โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปิด“อ่าวมาหยา” 2 ปี สวรรค์อันดามันฟื้นตัว สุดทึ่งปรากฏการณ์ฉลามหูดำ

Manager Online

เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 07.18 น. • MGR Online

ครบ 2 ปี ปิดอ่าวมาหยา สวรรค์อันดามันทยอยฟื้นตัว ธรรมชาติร่วมสร้างปรากฏการณ์ชวนทึ่งส่งสัตว์ทะเลมากหน้าหลายตาเข้ามาในอ่าว โดยเฉพาะสัตว์หายากฝูงฉลามหูดำเกือบ 100 ตัว ยืนยันประสิทธิผลของการปิดอ่าวมาหยา

1 มิถุนายน 2561 เป็นวันที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ได้ประกาศปิด“อ่าวมาหยา” (และอ่าวโล๊ะซามะ) ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวหรือกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ธรรมชาติพักฟื้นตัว ซึ่งแม้จะมีผู้สูญเสียผลประโยชน์บางส่วนคัดค้าน แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสของคนไทยส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยกับการปิดอ่าวดังกล่าว

แล้วทำไม ? ถึงต้องปิดอ่าวมาหยา ทั้ง ๆ ที่อ่าวแห่งนี้ยังคงเดินหน้าสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ !?!

สวรรค์ป่วย จึงต้องปิด !

อ่าวมาหยา ตั้งอยู่ที่เกาะพีพีเล แห่งหมู่เกาะพีพี (มี 2 เกาะใหญ่สำคัญคือ เกาะพีพีเลและพีพีดอน) อยู่ภายใต้การดูแลของ “อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี” จังหวัดกระบี่

อ่าวมาหยา มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวเล็ก ๆ ที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อม มีหาดทรายทอดตัวโค้งงาม พื้นทรายละเอียดยิบขาวเนียน น้ำทะเลสวยใสดุจดังสระว่ายน้ำธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน จนอ่าวมาหยาถูกยกให้เป็น “สวรรค์แห่งอันดามัน”

นอกจากมนต์เสน่ห์ความงามที่เป็นชื่อเสียงดึงดูด เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อ่าวมาหยาเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “เดอะบีช” (The Beach) ก่อนออกฉายเมื่อปี 2543 ซึ่งทำให้อ่าวแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังระบือไกลมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันอ่าวมาหยาเป็นทะเลไทยอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหมายปอง ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของทุกปี แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 3-4 พันคน เดินทางสู่อ่าวมาหยา ขึ้นไปเหยียบอัดแน่นกันบนพื้นที่เล็ก ๆ ของอ่าวชื่อดังแห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่อ่าวมาหยามีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้เพียงแค่ 375 คน/วัน เท่านั้น (ข้อมูลจาก อส.)

เมื่อมีคนมาเที่ยวอ่าวมาหยาจนล้นทะลักเกินพอดีไปมาก ทำให้อ่าวมาหยามีสภาพเสื่อมโทรม หาดทรายที่เต็มแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทำให้หาดทรายทรุดตัว มีขยะเกลื่อนกลาด น้ำทะเลแม้เบื้องบนสวยใส แต่เบื้องล่างกลับขุ่นมัว โลกใต้ทะเลแนวการังเสียหายพังยับจากการถูกเหยียบย่ำและการเจาะกระแทกของสมอเรือ

อ่าวมาหยามีสภาพแบบนี้มายาวนานนับสิบปี จนเกิดอาการป่วยไข้สะสมเรื่อยมา ก่อนจะเข้าสู่สภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนกรมอุทยานฯ ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ต้องประกาศปิดเกาะฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูให้สภาพธรรมชาติของอ่าวทั้งบนบกและใต้น้ำค่อย ๆ ฟื้นคืนชีวิตกลับมาสมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง

