โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ป่วยโควิด เสียชีวิตรายที่ 7 ป่วยสะสม 1,388 คน กระจาย 59 จว.

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 11.16 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 10.25 น.

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2563 - ที่ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร ชั้น 9 อาคาร 7 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธ.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย , นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค , นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ประจำวันที่ 29 มี.ค.

โดย นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงขอบคุณพื้นที่โรงพยาบาลสงขลา , ปัตตานี , บ้านโป่ง ที่ให้ความร่วมมมือดีมากให้คนไข้รับยาใกล้บ้าน ลดความแออัดในโรงพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุขขอบคุณประชาชน-ภาคเอกชน-ดาราศิลปินที่ทยอยบริจาคเงิน พร้อมทั้งนำอาหาร-ขนม ให้โรงพยาบาลเพื่อช่วยจัดหาอุปกรณ์ป้องกันกับแพทย์ และกำลังใจกับหมอและบุคลาการทางแพทย์ 16 แห่ง เช่น สสจ.อุตรดิตถ์ พังงา อุบลราชธานี หนองคาย นครพนม ฉะเชิงเทรา เป็นต้น รวมทั้งขอบคุณทั้งภาครัฐ - เอกชน-ภาคประชาสังคม ร่วมกันเป็นทีมไทยแลนด์ช่วยกันหยุดยั้งโควิด-19 กับหมอ พยาบาลที่เป็นแนวหน้า และ อสม.ที่ร่วมรายงานสถานการณ์ทั่วประเทศอย่างเข้มแข็ง ถือว่าเป็นบุคคลากรชั้นยอด แต่ทีมไทยแลนด์นี้จะสมบูรณ์ได้ต้องขอให้พี่น้องคนไทยร่วมภารกิจนี้ด้วยการหยุดอยู่บ้านเพื่อป้องกันตนเองและคนที่เรารักไม่ออกไปแพร่กระจายเชื้อ

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อขยับ 663,740 ราย เสียชีวิตขยับมาที่ 30,874 ราย สะท้อนให้เห็นว่าเชื้อยังคงแพร่กระจายทั่วโลก ส่วนสถานการณ์รายประเทศที่น่าสนใจ คือกลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเกิน 5,000 ราย/วัน ก็มี 5 ประเทศ ได้แก่สหรัฐอเมริกา , สเปน , เยอรมันนี , อิตาลี , ฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศฝั่งยุโรป ส่วนกลุ่มประเทศฝั่งตะวันออกตัวเลขก็ไม่เข้าสู่สถานการณ์รุนแรงมาก เพราะระมัดระวังงดการเข้าไปในที่ชุมชน

ขณะที่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงตัวเลขในไทยว่า พบเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ซึ่งเป็นชายไทยอายุ 68 ปีมีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบและภาวะวิกฤตระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่ รพ.พระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้รวมเสียชีวิต 7 ราย ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อวันนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้น 143 คน รวมจำนวนผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1,388 คน ซึ่งมีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกลับบ้านได้ 111 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,270 ราย โดยมีอาการหนัก 17 ราย มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ซึ่ง 1 ในจำนวนนี้ใช้เครื่อง ECMO

อย่างไรก็ดีลักษณะกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจพบในประเทศ ส่วนใหญ่อายุ 20-59 ปี ที่มีอาการไม่เยอะ ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเจอค่อนข้างจำนวนน้อย โดยในกลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปีไม่มีการเสียชีวิตเลย , อายุ 10-39 ปีอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำมาก ประมาณ 0.2% โดยอัตราเสียชีวิตจะมีเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น 50-59 ปี อัตราเสียชีวิต 1.3% , อายุ 60 ปี ก็ 3.6% , อายุ 70-79 ปีประมาณ 8% , อายุ 80 ปี ประมาณ 14.8% ตัวเลขเหล่านี้จะตอบในหลายๆ คำถามว่าทำไมเราจำเป็นต้องขอความร่วมมือกลุ่มผู้สูงอายุพักอยู่กับบ้าน

