โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ปิยบุตร" ชำแหละถวายสัตย์ไม่ครบ โรคไม่แยแส รธน.-บิดาแห่งข้อยกเว้น คำตอบจาก "ประยุทธ์" คือ "ไม่ตอบ"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 23.14 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 23.14 น.
ปิยบุตร-แสงกนกกุล

7 พรรรคฝ่ายค้านเปิดศึกอภิปรายทั่วไปกรณีที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แบบไม่ลงมติไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน ก่อนปิดสมัยประชุมสภาสามัญ

โดย “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) อภิปรายฉายภาพรวมประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกฯ ได้อย่างครบถ้วนว่า

ความสำคัญของการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่นั้น ได้แก่

1. การถวายสัตย์ของ ครม.เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว จะรับหน้าที่ได้ต่อเมื่อมีการถวายสัตย์ การถวายสัตย์จึงเป็นแบบพิธีสำคัญ เป็นเงื่อนไขบังคับ ที่กำหนดแบบนี้เพราะจะได้มีเส้นแบ่งให้ชัดว่า ครม.ชุดที่แล้วจะสิ้นสุดการรักษาการลงเมื่อไหร่ และ ครม.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่วันไหน

2. การถวายสัตย์คือการยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ถ้อยคำ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิญาณเพื่อยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะอยู่ภายใต้ เคารพ รักษา และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

3. การถวายสัตย์ของ ครม.เป็นการให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์และประชาชน โดยเหตุผลที่ต้องเขียนถ้อยคำถวายสัตย์ลงไป ก็เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอเหมือนกัน อีกทั้งเพื่อทำให้ผู้ถวายสัตย์รู้ตัวล่วงหน้าว่าตัวเองจะให้คำสัตย์ว่าอะไร

ถ้ารู้ว่าชีวิตนี้ท่านปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้ารู้อยู่แล้วว่าอีกไม่กี่เดือนท่านจะละเมิดหรือฉีกรัฐธรรมนูญอีก อย่ามาเป็นรัฐมนตรี จะได้ไม่ต้องถวายสัตย์

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้ความเป็นธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อย้อนไปดู ครม.ประยุทธ์ 1 ท่านมีโอกาสนำรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 5 ครั้ง ทุกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวนำถวายสัตย์ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดย 4 ครั้งแรกกล่าวตามรัฐธรรมนูญ 2557 และครั้งที่ 5 กล่าวตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 161

นอกจากนั้น ยังสังเกตได้ว่าทุกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์อ่านถ้อยคำถวายสัตย์จากบัตรแข็งซึ่งเสียบไว้ในแฟ้มสีน้ำเงินที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เตรียมไว้ให้ แต่ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 กลับปรากฏว่านายกฯ กล่าวถ้อยคำไม่ครบและไม่ได้มาจากเอกสารบัตรแข็งที่ สลค.เตรียมไว้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้หยิบกระดาษแข็งขึ้นมาจากกระเป๋าด้านข้างของเสื้อ

จึงไม่แน่ใจว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สะกิดเตือนนายกฯ หรือไม่ ว่าควรต้องกล่าวให้ครบ เพราะดีไม่ดีจะกลายเป็นเรื่อง ต้องเปิดเทปส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วจะยุ่งกันใหญ่

ตามที่นายวิษณุเขียนไว้ในหนังสือหลังม่านการเมือง หน้า 50-51

 

เมื่อข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดว่านายกฯ กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบ ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีปัญหานี้ แต่ขณะนี้มีความเห็น 2 ทาง

ทางหนึ่งยืนยันว่า ในเมื่อการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ก็ทำให้การถวายสัตย์ไม่สมบูรณ์ เสมือนไม่มีการถวายสัตย์ เท่ากับ ครม.เข้ารับหน้าที่ไม่ได้ การใช้อำนาจต่างๆ จึงไม่มีผลในทางกฎหมาย

ส่วนความเห็นอีกทางบอกว่า ครม.เข้ารับหน้าที่ได้ เพราะมีการถวายสัตย์เกิดขึ้นจริง เพียงแค่กล่าวไม่ครบ ครม.ต้องไปหาทางเยียวยาแก้ไขต่อไป

แต่ไม่ว่าเราจะเห็นอย่างไร การปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังโดยไม่จัดการ จะส่งผลประหลาดในอนาคต

เช่น หากนายกฯ มีโอกาสนำรัฐมนตรีคนใหม่เข้าถวายสัตย์อีกครั้ง นายกฯ จะกล่าวไม่ครบหรือตัดเสริมเติมแต่งก็ได้อย่างนั้นหรือ

ขณะเดียวกัน “ปิยบุตร” ยังอภิปรายด้วยว่า การถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนเป็นส่วนหนึ่งในอาการของโรคที่ให้ชื่อว่า “โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ” สะท้อนให้ประชาชนเห็นว่านายกฯ ไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบ จึงเป็นธรรมดาที่จะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่านายกฯ จะเข้ารับหน้าที่โดยไม่รักษาไว้และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของนายกฯ ที่ไม่ยึดมั่นรัฐธรรมนูญ มองรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองตามระบอบของท่าน

เรื่องใดก็ตามที่อ้างรัฐธรรมนูญแล้วได้ประโยชน์ ก็อ้าง แต่หากรัฐธรรมนูญมาจำกัดอำนาจหรือตีกรอบก็ไม่อ้าง