ธรรมชาติส่งสัญญาณ

การปิดอ่าวมาหยา เบื้องต้น กรมอุทยานฯ ได้กำหนดปิดอ่าวเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบจากการท่องเที่ยว และก็ไม่ได้เป็นการปิดตายอ่าวมาหยา แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำนักท่องเที่ยวมาลอยเรือชมความงามของอ่าวมาหยาจากภายนอกในจุดที่กำหนดโดยมีทุ่นไข่ปลาเป็นแนวกั้น

อย่างไรก็ดีหลังการปิดอ่าวมาหยาได้ไม่นาน เหมือนกับว่าธรรมชาติได้ส่งสัญญาณบางอย่าง เมื่อ “ฉลามหูดำ” สัตว์หายากที่หายจากอ่าวมาหยาไปนาน ได้เข้ามาแหวกว่ายหาอาหารในอ่าวแห่งนี้ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีฉลาม และฉลามหูดำเข้ามาในพื้นที่อ่าวมาหยาอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงทำให้ทีมนักวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้ เสนอให้มีการปิดอ่าวมาหยาต่อไปเพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อันนำมาสู่แผนการปิดอ่าวมาหยาแบบไม่ให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว ซึ่ง ณ ตอนนี้กำหนดเวลาปิดอ่าวไว้ 3 ปี (มิ.ย.61-พ.ค.64)

ฟื้นฟูสู่อ่าวมาหยาโฉมใหม่

หลังปิดอ่าวมาหยา ทางกรมอุทยานฯ ได้จับมือกับหลายหน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนฟื้นฟูต่าง ๆ อาทิ

การปิดน่านน้ำด้วยการติดตั้งทุ่นไข่ปลา พร้อมธงสัญญาญเตือนห้ามเข้าอย่างชัดเจน, จับมือกับคนในพื้นที่และอาสาสมัครดำเนินการ Big Cleaning ขนานใหญ่ ทั้งทำความสะอาดอ่าว เก็บขยะบนบกและใต้ท้องทะเล ทำความสะอาดแนวปะการัง

หลังจากนั้นก็ได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวฟื้นฟูสภาพป่าชายหาด ซึ่งมีทั้งพืชที่เคยมีอยู่แล้วบนเกาะ และพืชบางชนิดที่ช่วยเกาะยึดหน้าดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของเนินทราย

ขณะที่การฟื้นฟูโลกใต้ทะเลก็ได้ทำการปลูกและฟื้นฟูแนวปะการัง เนื่องจากปะการังจำนวนมากบริเวณอ่าวมาหยา เสียหายยับเยิน (โดยเฉพาะทางฝั่งซ้าย) รวมถึงมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ เพื่อสำรวจระบบนิเวศของอ่าวมาหยา ซึ่งก็ทำให้ได้พบกับสัตว์ทะเลหลากหลายมาปรากฏกายอยู่ในบริเวณอ่าวมาหยาแห่งนี้

นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังทำการสร้างท่าเทียบเรือเพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวที่อ่าวโล๊ะซามะ ซึ่งเป็นบริเวณหลังอ่าวมาหยา พร้อมทั้งเส้นทางเดินจากท่าเทียบเรือเชื่อมต่อไปยังอ่าวมาหยา เพื่อป้องกันไม่ให้เรือไปจอดเทียบท่าที่หน้าอ่าวแล้วส่งผลกระทบต่อธรรมชาติเหมือนช่วงก่อนปิดอ่าว อีกทั้งยังมีแผนการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหลังอ่าวมาหยากลับมาเปิดอีกครั้ง

2 ปี ปิดอ่าวมาหยา

หลังการปิดอ่าวมาหยา ทำให้ไม่มีกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เข้ามาบริเวณอ่าวแห่งนี้ ทำให้ธรรมชาติที่เคยเสื่อมโทรมค่อย ๆ ฟื้นตัว พืชพันธุ์ป่าชายหาดขยายตัว ผักบุ้งทะเลเกิดขึ้นมาเองบนชายหาด ซึ่งมันเป็นพืชที่ช่วยยึดเกาะและป้องกันการพังทลายของแนวหาดทราย