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 143 รายนั้นแบ่งเป็น 1.กลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยมีจำนวน 70 ราย โดยสัมผัสกับกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อสนามมวย 5 ราย , สถานบันเทิง 15 ราย , สัมผัสกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย , ผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทย (16 ราย) และต่างชาติ (6 ราย) 22 ราย , กลุ่มทำงาน/อาศัยและเดินทางไปในสถานที่ต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 6 ราย , กลุ่มบุคลากรทางแพทย์ 8 ราย และกลุ่มอื่นๆตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย ซึ่งสำหรับบุคลากรทางแพทย์ 6 คนนั้นพบว่าติดจากผู้ป่วย ส่วน 2 คนนั้นคนหนึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าติดจากผู้ป่วย แต่อีกคนจากประวัติยังสอบสวนโรคต่อไปเพราะยังไม่ชัดเจนว่าได้รับเชื้อจากไหน อย่างไรดีส่วนบุคลากรทางแพทย์นี้ถือว่าสำคัญส่าติดมาจากไหน คือหากติดรู้ตัวช้าแล้วเขาได้หยุดพักหรือไม่ หากช่วงรับเชื้อเขาได้ไปดูแลผู้ป่วย อาจจะมีเรื่องตรวจสอบมีผู้สัมผัสอีกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหากระหว่างได้รับเชื้อแล้วไปดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยสูงอายุ อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้

นพ.ธนรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังอธิบายแผนที่แสดงการแพร่กระจายหลายจังหวัดว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย กระจายอยู่ใน 59 จังหวัด มีเพียง 10 กว่าจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วย โดยประเด็นที่สำคัญคือการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน วิธีคิดและการจัดการรับมือสถานการณ์จึงต่างกัน 1.กลุ่มจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ป่วยจะดำเนินมาตรการเหมือนในพื้นที่ กทม. ช่วงต้นเดือน ม.ค.คือผู้ป่วยจะเดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่จะทำคือเฝ้าระวังคนเดินทางมาในพื้นที่ และติดตามอาการของคนที่เข้ามาให้ได้ 14 วัน และ 2.กลุ่มจังหวัดที่ยังมีผู้ป่วยจำนวนน้อย เช่น 1-3 คน ที่เป็นผู้เดินทางมาพื้นที่อื่น

"ยุทธศาสตร์การพยายามยุติโรคให้เร็วเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกรมควบคุมโรค เราต้องการให้มีจังหวัดปลอดผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นหน้าที่ทั้งของฝั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนควบคุมโรคเมื่อมีรายงานผู้ป่วยเข้ามา และเรายังต้องการความร่วมมือจากอาสาสมัคร (อสม.) สาธารณสุข ภาคปกครองที่จะคอยติดตามว่ามีผู้เดินทางเข้าในจังหวัดหรือไม่และคอยติดตามอาการไป 14 วัน ตรงนี้สำคัญมาก ยิ่งเรามีจังหวัดที่ปลอดผู้ป่วยมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้การควบคุมโรคในจังหวัดใกล้เคียงสามารถทำได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

3.กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากจำนวนหนึ่งแต่ยังไม่แพร่ไปในวงกว้าง เช่น จ.สุรินทร์ , จ.อุดรธานี , จ.กาญจนบุรี , จ.บุรีรัมย์ , จ.นครราชสีมา ต้องเน้นหนักใน 2 เรื่องที่สำคัญ การตรวจจับผู้ป่วยให้ได้โดยเร็วแล้วลงไปสอบสวนโรค และมาตรการเชิงสังคมที่จะเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลมากขึ้น ให้พบปะในที่สาธารณะน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ 4.กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยเพียง 1 คนหรือน้อยกว่า 1 คน หรือไม่มีเลย และ 5.กลุ่ม 4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันและความจำเป็นที่จะดำเนินมาตรการแตกต่างกัน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการประเมินชุดทดสอบ Rapid test แบบตรวจภูมิคุ้มกันว่า จากที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการประเมินและการอนุญาตให้นำเข้าชุดทดสอบโควิดเข้ามานั้นมี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแล คือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งการตรวจผู้ป่วยติดเชื้อโควิดมีด้วยกัน 3 แบบคือ 1.การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ซึ่งตรวจแบบหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประเมินผ่านไปแล้ว 16 ตัวอย่าง และ อย.ได้อนุญาตแล้ว ดังนั้นขอให้แน่ใจว่าทั้งการตรวจภาครัฐและภาคเอกชนมีบริษัทที่นำเข้าอย่างเพียงพอ

