โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ป่าฮาลา-บาลา ป่าใหญ่บนพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย อุดมสมบูรณ์สมฉายา “แอมะซอนแห่งอาเซียน”

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 08.11 น. • BLT Bangkok
ป่าฮาลา-บาลา ป่าใหญ่บนพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย อุดมสมบูรณ์สมฉายา “แอมะซอนแห่งอาเซียน”

ป่าฮาลา-บาลา เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา โดยเป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดบนคาบสมุทรมาลายา และมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่าหายากหลายชนิด ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของนกเงือกมากถึง 10 ชนิด จนได้รับฉายาว่า “แอมะซอนแห่งอาเซียน”

ป่าฮาลา-บาลา อุดมสมบูรณ์สมฉายา “แอมะซอนแห่งอาเซียน”

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยรายละเอียด พร้อมแนะนำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ระบุว่า ฮาลา-บาลา ป่าใหญ่ทางใต้สุดของแดนดินสยาม ถือได้ว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกแห่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ในลำดับต้นๆ ของประเทศ หากถามว่าที่นี่สมบูรณ์มากมายเพียงไหน? ก็คงตอบได้ว่าอุดมสมบูรณ์ในระดับที่ได้รับการเปรียบนามให้เป็น ‘แอมะซอนแห่งอาเซียน’ เลยทีเดียว

แน่นอนว่าสมญานี้ เราคงไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือเป็นคำที่ตั้งไว้ให้ดูโก้หรู เพียงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้บากบั่นมายลโฉมตามคำร่ำลือเท่านั้น ดังที่พอทราบกันเป็นพื้นฐานว่า ‘แอมะซอน’ เป็นป่าทางอเมริกาใต้ มีพื้นที่ใหญ่มาก ครอบคลุมอาณาเขตไปในหลายประเทศ ขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายทางระบบนิเวศของพืชพันธุ์ และสรรพชีวิตสัตว์ป่า อันเป็นชีพจรของไพรมากมายนับไม่ถ้วน

เมื่อมองเปรียบมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พื้นที่อนุรักษ์ของบ้านเรา ก็อุดมสมบูรณ์ไม่น้อยไปจากนั้นเช่นกัน ในความหมายของความอุดมสมบูรณ์ ผืนป่า ณ แดนดินใต้สุดของสยาม แม้อาณาเขตจะไม่ไพศาลเหมือนอย่างแอมะซอน แต่ด้วยลักษณะทางภูมินิเวศก็ถือได้ว่ามีความเป็นป่าดิบชื้นแทบจะไม่ต่างกันมากนัก

แต่ที่สำคัญกว่านั้น (เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) ที่นี่ย่อมเป็นแหล่งรวมของสรรพชีวิตที่สำคัญหลายชนิดพันธุ์ อันเป็นตัวกำหนดความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศ ดังจะเห็นได้จากที่ฮาลา-บาลา ถือเป็นบ้านหลังใหญ่ของบรรดานกเงือกที่อาศัยอยู่ในไทย จากทั้งหมด 13 ชนิด เราสามารถพบเห็นในป่าแห่งนี้ได้ถึง 10 ชนิด ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว และหากอ้างอิงข้อมูลทางชีววิทยาของสัตว์ป่า นกเงือกเป็นสัตว์ที่ต้องอาศัยบ้านไม้ขนาดใหญ่เป็นที่ทำรัง หากไร้ซึ่งต้นไม้ใหญ่ นกเงือกก็คงอาศัยอยู่ไม่ได้ในผืนป่าแห่งนี้

ที่มากไปกว่านั้นนกเงือกยังเป็นนักปลูกป่าตัวยง ที่คอยกระจายเมล็ดพันธุ์ต่างๆ แบ่งปันพืชไพรที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตอีกนานานับไม่ถ้วน

ในความหมายของความสมบูรณ์ ฮาลา-บาลา นับเป็นผืนป่าอีกแห่งที่ ‘กระทิง’ สัตว์กีบขนาดใหญ่ สามารถใช้เป็นบ้านหาอยู่หากินได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้นยังรวมไปถึง ‘ชะนีดำใหญ่’ สัตว์จำพวกลิงที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ พบเห็นได้เพียงพื้นที่แหลมมลายูเท่านั้น ก็ยังได้ใช้ฮาลา-บาลาแห่งนี้เป็นที่หลบภัย และยังมีนกอีก 300 กว่าชนิดในจำนวน 1,000 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกกว่า 50 ชนิด ในเมืองไทย ทั้งหมดทั้งมวลนั้นรวมอยู่ในผืนป่าฮาลา-บาลา แห่งนี้แห่งเดียว

ด้วยความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งในที่นี่เรายังไม่ได้กล่าวถึงพืชพรรณธัญญาหารอื่นๆ ประกอบ อันถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ให้เราได้เรียนรู้อีกมาก แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยอะไรนัก หากจะสรุปรวบรัดไปในทีเดียวเลยว่าสัตว์ป่ามากมายที่สามารถอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ได้ ก็เพราะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการดำรงชีวิตนั่นเอง

ป่าที่ใหญ่แห่งทิวเขาสันกาลาคีรี มี “นกเงือก” เป็นอัญมณีล้ำค่า

 ป่าฮาลา-บาลา มีพื้นที่ทั้งหมด 391,689 ไร่ ประกอบไปด้วยผืนป่า 2 ผืน ได้แก่ ป่าฮาลา ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส และป่าบาลา ในพื้นที่ อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ทิวเขาสันกาลาคีรี โดยได้รับการจัดตั้งให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของไทยอย่างเป็นทางการในปี 2539 ซึ่งแม้ว่าป่าทั้ง 2 ผืนจะไม่ต่อเนื่องกัน แต่ก็ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเดียวกัน

สำหรับชนิดพันธุ์ของนกเงือกในทั่วโลก มีอยู่ทั้งหมด 54 ชนิด พบได้ในประเทศไทย 13 ชนิด และพบในป่าฮาลา-บาลาได้ถึง 10 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่พบนกเงือกได้เยอะที่สุดในประเทศไทย และสามารถชี้วัดได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0