น้ำทะเลกลับมาสวยใส หาดทรายสะอาด สงบ สวยงาม ปะการังใต้ทะเลฟื้นตัวทยอยกันเติบโต ที่สำคัญคือเมื่ออ่าวมาหยาไม่มีมนุษย์รบกวน บรรดาสัตว์ทะเลต่าง ๆ ก็พากันเริงร่า แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงอีกครั้ง

สัตว์หลายชนิดหลังจากหนีมนุษย์ห่างหายไม่พบที่อ่าวมาหยามานานก็ทยอยกลับคืนสู่อ่าวอันงดงามแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น

-ปูลม ปูทหาร (ปูปั้นทราย) และปูเสฉวนบก พากันปรากฏโฉม ต่างจากเมื่อครั้งที่มีนักท่องเที่ยวคลาคล่ำบนชายหาดซึ่งแทบจะไม่เคยพบปูเหล่านี้เลย

-ปูไก่ สัตว์หายากที่หายตัวจากอ่าวมาหยาไปนาน กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งนับสิบตัว บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของสถนที่แห่งนี้หลังการปิดเกาะฟื้นฟู

-ปลาการ์ตูนส้มขาว เจ้านีโมน้อยผู้น่ารัก ปลาชนิดนี้ไม่ปรากฏที่อ่าวมาหยาในช่วงที่เปิดการท่องเที่ยว เพราะดอกไม้ทะเลที่เป็นบ้านของเจ้านีโมน้อย ถูกใบพัดเรือพัดปลิวกระจาย แต่เมื่อปิดอ่าว ดอกไม้ทะเลเติบโตไม่ถูกทำลาย เจ้านีโมก็ว่ายเข้ามาอยู่อาศัยในกอดอกไม้ทะเล บ้านหลังใหม่ของมันที่อ่าวมาหยา

-ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจแห่งท้องทะเล 1 ในสัตว์สงวนของไทยก็มาแหวกว่ายอวดโฉมบริเวณใกล้อ่าวมาหยา สร้างความฮือฮาให้ผู้พบเห็น แถมยังเป็นฉลามวาฬตัวใหญ่ยาวกว่า 5 เมตร คาดว่ามีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2 ตัน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งผลพวงจากการปิดอ่าวมาหยา

-ฉลามหูดำ สัตว์ทะเลหายาก ที่สร้างปรากฏการณ์อันน่าทึ่งให้กับอ่าวมาหยามากที่สุด เนื่องจากมีรายงานการพบฉลามหูดำมาแหวกว่ายที่อ่าวมาหยาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ 6 ตัว เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 61 จากนั้นท้องทะเลอ่าวมาหยาก็มีฉลามหูดำเข้ามาแหวกว่ายปรากฏเป็นข่าวอย่างเนื่อง จาก 20 ตัว 60 ตัว ไปจนถึงเกือบ 100 ตัว

นอกจากนี้แม่ฉลามยังได้เลือกอ่าวมาหยาคลอดลูกอีกหลายครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าหลังปิดอ่าวฟื้นฟู ระบบนิเวศที่อ่าวมาหยาสมบูรณ์ขึ้นมาก เพราะฉลามเป็นสัตว์ทะเลอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การมีฉลามแปลว่าต้องมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้วันนี้อ่าวมาหยาเป็นหนึ่งในจุดที่มีฉลามชุกชุมที่สุดในเมืองไทย

และนี่ก็คือเรื่องราว 2 ปีของการปิดอ่าวหมายา กับการกลับคืนมาของธรรมชาติ และสัตว์ทะเลต่าง ๆ ซึ่งเป็นดังดัชนีชี้วัดประสิทธิผลของการปิดอ่าว เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ธรรมชาติก็หวนคืน สัตว์ต่าง ๆ พากันเริงร่า

ฟื้นชีวิตความงดงามของสวรรค์แห่งอันดามันให้กลับคืนมาอีกครั้ง

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0