย้อนความไปก่อนหน้านี้ ในวาระพิจารณาของกมธ. และเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่ 2 เรื่องนี้ การประชุมยังคงดำเนินไปอย่างปกติ โดย"สิระ-ปารีณา"ไม่ได้โต้แย้งถึงการใช้อำนาจของ"ประธานกมธ.ฯ"

แต่การทำงานของ กมธ.ฯ ไม่ได้ราบรื่นเพราะ "เกมยั่วกันไปมา"ของ 2 ฝ่าย ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งฝ่ายของ "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์" ที่ชงเรื่องตรวจสอบการถือครองที่ดิน จ.ราชบุรี และ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของ"ปารีณา"ขณะที่"สิระ"เดินเกมปลด"ตู่ใหญ่"ออกจาก ประธานกมธ.ปราบโกง ด้วยกรณีการออกคำสั่งตั้งที่ปรึกษาประธานกมธ. ซึ่งอ้างมาเป็นมติของที่ประชุม ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจของประธานกมธ. เอง และ ความพยายามแก้มติที่ประชุม กรณีเรียก"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"มาชี้แจง โดยไม่ผ่านมติที่ประชุม

กับ เรื่อง "ปลด" นั้น ถูกแก้เกมจาก"เสรีพิศุทธ์"ที่ฉวยจังหวะพิจารณา และขอมติที่ประชุม โดยผลที่เกิดขึ้นทำให้ วาระปลดเก้าอี้ นั้นต้องตกไป อย่างไรก็ดีเกมยั่วเย้ากันทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อว่าจะยังดำเนินต่อไป หาก กมธ.ปราบโกง ไม่ยอมลดละที่จะเอาเรื่อง"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"

ขณะที่งานตรวจสอบของกมธ. เมื่อพิจารณาในเนื้อหา หากไม่นับเรื่องร้อนนั้น ประเด็นอื่นๆ ถูกยกมาพิจารณาได้โดยราบรื่น ทั้งในส่วนของกมธ.คณะใหญ่ และ คณะอนุกมธ.ฯ ซึ่ง "ปารีณา" และ "สิระ" ยังได้รับมอบหมายให้ศึกษาและพิจารณารายละเอียด ก่อนให้ กมธ.ฯ ชุดใหญ่พิจารณา อาทิ"สิระ"มอบหมายให้ประมวลเรื่องตรวจสอบความโปร่งใสผู้บริหารนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิต่อการให้สิทธิเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และ ตรวจสอบพฤติกรรมการบริหารและจรรยาบรรณ ของ ผอ.โรงเรียนวิสุทธรังสี ณ ปัจจุบัน และเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม ปี 2555-2557 จังหวัดกาญจนบุรี ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ, ขณะที่"ปารีณา"มอบหมายให้ประมวลเรื่อง กรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลคลองตัน ใช้ดุลยพินิจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจอดรถกีดขวางการจราจรในซ.สุขุมวิท 65 กทม.

ตามบันทึการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน มีบทสรุปคือ มีเรื่องที่ค้างพิจารณา 119 เรื่อง และยุติเรื่อง 15 เรื่อง

-สำหรับเรื่องที่ยุติการตรวจสอบแล้ว อาทิ ตรวจสอบอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรณีเบียดบังเวลาราชการไปดำเนินกิจการทางมิชอบเหตุผล เพราะกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว, การจัดซื้อถังดับเพลิง จำนวน 95,797 เครื่องวงเงิน 124 ล้านบาทของกทม.​ที่ไม่ได้มาตรฐาน, เรื่องร้องเรียนนายกเมืองพัทยาไม่มีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยปลัดเมืองพัทยา เป็นเหตุให้ปลัดเมืองพัทยาถูกพักราชการ, กรณีพนักงานสอบสวน สน.บางโพ ออกหมายเรียก นายธีรัจชัย คดีถูกฟ้องหมิ่นประมาท ร.อ.ธรรมนัส โดยมิชอบ เหตุ สน.บางโพ ยกเลิกหมายเรียกดังกล่าว และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายในการออกหมายเรียกให้ถูกต้องต่อไป

