โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

#ป้อมเกาะโต๊ะ #แม้วเกาะจ๊อด เรื่องเล่าที่ไม่ตรงความจริง

THE STANDARD

อัพเดต 21 ก.ย 2561 เวลา 03.40 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2561 เวลา 13.14 น. • thestandard.co
#ป้อมเกาะโต๊ะ #แม้วเกาะจ๊อด เรื่องเล่าที่ไม่ตรงความจริง
#ป้อมเกาะโต๊ะ #แม้วเกาะจ๊อด เรื่องเล่าที่ไม่ตรงความจริง

ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน จะผ่านไปแล้ว 12 ปี แต่ทันทีที่อดีตนายกทักษิณโพสต์ว่า อยากให้ประเทศเดินหน้า โดยพร้อมอโหสิกรรมกับฝ่ายที่รังแกทั้งหมด พล.อ. ประวิตร ก็ตอบโต้ว่า ให้ไปเคลียร์คดีเสียก่อน จากนั้นทักษิณก็เปิดประเด็นว่า พล.อ. ประวิตร พูดไม่เหมือนสมัยเกาะขอบโต๊ะขอตำแหน่ง ผบ.ทบ.

 

ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไม พล.อ. ประวิตร ต้องตอบโต้อดีตนายกที่พูดเรื่องรัฐประหารปี 2549 ซึ่งเกิดโดยคณะทหารที่ พล.อ. ประวิตร ไม่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าดูจากคลิปก็จะพบว่า สื่อเอาคำพูดของทักษิณเรื่องอโหสิกรรมไปถาม พล.อ. ประวิตร จากนั้น พล.อ. ประวิตร ซึ่งจังหวะนั้นไม่น่าจะรู้เรื่องโพสต์ของทักษิณก็ตอบอย่างที่เป็นข่าวออกมา

 

พูดตรงๆ พล.อ. ประวิตร ถูกนักข่าวถามให้ตอบเพื่อสร้างประเด็นที่ไม่ควรเป็นประเด็นแบบนี้หลายครั้งแล้ว และในเมื่อการควบคุมคำถามของนักข่าวนั้นทำไม่ได้  การหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามที่ไม่จำเป็นก็เป็นทางเลือกที่ดี

 

แม้ดราม่าของสองคนสูงวัยจะสนุกในแง่การสร้างกระแสสังคม แต่คุณค่าของข่าวแบบนี้เป็นแค่การประชันน้ำลายของสงครามปากที่ไร้ข้อสรุป ซ้ำสิ่งที่อันตรายคือการมั่วประเด็นจนกองเชียร์แต่ละฝ่ายตอบโต้กันด้วยความเท็จ และพอฝุ่นตลบดราม่าจบลง สิ่งที่จะคงเหลือคืออวิชชาทางการเมือง

 

ล่าสุด การตอบโต้ของทักษิณเรื่องว่า พล.อ. ประวิตร พูดไม่เหมือนสมัยขอเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็เกิดดราม่า #ป้อมเกาะโต๊ะ ส่วนผู้สนับสนุนอีกฝ่ายก็ตอบโต้โดยแฉภาพทักษิณยืนกุมเป้า โดยมีอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดช่วงปี 2533 โอบไหล่ในสภาพป๋าจนเกิดประเด็น #แม้วเกาะจ๊อด ตามมา

 

แน่นอนว่าการตอบโต้ด้วยภาพผ่านโซเชียลแบบนี้ทำให้ทุกฝ่ายสะใจ แต่ในกรณีนี้ ภาพถูกปั่นให้เป็นเรื่องเล่าบนข้อมูลที่ผิด และถึงที่สุดแล้วภาพทำให้เกิดความเข้าใจทางการเมืองที่บิดเบี้ยวจากความจริง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ความเสียหายแก่บุคคลทั้งสองฝ่าย คือการถ่ายทอดและผลิตซ้ำความเข้าใจการเมืองไทยผิดๆ ทั้งในแง่ประชาธิปไตย ความรู้เรื่องทหาร และพฤติกรรมคณะรัฐประหารในไทย

