โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ปิดประตูยาว! 'หมอธีระ'เตือน'ฟองสบู่ท่องเที่ยว'เสี่ยงสูง มากเกินกว่าจะยอมรับได้

แนวหน้า

เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 13.42 น.

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้ โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ตอนนี้หากนับยอดรวมของอเมริกา บราซิล และอินเดีย ซึ่งเป็น 3 อันดับแรกของโลก จะพบว่ามีจำนวนเคสติดเชื้อถึง 45% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในโลก และมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมกันราว 40% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในโลก

ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ และเอเชีย มีภาวะการระบาดที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าน่าจะมีจำนวนมากขึ้นไปอีก หลังจากหลายประเทศประกาศปลดล็อคให้ดำเนินชีวิตตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ

เม็กซิโกได้ปลดล็อคไปตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน โดยยังมีภาวะการระบาดอยู่ในประเทศ หลังปลดล็อคไปจนถึงปัจจุบัน พบว่าทั้งจำนวนการติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และยังควบคุมไม่ได้

สิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อนั้น นอกจากการปรับพฤติกรรมของคนไม่ให้เจอกับเชื้อโรคแล้ว มีอยู่ 3 อย่างหลักคือ

หนึ่ง การพัฒนาชุดตรวจการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ ทั้งความไวสูงและความจำเพาะที่สูง ยิ่งหากโรคน่ากลัว ความไวสำหรับชุดตรวจคัดกรองควรมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดโอกาสที่คนติดเชื้อจะตรวจแล้วพลาดเป็นผลลบ (เรียกว่า "ผลลบปลอม")

สอง การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกัน

สาม การพัฒนาวิธีรักษา

ตอนนี้เรามีอย่างแรก แต่ยังมีคุณสมบัติที่ยังไม่สมบูรณ์นัก แต่อย่างที่สองและสามนั้นยังไม่มี

การที่มีชุดตรวจการติดเชื้อที่ยังไม่สมบูรณ์ และผลอาจผิดพลาด ขึ้นกับระยะเวลาของการติดเชื้อในขณะที่ทำการตรวจ จึงต้องการการดำเนินการที่ควบคู่ไปด้วยอย่างเคร่งครัด นั่นคือ การกักตัวเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน และระบบการติดตามตัวที่แม่นยำโดยสามารถทราบได้ว่าแต่ละคนนั้นอยู่ที่ใด เดินทางไปไหน ช่วงไหน เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรคหากเกิดการติดเชื้อขึ้นในพื้นที่

ดังนั้น "โรคติดต่อจะติดต่อ…หากเราติดต่อกัน" จึงเป็นสัจธรรมที่ต้องระลึกไว้เสมอ

การเปิดเสรี ปลดล็อค จึงตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้นตามลำดับ

ประเทศไทยวันนี้มีเพิ่ม 1 คน มาจากต่างประเทศ ขอให้ปลอดภัยและหายโดยเร็ว ยอดรวม 3,217 คน

ประเทศอื่น หลังปลดล็อคเสรีใกล้เคียงปกติ มีกิจการเสี่ยงสูง และการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมาก มักมีการระบาดในประเทศภายใน 2-6 สัปดาห์

ดูเค้าแล้วมาคอยดูเรา…ช่วงที่เราต้องช่วยกันติดตามคงจะเป็น 15 กรกฎาคม จนถึง 15 สิงหาคม…

ระหว่างนี้ สิ่งที่เราพอจะทำได้ เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดในประเทศของเราคือ "ใส่หน้ากากเสมอ…ล้างมือบ่อยๆ…อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร…พูดน้อยลง…พบปะคนน้อยลงสั้นลง…เลี่ยงที่อโคจร…หมั่นสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว"

หากไม่สบาย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสผิดปกติ ท้องเสีย…โปรดรีบไปตรวจรักษา จะได้ช่วยตัดวงจรการระบาดของโรคได้

ส่วนรัฐ…ควรลด ละ เลี่ยง นโยบายที่จะนำความเสี่ยงสูงมาสู่ประชาชนในประเทศ

การนำเข้าคนต่างชาติมาสู่ประเทศไทยนั้น ใน 11 กลุ่มเป้าหมายที่เคยประกาศไป ก็ควรขันน็อตระบบเฝ้าระวังให้แน่นหนา คัดกรอง กักตัว และติดตาม ไม่ให้หลุด เพราะโรคนี้ติดง่าย แต่ยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน

ในขณะที่ฟองสบู่ท่องเที่ยว ที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามานั้น…เสี่ยงสูงมากเกินกว่าจะยอมรับได้ และประตูนี้จำเป็นต้องปิดไปยาว คาดว่าอย่างน้อยอีก 6 เดือนครับ

ระหว่างนี้ รัฐ เอกชน และประชาชน ควรช่วยกันประคับประคองผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้พอหายใจหายคออยู่รอดได้ แต่ต้องปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ไม่สามารถทำแบบอดีตได้

เอาใจช่วยทุกคน

ประเทศไทยต้องทำได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0