อยู่ระหว่างตรวจสอบ และมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ กรณีร้องเรียนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ส่อไปในทางมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์กับผู้สมัครส.ส.ของพรรคการเมือง ซึ่งกระบวนการได้เชิญทั้งฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง คือ "พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์"ชี้แจงรายละเอียด และล่าสุดได้ทำหนังสือสอบถามบุคคลและพรรคการเมืองเพื่อรับความเห็นกรณีข้อร้องเรียน ตรวจสอบ "ร.อ.ธรรมนัส"กรณีถูกศาลออสเตรเลีย พิพากษาคดียาเสพติด โดย อนุกมธ.ฯ​ที่มี "ธีรัจชัย" เป็นประธาน ได้ประสานและสอบถามข้อมูลจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่สถานทูตออสเตรเลีย และ ขอข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา , ตรวจสอบการถือครองที่ดิน จ.ราชบุรี จำนวน 1,700 ไร่ ของ น.ส.ปารีณา ว่าถือครองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ ล่าสุดเชิญ อธิบดีกรมป่าไม้ ให้ความเห็น

การสอบหาข้อเท็จจริงโครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนพนังกั้นน้ำชี, ซ่อมแซมถนนลูกรังตามโครงการ 42 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งกมธ. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง, ตรวจสอบการกระทำของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ส่อว่ากระทำทุจริต กรณีสร้างถนนเลียบคลองปะปาช่วงถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนสรงประภา ฝั่งตะวันออก ซึ่งได้เชิญ ผู้ว่าฯกทม. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงกับ กมธ.ฯ

เตรียมบรรจุให้ตรวจสอบ อาทิ กรณีพนักงานตำรวจสน.เมืองนครราชสีมา ล่อซื้อกระทงจากผู้เยาว์อายุ 15 ปี ว่ากระทำถูกต้องหรือเป็นธรรมตามกฎหมายหรือไม่, เรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีกับพวก ปฏิบัติหน้าที่ส่อทุจริต กรณีจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงานใน อบจ., ตรวจสอบ ตำรวจ สน.คลองตัน ใช้ดุลยพินิจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจอดรถกีดขวางการจราจรในซ.สุขุมวิท 65 กทม.

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเรื่องใดที่สอบสวนหรือตรวจสอบซึ่งเป็นบทสรุปที่นำไปสู่การเอาผิดบุคคลที่ถูกร้องเรียน และส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่กมธ.ปราบโกง รับเรื่องจากภาคประชาชน อยู่อีก 27 เรื่อง ซึ่งยังรอว่าที่ประชุมจะรับไว้พิจารณา ตรวจสอบหรือไม่

ขณะที่การตรวจสอบ "บิ๊กรัฐบาล" ยังอยู่ในวาระตรวจสอบ แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหาระหว่างกัน อันมาจากความต้องการของ กมธฯ ที่ต้องการให้ "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" มาชี้แจงด้วยตนเอง ที่ประชุมกมธ.ปราบโกง จึงใช้วิธีหาความรอบด้าน เตรียมเชิญ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะอดีตนายกฯ และ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม"มาแถลงข้อเท็จจริงต่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยมิชอบ ในที่ประชุมกมธ.​วันที่ 18 ธันวาคม นี้แทน

ซึ่งเกมในกมธ.ปราบโกง ที่จุดเริ่มเพียงแค่เป็น การปรากฎตัวของดาวยั่ว (โมโห) หรือ แมลงรำคาญของ "รัฐบาล" แต่ปัจจุบัน ถูกสังคมตราหน้าว่า ไร้ความน่าเชื่อถือเพราะ"เล่นละครลิง" โชว์ความกร่างและไร้มารยาท เพื่อสร้างวิวาทะดิสเครดิตการทำงานรายสัปดาห์ และทำให้สังคมจับตาความขัดแย้งภายในมากกว่าผลงานจับทุจริต เหมือนเช่นที่กมธ.ปราบโกงของสภาฯ ที่เคยเป็นปฏิบัติมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0