จริงอยู่ที่วันนี้ท่านเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่สังคมก็รับรู้ดีว่าก่อนหน้านั้นท่านเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทำอะไรหลายอย่างที่ไม่แยแสรัฐธรรมนูญ

พฤติกรรมนี้ทำให้เห็นว่าท่านมองรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแหล่งที่มาของอำนาจ

อยากเตือนสติว่าท่านเป็นนายกฯ คนใหม่ที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น ต้องเคารพรัฐธรรมนูญ พฤติกรรมที่เคยชินเคยใช้ในอดีต ขอให้ยุติลง ในทางปรัชญาการเมืองมีตำแหน่งหนึ่งที่เรียกว่าองค์อธิปัตย์ ซึ่งท่านเคยเป็นมาแล้ว และบอกว่าตัวเองอยู่เหนือ 3 อำนาจ องค์อธิปัตย์คือคนที่บอกได้ว่าอะไรคือข้อยกเว้น

ณ วันนี้ นายกฯ และรองนายกฯ มักมีเหตุผลอธิบายให้พวกท่านได้เป็นข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญเสมอ ในขณะที่คนอื่นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จนสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียเริ่มตั้งฉายาให้ท่านว่าเป็น “บิดาแห่งข้อยกเว้น”

การถวายสัตย์ไม่ครบยังเป็นอาการของอีกโรค คือโรคไม่รับผิดชอบ ขาดความเป็นผู้นำ เพราะภายหลังประเด็นนี้ถูกเปิดเผย พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมายอมรับ ขอโทษต่อ ครม. และประกาศขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ซึ่งต้องถามว่ารับผิดชอบอย่างไร

ก่อนที่ “ปิยบุตร” จะฝากคำถามที่ “บิ๊กตู่” และ “วิษณุ” จะต้องตอบไว้ว่า คำถามต่อนายกฯ คือ

1. นายกฯ ได้อ่านคำถวายสัตย์ที่เตรียมมาเองใช่หรือไม่ เหตุใดไม่อ่านจากกระดาษแข็งในแฟ้มสีน้ำเงินที่ สลค.เตรียมให้

2. หากมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลาออก ท่านตั้งคนใหม่มาเป็นรัฐมนตรีแทน ท่านจะนำถวายสัตย์ปฏิญาณอย่างไร

3. ขอถามนายกฯ และนายวิษณุว่า หากนายกฯ คนต่อไปมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ แล้วกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ท่านเห็นว่าสามารถทำได้หรือไม่

และ 4. ขอถามนายวิษณุ ที่ทำงานในทำเนียบรัฐบาลเกือบ 2 ทศวรรษ ท่านเคยเห็นนายกฯ คนใดทำแบบ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

ส่วนทางออกเรื่องนี้ “ปิยบุตร” เสนอแนะว่า ขอเสนอให้นายกฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายสัตย์ใหม่อีกครั้งให้ครบถ้วน ส่วนการกระทำต่างๆ ที่ได้ทำไปแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีมติ ครม.อีกครั้งเพื่อชุบชีวิตรับรองมันให้สมบูรณ์ทั้งหมด

นอกจากนั้น ขอเรียกร้องให้นายวิษณุกลับมาเป็นนายวิษณุคนเดิม ยุติการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายกฯ ออกจากเรือแป๊ะมาอยู่ในเรือยุติธรรม อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงในวันที่ 16 กรกฎาคม แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ ท่านได้ทำลายความเชื่อถือของประชาชนลงไปหมดสิ้น ไม่ต้องการทั้ง พล.อ.ประยุทธ์คนเก่าและคนใหม่ ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

 

แม้จะมีคำถามและข้อเสนอจากนายปิยบุตรยาวเหยียด

แต่ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกใช้ยุทธวิธี ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว นั่นคือ ไม่ตอบประเด็นเรื่องปมถวายสัตย์ จะชี้แจงเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นภาพกว้างๆ ไม่ได้ตั้งใจจะใช้เวทีสภาในการตอบคำถาม

โดยปมถวายสัตย์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวนอกสภาว่า “เป็นสิทธิที่จะไม่ตอบ” และได้มอบให้นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้ตอบแทน ซึ่งก็ดูจะไม่ได้ทำให้เกิดความกระจ่างอะไรนัก ตรงกันข้ามกลับเกิดคำถามซ้ำหนักขึ้นไปอีก

ดังที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายสรุปว่า รัฐบาลทำให้ผิดหวัง เสียใจ เพราะนอกจากจะไม่ตอบแล้ว ยังบอกว่าเป็นสิทธิที่จะไม่ตอบ ขณะที่นายวิษณุก็ทำให้ผิดหวังและเสียใจเช่นกัน เพราะพยายามอธิบายให้คนเข้าใจว่าคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นปัญหา

“พล.อ.ประยุทธ์ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ถือเป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าเป็นการกระทำของอดีตนายกฯ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร คงแหลกเป็นจุณ วันนี้กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลนี้ทำอะไรก็ไม่ผิด แต่อีกฝั่งทำอะไรก็ผิด เมื่อสังคมเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดบาดแผล แล้วความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

เป็นบทสรุปที่ดูเหมือนจบ แต่ไม่จบ และคงเป็นปมการเมืองที่จะทำให้การเมืองร้อนฉ่าต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0