 

อย่างที่เห็นในภาพ นายทหารเสื้อคับที่คีบบุหรี่พร้อมโอบไหล่ทักษิณด้วยบุคลิกกว้างขวางคือ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเดือนเมษายน 2533 และเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารชื่อ ‘คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ’ หรือ รสช. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 จนเกษียณอายุปีเดียวกัน

 

ในแง่ราชการ พล.อ. สุนทร หมดอำนาจเหนือกองทัพไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2534 ซึ่งท่านมีอายุครบ 60 ปี ส่วนในแง่การเมือง ตำแหน่งหัวหน้าคณะ รสช. ก็ดำรงอยู่ถึงแค่เดือนเมษายน 2535 ซึ่งคณะรัฐประหารชุดนั้นสิ้นสภาพลงตามรัฐธรรมนูญ

 

อดีตนายกทักษิณเกิดปี 2492 และภาพถ่ายนั้นน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่ทักษิณอายุ 42-43 ปี แต่โด่งดังในฐานะนักธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่เริ่มต้นจากศูนย์ในทศวรรษ 2530 จากธุรกิจวิทยุติดตามตัว เคเบิลทีวี และโทรศัพท์มือถือ Cellular 900 รวมทั้งเริ่มสนใจทำ ‘ดาวเทียมไทยคม’ เพื่อให้ธุรกิจสื่อสารมีความสมบูรณ์

 

ตามที่เรื่องเล่าในดราม่าโต้ประเด็น #ป้อมเกาะโต๊ะ พยายามสื่อสาร ภาพเป็นหลักฐานว่าทักษิณก็สายเกาะทหารเพื่อให้ตัวเองได้งานทางธุรกิจ และภาพพลเอกผู้มีบุคลิกกว้างขวางโอบไหล่ทักษิณยืนค้อมตัวยิ้มๆ ก็ทำให้ง่ายต่อการชี้ว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารช่วยให้ทักษิณได้งานดาวเทียม

 

ถ้าประเด็นป้อมเกาะโต๊ะทำให้คนเกาะดูแย่ ส่วนคนโดนเกาะถูกแขวะว่าทำไม่ถูกที่ให้คนเป็น ผบ.ทบ. เพราะขยันเกาะ ภาพโอบก็ทำให้ฝ่ายหนึ่งดูแย่จากเรื่องได้งานเพราะหัวหน้าคณะรัฐประหารช่วย ส่วนอีกฝ่ายก็เสี่ยงจะดูแย่เพราะยกสัมปทานของชาติให้คนตามใจชอบเหมือนกัน

 

อย่างไรก็ดี ภาพนี้เล่าเรื่องที่ผิด กรณีนี้ไม่มีใครได้งานเพราะใครช่วย และไม่มีใครยกสัมปทานให้ใครเพราะเป็นพวกเดียวกัน การโยงภาพกับการประมูลจึงเป็นข่าวเท็จจากความไม่เข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง

 

ในงานเขียนซึ่งอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ดีที่สุดของ สรกล อดุลยานนท์ ซึ่งตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์วันที่ 2 เมษายน 2544 ทักษิณซึ่งตอนนั้นอายุ 40 ต้นๆ เริ่มคิดทำ ‘ดาวเทียมไทยคม’ ราวๆ ปี 2533 โดยวิธีการในขณะนั้นคือการ ‘ประมูล’ งานนี้จากกระทรวงคมนาคม

 

ดังที่กล่าวไปแล้ว พล.อ. สุนทร ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 จุดเริ่มต้นของดาวเทียมนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กองทัพไม่มีอำนาจในการประมูลโครงการนี้ เช่นเดียวกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้นก็ไม่สามารถมีอิทธิพลต่อเรื่องด้วยเหมือนกัน

 

