โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?

issue247.com

อัพเดต 12 ก.พ. 2562 เวลา 04.13 น. • เผยแพร่ 13 ก.พ. 2562 เวลา 00.00 น.

หากคุณกำลังมองหาวิธีคุมกำเนิด คุณอาจจะลองกูเกิ้ลและรู้สึกขนพองสยองเกล้าเกี่ยวกับผลข้างเคียงต่างๆที่เป็นไปได้ ใช่..เราเข้าใจเพราะผลข้างเคียงบางอย่างก็ช่างน่ากลัวเหลือเกิน (หือ..โรคหลอดเลือดสมองเลยเหรอ?! ให้ตายเถอะ) หมายความว่าคุณจะสละเรือทิ้งเลยเหรอ? ไม่หรอกเพราะจริงๆการคุมกำเนิดยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น การป้องกันการตั้งครรภ์ เป็นต้น แพทย์อาจแนะนำการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนเนื่องจากอาการอื่นๆอย่างการมีประจำเดือนมาไม่ปกติหรือรักษากลุ่มอาการปวดก่อนมีประจำเดือน นอกจากนี้คุณยังต้องเรียนรู้ข้อมูลต่างๆก่อนที่จะเริ่มต้นคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนไม่ว่าจะเกี่ยวกับยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด

 

ไม่ใช่ว่า “ผลข้างเคียง” ทุกอย่างจากการคุมกำเนิดจะไม่ดี

การคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยการควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกายดังนั้นการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดฝันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ผลข้างเคียงบางอย่างจริงๆก็มีประโยชน์ เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอาจช่วยในการป้องกันสิว กำหนดรอบเดือน บรรเทาอาการปวดเกร็ง และรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากคุณมีอาการปวดศีรษะไมเกรนทุกครั้งที่ใกล้มีประจำเดือนยาคุมกำเนิดก็ช่วยได้เช่นกัน ข้อดีของการหยุดรอบเดือนคือการลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเงินตั้งแต่การซื้อผ้าอนามัย ยาแก้ปวดไปจนถึงการพบแพทย์ (โอเคนี่ไม่ใช่ “ผลข้างเคียง” แต่ก็ถือเป็นข้อดีแล้วกัน!)

 

ผลข้างเคียงในช่วงแรกอาจจะน่ารำคาญแต่ก็เป็นแค่ชั่วคราว

แน่นอนว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับฮอร์โมนนั้นมีข้อเสียและทำให้รอบเดือนของคุณมาไม่ปกติ รวมถึงคุณอาจมีอาการคลื่นไส้ เจ็บเต้านม ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน ภาวะซึมเศร้า และปวดศีรษะด้วย คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าร่างกายของคุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ส่วนข่าวดีคือผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

การมองหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมอาจต้องอาศัยการลองผิดลองถูก

เอาล่ะคราวนี้เป็นข่าวร้าย บางครั้งผลข้างเคียงเหล่านั้นก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนไม่ได้เหมาะกับทุกคน นั่นเป็นเพราะมีฮอร์โมนสองชนิดที่มีบทบาทสำคัญในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนได้แก่เอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน ผู้หญิงบางคนอาจไวต่อฮอร์โมน 1-2 ชนิดนี้ซึ่งจะยิ่งทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงขึ้น ทางที่ดีคุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะกับคุณมากกว่านี้ เช่น หากยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้คุณปวดท้องคุณอาจต้องลองเป็นวงแหวนสอดช่องคลอดคุมกำเนิดเนื่องจากไม่ต้องรับประทานเข้าไป

 

อย่ามองข้ามห่วงคุมกำเนิด

หากยาเม็ดคุมกำเนิด วงแหวนสอดช่องคลอดคุมกำเนิด หรือแผ่นแปะคุมกำเนิดใช้ไม่ได้ผลสำหรับคุณ คุณอาจต้องพิจารณาห่วงคุมกำเนิดแทนเนื่องจากเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะยาว ห่วงคุมกำเนิดมีสองชนิดได้แก่ชนิดที่มีฮอร์โมนกับไม่มีฮอร์โมน แต่ผลข้างเคียงของห่วงคุมกำเนิดทั้งสองชนิดนี้ค่อนข้างหายากนอกจากอาการปวดเกร็งกับเลือดออกกระปริบกระปรอยระหว่างมีประจำเดือน

 

ผลข้างเคียงบางอย่างก็น่าขนลุก

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดซึ่งอาจทำให้เป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่ประเด็นคือก็ยังถือว่าค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามคุณมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจากการตั้งครรภ์มากกว่าการรับประทานยาคุมกำเนิด หากคุณรู้สึกไม่สบายใจจากความเสี่ยงนี้กรุณาปรึกษาแพทย์

 

ไม่มีวิธีไหนปลอดความเสี่ยง 100%

คุณควรตระหนักว่าคุณสามารถเจอผลข้างเคียงได้จากการคุมกำเนิดทุกวิธี เช่น คุณอาจแพ้ถุงยางอนามัยหรือสารฆ่าเชื้ออสุจิบางชนิด หรือการใช้หมวกครอบปากมดลูกอาจทำให้คุณติดเชื้อยีสต์หรือแบคทีเรีย เป็นต้น ทางที่ดีคุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าการคุมกำเนิดวิธีไหนที่เหมาะกับคุณมากที่สุด

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0