2.การตรวจแบบเร็ว ด้วยชุด Rapid test ที่ตรวจหาภูมิคุ้มกัน Antibody แต่จะวินิจฉัยได้เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว 10 วัน ส่วนนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญ ดำเนินการตรวจประเมิน 3.การตรวจหา Antigen ซึ่งขณะนี้มีสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลเอกชน มีความสนใจที่จะนำชุดทดสอบต่างๆ เข้ามา ก็จะเป็นหน้าที่ของ อย.จะเป็นผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ต่อไป

ทั้งนี้สำหรับชุดทดสอบที่ให้ประเมินเพื่อให้สถานพยาบาลภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ สามารถใช้ชุดทดสอบในภาคการผลิตของเอกชนมาใช้ได้ ในสถานการณ์เร่งด่วนนี้เราใช้ประเมินจากเอกสารวิชาการประมาณ 7 วันซึ่งปกติการประเมินชุดทดสอบจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนตัวที่เป็นปัญหาตามข่าวคือ ชุดตัวตรวจ Rapid test ชนิดหา Antigen ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกอยากได้ เพราะการตรวจแบบปกติต้องใช้เวลาในห้องปฏิบัติการ 3-5 ชั่วโมง แต่หากมีชุดทดสอบแบบไวที่ตรวจ Antigen ได้ภายใน 1 ชั่วโมงจะเป็น ประโยชน์มหาศาลในการควบคุมโรค เนื่องจากชุดทดสอบแบบนี้เพิ่งมีการผลิตออกมาใหม่ ดังนั้นวิธีการและความแม่นยำในการใช้ยังต้องติดตามอีกระยะหนึ่ง เช่น ที่เป็นข่าวประเทศสเปนนำชุดทดสอบเช่นนี้ เข้ามาใช้แล้วเกิดปัญหา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเราใช้วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ซึ่งเราก็มีชุดทดสอบที่ผลิตขึ้นเอง ไม่ได้สั่งซื้อชุดทดสอบสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยมีแผนผลิตชุดทดสอบของเราเองเพิ่มขึ้นด้วยจึงยืนยันได้ว่าชุดทดสอบที่เป็นมาตรฐานในหลักวินิจฉัยมีจำนวนเพียงพอ ส่วนการทดสอบด้วยชุด Rapid test แบบตรวจภูมิคุ้มกัน Antibody ที่มีเสียงเรียกร้องให้นำมาตรวจคนไทยนั้น ต้องเรียนว่าชุดทดสอบภูมิคุ้มกันเหมาะกับบางสถานการณ์เท่านั้นเพราะต้องรอผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 10 วันจึงจะเริ่มวินิจฉัยได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดและไวที่สุดจึงเป็นการตรวจแบบหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัส วิธีมาตรฐานที่ WHO ให้การยอมรับ โดยการตรวจลักษณะนี้ ยืนยันว่ายังมีน้ำยาเพียงพอในการตรวจ โดยในรอบวันมีคนมาตรวจด้วยวิธีนี้ประมาณ 3,000 ราย/วัน จากห้องปฏิบัติทั้งหมด 60 ห้องเรามีน้ำยาสำหรับตรวจ อยู่ประมาณ 100,000 test จึงไม่ต้องกังวล

ส่วนที่กังวลมีอ้างว่ามีนักการเมือง เข้ามาสั่งการในการประเมินนั้น ตนเชื่อมั่นและยืนยันในความโปร่งใส ในความเป็นมืออาชีพของคณะกรรมการประเมินฯ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และอย.ร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ สั่งการว่าหากเขาทำถูกต้อง ก็ต้องทำให้เร็วเร่งอนุญาตคนถูก แต่หากไม่ถูกต้อง ไม่ผ่านก็ต้องไม่อนุมัติ ซึ่งเรายึดถือปฏิบัติและสอดคล้องกับหลักวิชาการ ขณะเดียวกันรองนายกฯก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ อย.ยินดีที่จะให้ข้อมูลเอกสารและบุคคลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความเชื่อมั่นของประชาชน

