โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ผนึกพลังพัฒนาเด็กปฐมวัย ชูความเป็นเลิศก้าวกระโดด

ไทยโพสต์

อัพเดต 16 พ.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 16 พ.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    เด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 2-5 ปี ถือเป็นช่วงสำคัญที่สุดของการพัฒนาและปลูกฝังทักษะต่างๆ แก่ชีวิตทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา      ด้วยเหตุนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.) ในความปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ต้องจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มุ่งหวังให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนา และมีความพร้อมเข้าศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ผ่านหลักสูตรพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่ความเป็นเลิศ (แบบก้าวกระโดด ภายใต้ชื่อ COACT : Capacity of a Community Treasures) ประกอบไปด้วยทีมพี่เลี้ยงที่เป็นทีมวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมดับบ้านดับเมือง ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาสนับสนุน เพื่อความเป็นเลิศใน 5 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2.การจัดการสิ่งแวดล้อม 3.การจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4.การดูแลสุขภาพ และ 5.การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน

    ที่ผ่านมาได้มีการมอบโล่รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการศึกษา การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่ความเป็นเลิศ (แบบก้าวกระโดด) และปรากฏว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านหลักร้อย เทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ได้รับรางวัลนี้ไป      นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เป็นตัวแทนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านหลักร้อย กล่าวว่า ศพด.โรงเรียนบ้านหลักร้อยมีเด็กในการดูแลตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง-5 ขวบ จำนวน 40 คน เนื่องจากมีที่ตั้งในโรงเรียนบ้านหลักร้อย สภาพแวดล้อมของศูนย์ บรรยากาศจึงเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก อากาศโปร่งโล่ง ไม่อึดอัด มีพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้แก่ สวนเกษตร สนามเด็กเล่นที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านร่างกาย และเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เต็มที่ในทุกด้าน มีวิทยากรมาช่วยเสริมให้เด็กๆ ถูกพัฒนาทุกทิศทาง ให้สอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น วันพระจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมานำสวดมนต์ มีคลาสดนตรี ภาษาอังกฤษ เป็นต้น      “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณค่าอาหาร กลางวันและค่าอาหารเสริม เช่น นมโรงเรียน ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเพียงพอสำหรับการเปิดการเรียนการสอนได้ทั้งปีงบประมาณ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกหลานของเราได้รับสิ่งที่มีประโยชน์ และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง” นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมากล่าว     ด้าน รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนา ศพด.แบบก้าวกระโดด กล่าวว่า จุดเด่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านหลักร้อย คือความเป็นเลิศทั้ง 5 ระบบ โครงสร้างของการบริหารมีความเข้มแข็ง บุคลากรทางการศึกษาและครูมีศักยภาพ ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็กร่วมกัน ก่อนเข้าร่วมการดำเนินการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทางเทศบาลนครนครราชสีมายังพบปัญหาในการพัฒนาคุณภาพที่ชัดเจน ทีมวิชาการ COACT จึงนำทั้ง 5 ระบบเข้ามาช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง     “สำหรับ ศพด.บ้านหลักร้อย ใช้เวลาพัฒนาความเป็นเลิศ 6-8 เดือน ด้วยการสนับสนุนจากทีมวิชาการ COACT โดยเข้ามาช่วยปรับวิถีการทำงานของ ศพด.ให้เป็นระบบ ช่วยหนุนเสริมติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการ Group Benchmarking พาไปดูต้นแบบที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อให้เกิดการวางแผนการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหลักร้อย ซึ่งทำให้คณะทำงานของ ศพด.มองเห็นช่องว่างของการทำงานและกลับมาปรับปรุงตัวเอง มีการวัดผล  เด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีสุขภาวะที่ดี ส่วนเด็กที่มีปัญหาด้านต่างๆ จะได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที”      “ผลที่ได้รับหลัง ศพด.บ้านหลักร้อยเข้าร่วมโครงการคือ ชุมชน ผู้ปกครองนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อที่บ้าน ทุกฝ่ายเห็นปัญหาของเด็กร่วมกันและร่วมกันติดตาม เราทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กพัฒนาได้ หรือหากพบปัญหาเร็วจะสามารถกระตุ้นช่วยเหลือได้ทันท่วงที ที่สำคัญคือคุณครูมีศักยภาพในการพัฒนาเด็กมากขึ้น และต่อยอดเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ และจุดขยายผลแลกเปลี่ยนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ต่อไป ปัจจุบันโครงการมีศูนย์เรียนรู้ที่ดีเช่นนี้ทั้งหมด 23 แห่งทั่วประเทศ” ผู้จัดการโครงการกล่าว     การพัฒนาเด็กเล็กไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างครอบครัว คุณครู โรงเรียน และสังคม ต้องช่วยกันหล่อหลอมและผลักดันจึงจะประสบความสำเร็จ. 

 “วิ่งปลอดภัย ไร้โรค NCDs”     เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารรัฐสภา มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ เดิน-วิ่ง Great Food Good Run 2018 "วิ่งปลอดภัย กินอาหารปลอดสาร ไร้โรค NCDs" เป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่าย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในเรื่องการมีกิจกรรมทางกาย พร้อมเลือกบริโภคอาหารที่ดีจากสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรนวัตกรรม     สำหรับกิจกรรม Great Food Good Run 2018 ”วิ่งปลอดภัย กินอาหารปลอดสาร ไร้โรค NCDs” ที่อาคารรัฐสภา จัดโดยโครงการสื่อสารนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี ภายใต้ สสส. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนหันมาสนใจกิจกรรมทางกายมากขึ้น และให้ความรู้ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมก่อนลงวิ่งเพื่อความปลอดภัย ช่องทางการสมัครวิ่ง          อีกทั้งแนะนำการรับประทานอาหารที่ปลอดสารควบคู่กับไปการออกกำลังกายเพื่อให้ได้สุขภาพดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม งานเดิน-วิ่ง Great Food Good Run 2018 จะมีในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2561 ณ สนามกีฬาศุภชลาศัย ดูลายละเอียดรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.thaijogging.org.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0