ในแง่ตัวบุคคล ผู้นำประเทศตอนนั้นคือ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัน ซึ่งลาออกจากราชการมาทำพรรคชาติไทยตั้งแต่ปี 2519 กระทั่งพรรคชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งจนท่านเป็นนายกในปี 2531 ส่วนรัฐมนตรีคมนาคมยุคนั้นคือ มนตรี พงษ์พานิช จากพรรคกิจสังคม ซึ่งใหญ่ระดับภูมิใจไทยปัจจุบัน

 

ในแง่ระยะเวลา กระทรวงคมนาคมเริ่มเปิดประมูล ‘ดาวเทียมไทยคม’ ในวันที่ 20 กันยายน 2533 จากนั้นรัฐมนตรีก็เซ็นอนุมัติผลการประมูลในวันที่ 7 ธันวาคม ส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองซึ่งมีประธานคือปลัดกระทรวงคมนาคมชื่อ ศรีภูมิ ศุขเนตร ก็ประกาศผลการประมูลในวันที่ 14 ธันวาคม ปีเดียวกัน

 

ตามลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดาวเทียมไทยคม การประมูล การอนุมัติผลการประมูล รวมทั้งการแถลงผลการประมูลดำเนินไปในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2533 ก่อนที่รัฐประหารปี 2534 จะเกิดขึ้น กองทัพจึงไม่มีอำนาจเรื่องนี้ และตัว พล.อ. สุนทร ก็ไม่มีบทบาทให้คุณให้โทษการประมูลแต่อย่างใด

 

ภายใต้ปฏิบัติการข่าวสารเพื่อตอบโต้ดราม่าประเด็น #ป้อมเกาะโต๊ะ เรื่องเล่าที่ไม่ตรงความจริงในภาพทำให้นายทหารซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องประมูลถูกมองว่าช่วยเหลือนักธุรกิจ ส่วนผู้ชนะประมูลก็ถูกมองว่าได้งานเพราะขยันเกาะโต๊ะ ทั้งที่กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาที่กองทัพไม่มีอำนาจอย่างสิ้นเชิง

 

พล.อ. สุนทร รัฐประหารปี 2534 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ส่วนกระทรวงคมนาคมเปิดประมูล ‘ดาวเทียมไทยคม’ วันที่ 20 กันยายน 2533 เท่ากับการประมูลเริ่มในวันที่ทหารยังไม่ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ พล.อ. สุนทร ยังไม่ได้เข้าสู่วงจรอำนาจอะไร

 

ในปลายปี 2533-2534 ทหารที่สังคมเห็นว่ามีอำนาจขั้นถูกสงสัยว่าจะยึดอำนาจได้ทุกเมื่อคือ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ บิ๊กจิ๋ว ซึ่งเก่ง มีพวกเยอะ มีบทบาททางการเมืองตั้งแต่สมัย พล.อ. เปรม เป็นนายก และทันทีที่ลาออกจากกองทัพก่อนเกษียณ ก็ถูกรัฐบาลพลเรือนตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี

 

นอกจากการประมูลดาวเทียมไทยคมจะเกิดขึ้นก่อนคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติยึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนไม่มีทางที่ผู้ชนะหรือนายทหารจะเกี่ยวข้องกับผลประมูลอย่างที่เข้าใจผิด ในแง่เนื้อหาสาระของการประมูลก็อธิบายได้ว่าทำไมผลจึงเป็นอย่างที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

 

ตามเอกสารที่เป็นทางการ บริษัทที่แสดงตัวกับกระทรวงคมนาคมว่าต้องการประมูลโครงการดาวเทียมมีทั้งสิ้น 5 บริษัท แต่เมื่อถึงเวลายื่นซองประมูลกลับมีผู้ส่งเอกสารครบเพียง 3 เจ้า หนึ่งคือชินวัตรคอมพิวเตอร์ของทักษิณ, สองคือไทยแซท และสามคือวาเคไทยของเจ้าของรถไฟฟ้า BTS ปัจจุบัน

 

ในบทความ ไทยคม-ชัด-ลึก สัมพันธ์อลเวง ‘ทักษิณ-จ๊อด’ และท่านสารวัตร ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่กล่าวไป บริษัทของทักษิณเสนอผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุดคือ 15.33% ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี และประกันกำไรขั้นต่ำ 1,350 ล้านบาท