ขณะที่ ดร.บุษนาวรรณ ศรีวรรธนะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจประเมินชุดทดสอบที่จะอนุญาตให้นำเข้ามา อธิบายถึงหลักเกณฑ์การประเมินว่า ในคณะกรรมการตรวจประเมินฯ จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องตัวไวรัส-ภูมิคุ้มกัน ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกและเภสัชกร จะไม่มีผู้บริหารเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการฯ สรุปหลักเกณฑ์ตามหลักวิชาการคือ ชุดตรวจสอบแบบตรวจหาภูมิคุ้มกัน Antibody และแบบ Antigen จะดูเรื่องความไวของการตรวจ (Sense) และความจำเพาะ (Spec) คือ คนที่บวกต้องได้บวก คนที่ลบต้องตรวจเป็นลบ ส่วนปฏิกริยาข้ามกลุ่ม ต้องไม่เกิดผลปลอมกับเชื้อชนิดอื่น ซึ่งหลังจากกำหนดเกณฑ์แล้วได้แจ้งให้ผู้ประกอบการส่งเอกสารเข้ามาประเมิน โดยดูจากเอกสารทางวิชาการที่ต้องสอดคล้องกับทาง อย.ยอมรับ เหตุที่เราจะต้องประเมินจากเอกสารวิชาการเพราะเชื้อตัวนี้เป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยมีประเทศใดๆ ตั้งเกณฑ์ออกมา เราจึงตั้งเกณฑ์ตามหลักวิชาการที่เราเคยเรียนรู้จากไวรัสอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการส่งมาให้ประเมินแบบเป็น 3 รอบ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยรอบแรกวันที่ 20 มี.ค. มียื่น 20 คำขอ ผ่านการประเมิน 6 ราย , รอบที่สอง วันที่ 25 มี.ค.มียื่น 18 คำขอ ผ่านการประเมิน 3 คำขอ , รอบที่สาม วันที่ 27 มี.ค.มียื่น 10 คำขอ แต่ไม่มีคำขอใดๆ ที่ผ่านการประเมินเลย ทั้งนี้ในการพิจารณาต้องผ่านเกณฑ์ทั้งหมดเรื่องของความแม่นยำ เสถียรของชุดทดสอบ ขณะที่ก็มีทั้ผ่านแบบมีเงื่อนไข คือเอกสารไม่เรียบร้อยอาจมีที่เขียนผิดเล็กน้อย ก็ให้ปรับแก้แล้วให้นำเอกสารที่แก้ไขแล้วอย่างถูกต้องไปยื่นที่ อย.ภายใน 20 วันทำการ ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความจำเพาะไม่ผ่านตามเกณฑ์ หรือเอกสารไม่ครบถ้วน ก็จะแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบเพื่อไปปรับปรุง โดยผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะยื่นกลับมาให้พิจารณาใหม่ภายใน 30 วันทำการ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบางบริษัทจึงได้การตอบรับผลก่อน หรือได้รับผลหลังนั้น ขอชี้แจงให้ทราบว่าเราประเมินตามเอกสารที่ยื่นเข้ามาตามลำดับ โดยคณะกรรมการประเมินจะใช้เวลาพิจารณา 7 วัน

ด้านนพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาฯ อย. กล่าวถึงกรณีประเทศสเปนนำชุดทดสอบไปใช้แล้วเกิดปัญหาว่า อย. ได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง 3 ด้าน คือ 1.ผลประเมินจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.หลังจากประเมินแล้ว อย.ก็จะตรวจสอบการออกหนังสือรับรองการขายจากผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ 3.การตรวจดูแคตตาล็อกตรงกับสิ่งที่ได้มีการประเมิน เมื่อได้ดำเนินการครบทั้ง 3 ด้านแล้ว อย.จึงจะอนุญาตนำเข้าได้ โดยที่ผ่านมามีเพียงผู้ประกอบการ 2 รายเท่านั้นที่ได้อนุญาตให้นำเข้าชุดทดสอบประเภท Antibody 3 ผลิตภัณฑ์ และประเภท Antigen 3 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่หลังจากเกิดเหตุปัญหาในประเทศสเปนก็มีบริษัทหนึ่งยกเลิกการนำเข้าที่ได้เคยอนุญาตไปแล้ว ส่วนอีก 1 บริษัทกำลังขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทที่ผลิตและประเทศต้นทางข้อมูลที่ให้มานั้นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดีแม้มีการอนุญาตแล้ว อย.ก็ยังดำเนินการติดตามพร้อมกับรายงานผลต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่าในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์ตามที่เป็นข่าวนำเข้ามาในประเทศเลย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0