โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ป่าร้องไห้ ย้อนเหตุการณ์ไฟป่าเผาแหล่งท่องเที่ยว คนทำ ธรรมชาติวอด

Manager Online

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 10.09 น. • MGR Online

Youtube :Travel MGR

จากเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวานนี้ (16 ก.พ. 63) ที่ได้เกิดไฟป่าลุกลามขึ้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย และได้ควบคุมไฟป่าได้แล้วเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2562 จนถึงต้นปี 2563 นี้ ได้เกิดกรณีไฟป่าขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้นเพลิงมักเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ที่ได้บุกรุกพื้นที่ป่าเข้าไปหาของป่า เก็บเห็ด และทำการเผาป่าเพื่อให้เห็นทางหรือเดินทางสะดวกมากขึ้น

โดยในพื้นที่ป่านั้นถึงแม้จะจุดไฟในบริเวณแคบ แต่หากไม่มีการเผาหรือดับให้ถูกวิธีไฟก็จะลุกลามอย่างรวดเร็วและยากต่อการดับไฟลง เพราะรอบๆ ป่านั้นจะมีทั้งหญ้า ใบไม้แห้ง ฯลฯ ที่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะช่วยโหมให้ไฟยิ่งลุกโชน บวกกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและมีลมแรงก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไฟลามเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ครั้งนี้จะขอพาย้อนเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นตามสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงปี 2562 ถึงปัจจุบันนี้

1. ขุนช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 62 ได้เกิดเหตุไฟป่าลุกไหม้บริเวณดอยห้วยม่วง บ้านม้งขุนช่างเคี่ยน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยไฟป่าได้ลุกลามอย่างรวดเร็วจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่วนสาเหตุนั้นคาดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าในครั้งนี้น่าจะมาจากผู้ลักลอบจุดไฟเพื่อการล่าสัตว์

และเนื่องจากสภาพพื้นที่นั้นเป็นป่าเขา ประกอบกับมีกิ่งไม้ ใบไม้แห้งเป็นจำนวนมากจึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีทำให้ไฟป่าลุกลามอย่างรวดเร็ว และต้องใช้เวลาในการดับไฟที่ลุกไหม้นานหลายชั่วโมง

2. ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่

ถัดมาอีกไม่กี่วันได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 62 โดยได้เกิดไฟไหม้ป่าบนดอยหลวง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งไฟได้เริ่มจากบ้านภูเลา-นาเลา ต.เชียงดาว จากนั้นลามขึ้นบนดอยสูงต่อเนื่อง ชาวบ้านในพื้นที่เห็นระบุว่ามีคนจุดไฟเผาบริเวณเชิงดอยหลวงจนลุกลามข้ามวันข้ามคืนแต่ก็ยังไม่สามารถตามจับตัวได้

หลังเกิดเหตุส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และหน่วยดับไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พร้อมชาวบ้านจิตอาสาในพื้นที่ ร่วม 300 คน ได้ระดมกำลังกันช่วยดับไฟป่า แต่เนื่องจากดอยหลวงไม่มีไฟป่าลุกไหม้มาหลายปี จึงสะสมใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิงไว้มาก เมื่อเกิดเพลิงไหม้จึงได้ลุกลามอย่างรวดเร็ว และเป็นดอยสูงยากที่จะมีคนขึ้นไปดับได้

3. ทุ่งกังหันลมเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

ในช่วงปลายปี 3 ธ.ค. 62 ได้เกิดเหตุการณ์ไฟป่าขึ้นที่บริเวณข้างไร่โอโซน ทุ่งกังหันลม ต.ทุ่งสมอ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งห่างจากจุดกางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวประมาณ 200-300 เมตร ซึ่งขณะนั้นลมพัดแรงมาก แต่โชคดีที่ลมได้พัดไปอีกทาง ไม่ใช่ทางที่เป็นจุดกางเต็นท์

เหตุการณ์นี้ใช้เวลาดับไฟประมาณ 2 ชั่วโมง เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดเพลิงไหม้ แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตรายจากการเกิดเพลิงไหม้ป่าในครั้งนี้

4. สะพานไม้เขาหล่น จ.นครนายก

เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นเมื่อต้นปีในวันที่ 23 ม.ค. 63 ที่เขาหล่น จุดท่องเที่ยวชุมชนบ้านเขาแดง อ.เมือง จ.นครนายก โดยเหตุการณ์เกิดในช่วงเที่ยงวัน เนื่องจากมีลมแรงและเป็นสถานทีท่องเที่ยวที่มีทุ่งหญ้ากับสะพานไม้ ทำให้ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนสาเหตุนั้นยังไม่ชัดว่าเกิดจากไฟป่าหรือฝีมือคน แต่จากเหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสะพานไม้ที่เป็นจุดไฮไลต์หลายจุด จึงต้องทำการปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

5. อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดไปเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63 ได้เกิดเหตุไฟป่าไหม้ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเรือ อ.ภูเรือ จ.เลย เปลวไฟได้ลุกลามอย่างรวดเร็วเข้าสู่พื้นที่ป่าสนรอบที่ทำการอุทยานฯ เนื่องจากลมพัดแรงตลอดเวลา และต้นสนเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้พื้นที่ป่าได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 100 ไร่

ซึ่งเหตุการณ์นี้คาดว่าเกิดจากฝีมือชาวบ้านที่เข้ามาเก็บหาของป่า เผาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตนเองเดินป่าได้ง่ายขึ้น

6. ภูกระดึง จ.เลย

ล่าสุดอีกครั้งใน จ.เลย กับเหตุการณ์ไฟป่าบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ในช่วงเช้าของวันที่ 16ก.พ.63 มีไฟป่าเกิดขึ้นบริเวณซำขอนแดง เจ้าหน้าที่กอ.ไฟป่าภูกระดึงร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จำนวน 10 นาย ออกปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่โดยจุดเกิดไฟป่าห่างจากขอบหน้าผาประมาณ 2 กม. แต่ด้วยสภาพความแห้งแล้งประกอบกับสภาพกระแสลมพัดแรงทำให้เกิดลูกไฟพัดลอยข้ามแนวกันไฟมาตกในพื้นที่บริเวณหลังแปห่างจากขอบหน้าผาประมาณ 400 เมตร บริเวณผาเมษา

ไฟได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็วตามแนวป่า และในที่สุดเวลา 02.00 น. ของวันนี้ (17 ก.พ. 63) ได้ควบคุมไฟป่าบนหลังแปยอดภูกระดึงได้แล้ว และได้ประเมินพื้นที่เสียหายรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,400 ไร่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้คุมเพลิงไฟป่าบนภูกระดึงได้แล้ว ทางอุทยานฯ ยังเปิดให้บริการท่องเที่ยวตามปกติ โดยฤดูการท่องเที่ยวจะเปิดไปถึงวันที่ 31 พ.ค. นี้

จากเหตุการณ์ที่ได้รวบรวมมาให้นี้ จะเห็นว่าสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจาก “ฝีมือของมนุษย์” เป็นสาเหตุหลัก ทำให้หลายสถานที่ท่องเที่ยวต้องปิดตัวลงเพื่อซ่อมแซม รวมถึงอุทยานแห่งชาติหลายแห่งก็ต้องสูญเสียทรัพยากรป่าอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วย

……………………………………………………………………………………….

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0