 

สำหรับบริษัทคู่แข่งที่แพ้ประมูล ‘ไทยแซท’ เสนอผลตอบแทน 10% ประกันกำไร 980 ล้านบาท ส่วน ‘วาเคไทย’ ของคีรีเสนอผลตอบแทนให้รัฐ 8.78% และประกันกำไรขั้นต่ำ 875 ล้านบาท หรือต่ำกว่าของบริษัทคุณทักษิณเกือบเท่าตัว

 

ด้วยกระบวนการประมูลและเนื้อหาสาระของการประมูล ไม่มีอะไรให้เชื่อมโยงได้ว่ามีความเอื้อเฟื้อจากนายพลวัยเกษียณจนนักธุรกิจไร้อำนาจในวัย 40 ต้นๆ ได้สัมปทานโครงการดาวเทียม เว้นแต่ความเชื่อว่าทหารจะใช้อำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารเพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจที่เสนอผลประโยชน์อย่างที่ต้องการ

 

ความเชื่อนี้จริงหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน แต่เรื่องจริงที่ต้องยอมรับคือความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับนักธุรกิจถูกกำกับจากประวัติศาสตร์การเมืองและรูปแบบของการรัฐประหารตลอดเวลา

 

พูดอย่างกระชับที่สุด รัฐประหารปี 2534 เกิดขึ้นในเวลาที่กองทัพเป็นเอกภาพ เพราะความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ที่ผู้นำทุกเหล่าทัพจบโรงเรียนนายร้อยรุ่น 5 เหมือนกัน หรือแปลความอีกอย่างก็คือก่อนที่นายทหารรุ่นนี้จะมีอำนาจทุกเหล่าทัพ กองทัพอยู่ใต้อิทธิพลของนายทหารกลุ่มอื่นมาก่อนยาวนาน

 

หากพูดให้เห็นภาพง่ายๆ กองทัพไทยก่อนปี 2534 ที่อยู่ใต้อิทธิพลของทหารกลุ่ม จปร. รุ่น 1 และ จปร. รุ่น 7 การรัฐประหารที่เกิดขึ้นจึงต้องดำเนินการไปโดยเฝ้าระวังแหล่งอำนาจในกองทัพที่หลากหลาย คณะรัฐประหารจึงไม่ตั้งตัวเองเป็นนายก และคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้มาจากการยกเครือข่ายนายพลเป็นรัฐบาล

 

หลังรัฐประหารวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เสร็จสิ้นลง พล.อ. สุนทร แต่งตั้งอดีตทูตซึ่งผันตัวเป็นนักบริหารภาคเอกชนอย่างอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ จากนั้นอานันท์ก็ตั้งคณะรัฐมนตรีจากนักบริหารมืออาชีพที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น รัฐบาลหลังรัฐประหาร 2534 จึงไม่ใช่รัฐบาลทหารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

 

ด้วยบารมีและสถานะซึ่งมีความสัมพันธ์กับคนหลายกลุ่มอย่างกว้างขวางของอานันท์  คณะรัฐประหารก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นเองแทบไม่ได้ ถึงแม้ทหารบางคนพยายามแทรกแซงรัฐบาลเพื่อช่วยบริษัทสื่อสารที่ยังทำธุรกิจจนถึงตอนนี้ แต่รัฐมนตรีพลเรือนปฏิเสธการแทรกแซงทุกครั้งไป

 

ในกรณีรัฐประหาร 2534 คณะผู้ยึดอำนาจไม่ได้ล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกและคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารประเทศหลังรัฐประหารมาจากพลเรือนที่มีวิสัยทัศน์และเป็นที่ยอมรับสูง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือโดยภาพรวมแล้วคณะรัฐประหารไม่มีพฤติกรรมแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล

 

