โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รำลึก'ป๋าเปรม'ครั้งสุดท้าย พระราชทานเพลิงศพ8ธ.ค.

เดลินิวส์

อัพเดต 07 ธ.ค. 2562 เวลา 22.40 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 09.13 น. • Dailynews
รำลึก'ป๋าเปรม'ครั้งสุดท้าย พระราชทานเพลิงศพ8ธ.ค.
ร่วมรำลึกถึง… “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” กับความเป็นมาของรัฐบุรุษคนสำคัญของไทย

ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในประเทศไทย กับการจากไปของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยวัยเข้า 99 ปี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2562 ณ วัดเทพศิรินทราวาสนี้

โดยระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บำเพ็ญพระราชกุศลในการออกเมรุและพระราชทานเพลิงศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโกศกุดั่นน้อย พร้อมเครื่องเกียรติยศประกอบศพ พล.อ.เปรม ซึ่งตามแบบธรรมเนียมในราชสำนัก จะต้องมีการจัดขบวนรถเชิญโกศศพ

สำหรับ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" เกิดวันที่ 26 ส.ค. 2463 ปัจจุบันอายุ 98 ปี และจะครบ 99 ปีในเดือนส.ค.นี้ เกิดที่ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา โดยชื่อจริงของพล.อ.เปรมนั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุลติณสูลานนท์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2462 ทั้งนี้เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม หรือบึ้ง ติณสูลานนท์ ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม หรือออด ติณสูลานนท์ มีพี่น้องคือ นายชุบ ติณสูลานนท์ นายเลข ติณสูลานนท์ นางขยัน ติณสูลานนท์ สมรสกับ นายประดิษฐ์ โมนยะกุล นายสมนึก ติณสูลานนท์ คหบดี นายสมบุญ ติณสูลานนท์ ด.ญ.ปรี ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย) และนายวีรณรงค์ ติณสูลานนท์

พล.อ.เปรมสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หรือจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2488 ที่เชียงตุง ภายหลังสงครามพล.อ.เปรมรับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี พร้อมกับพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ และพล.อ.วิจิตร สุขมาก เมื่อพ.ศ. 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จ.สระบุรี โดยได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพล.ต. เมื่อพ.ศ. 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้มักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า “ลูก” จนเป็นที่มาของ “ป๋าเปรม” และคนสนิทมักถูกเรียกว่า “ลูกป๋า” และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาพล.อ.เปรมย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานในปี พ.ศ. 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อพ.ศ. 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพล.อ. ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ. 2521

ส่วนตำแหน่งทางการเมืองในพ.ศ. 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วงพ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ทางพล.อ.เปรมเข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ต.ค.2519 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ต.ค. 2520 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ.เปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรมช.มหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผบ.ทบ. ในช่วงนั้นพล.อ.เปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ก.พ.  2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3มี.ค. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย นอกจากยศพล.อ.แล้ว พล.อ.เปรม ยังได้รับยศพล.ร.อ.ของกองทัพเรือ และ พล.อ.อ.ของกองทัพอากาศด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนก.ค. 2529 ในระหว่างที่พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 ส.ค.2531 จากนั้นในวันที่ 29 ส.ค. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 ส.ค. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

สำหรับชีวิตส่วนตัวพล.อ.เปรมยังชื่นชอบการร้องเพลงและเล่นเปีย รวมถึงการประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรกจนมีผลงานเพลงมากมาย  บุคลิกส่วนตัวเป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกตั้งฉายาว่า เตมีย์ใบ้ และอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา

อย่างไรก็ตามช่วงเทศกาลสงกรานต์ และช่วงวันเกิด พล.อ.เปรมทมักจะเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ให้คณะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีทหาร และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าอวยพรและขอพรมาอย่างต่อเนื่อง จนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกปี ซึ่งทุกครั้งพลอ.เปรมก็จะนำข้อคิดคำสอนมาเตือนใจเรื่องการปฏิบัติหน้าที่เสนอ และสิ่งหนึ่งที่พล.อ.ย้ำเสมอคือการเรื่องการตอบแทนคุณแผ่นดิน

ทั้งนี้ก่อนถึงอสัญกรรม พล.อ.เปรมได้เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี 2523 ถึง 2531 โดยเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ไม่มีภริยา นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้พล.อ.เปรมลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2562…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0