จริงอยู่ว่าธรรมชาติของการรัฐประหารเปิดโอกาสให้เจ้าสัวเข้าถึงนายพลเพื่อผลักดันโครงการขนาดใหญ่อย่างไม่โปร่งใส แต่อำนาจที่เป็นจริงในกองทัพและนอกกองทัพทำให้รัฐประหาร 2534 มีเรื่องนี้น้อยกว่าในยุคหลังอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะในแง่ตัวเรื่องที่เป็นข่าวอื้อฉาวและในแง่วงเงินงบประมาณ

 

มองแบบยาวๆ รัฐประหาร 2534 เป็นต้นแบบของรัฐประหาร 2549 ที่ผู้ยึดอำนาจไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล ส่วนรัฐบาลก็ไม่ได้มีพฤติกรรมใช้อำนาจรัฐเพื่อจรรโลงสถานะไม่สิ้นสุด การรัฐประหารทั้งสองครั้งจึงไม่ได้สร้างปัญหาและไม่ได้มีข่าวอื้อฉาวมากนัก เมื่อเทียบกับการรัฐประหารที่ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาลโดยตรง

 

โดยปกติแล้ว 12 ปี คือเวลาที่นานจนเด็กทารกเข้าเรียนมัธยมต้นเริ่มวัยเจริญพันธุ์ และถ้าเป็นความสัมพันธ์ฉันท์คนรักที่โรยรา 12 ปี คือเวลาซึ่งเนิ่นนานพอที่ความแค้นจะเลือนหายจนต่างฝ่ายต่างมีครอบครัวใหม่ไปหมด

 

อย่างไรก็ดี ดราม่าประเภท #ป้อมเกาะโต๊ะ ไปเคลียร์คดีให้หมด หรือแม้แต่ #แม้วเกาะจ๊อด ชี้ว่าแม้รัฐประหารปี 2549 จะผ่านไปแล้ว 12 ปี เวลาที่เนิ่นนานกลับไม่ทำให้ความรัก ความแค้น ความขัดแย้ง การเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้สูญเสีย และการไล่ล่าจากฝ่ายยึดอำนาจในวันนั้นจบลง

 

หัวหน้ารัฐประหารอย่าง พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน อาจเป็นนายพลเกษียณอายุที่ถูกจดจำในฐานะคุณปู่ของอดีตดาราดัง ส่วนนายกหลังรัฐประหารอย่าง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อาจกลับไปเป็นองคมนตรีอย่างที่ท่านเคยเป็นมา แต่ตัวละครอื่นๆ ยังมีบทบาทและมีการเผชิญหน้าอย่างที่เคยเป็น

 

ถึงแกนนำม็อบหนุนรัฐประหารอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล จะปลอมเอกสารเพื่อกู้เงินจนถูกจำคุกไปแล้วสองปี ผู้ร่วมงานม็อบฝ่ายสนธิก็ยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุค คสช. จัดตั้งพรรคเพื่อหนุนพล.อ. ประยุทธ์เป็นนายก ดำรงตำแหน่งคณบดีหรืออธิการบดี ฯลฯ รวมถึงทำงานให้ผู้มีอำนาจปัจจุบัน

 

ในระดับสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ มีชัย ผู้เป็นประธานสภานิติบัญญัติจากคณะรัฐประหารปี 2549 ก็เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐประหารปี 2557 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นรัฐมนตรีคลังในยุคนั้น และก็เป็นรองนายกเศรษฐกิจในยุคนี้ เช่นเดียวกับตัวละครมหาศาลที่มีบทบาทจากปี 2549 จนปัจจุบัน

 

การตอบโต้ทางวาทกรรมระหว่างอดีตนายกทักษิณและประวิตร เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใหญ่ที่ยังไม่จบ และภายใต้ความขัดแย้งที่ตัวละครหลายกลุ่มยังมีบทบาทจนได้ประโยชน์จากความขัดแย้งแบบนี้ โอกาสที่ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่สภาวะสันติคือฝันที่อยู่ไกลความจริง

 

 

พิสูจน์อักษร:*ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์ *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0