โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปัณฑิตา มีบุญสบาย: เบื้องหลังภาพวาดแฟนตาซีของศิลปินหญิงสุดไฮเปอร์ที่ขายงานได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

a day BULLETIN

อัพเดต 08 ก.ค. 2563 เวลา 05.28 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 05.05 น. • a day BULLETIN
ปัณฑิตา มีบุญสบาย: เบื้องหลังภาพวาดแฟนตาซีของศิลปินหญิงสุดไฮเปอร์ที่ขายงานได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

แรกที่ได้เห็นงานวาดของศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ‘โบว์’ - ปัณฑิตา มีบุญสบาย ที่ผู้คนมากมายต่างแชร์ในโซเชียลมีเดียเมื่อช่วงที่ผ่านมา เรารู้สึกว่างานของเธอช่างน่าสนใจ เพราะมันเต็มไปด้วยพลังงานสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปในรายละเอียดของภาพ ความแฟนตาซีชวนฝัน และความแปลกใหม่ โดยเฉพาะการที่เธอใส่ ‘ตัวเอง’ ลงไปด้วยในงานหลายๆ ชิ้น 

        กระทั่งโบว์มีคิวแสดงงานนิทรรศการ 'Begin Again' พร้อมกับเพื่อนอดีตนักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ล้ง 1919  เราจึงนัดเธอเพื่อมาสนทนากันในเช้าวันหนึ่งที่แดดแผดจ้า

        จากจุดเริ่มต้นวาดภาพในวัยเด็ก กระทั่งเติบโตมาเป็นศิลปินรุ่นใหม่น่าจับตาที่มีสไตล์ชัดเจน สามารถขายงานของตัวเองได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และกลายเป็นที่พูดถึงในตลาดกลุ่มคนซื้อขายงานศิลปะ แม้กระทั่งมีข่าวว่าศิลปินแห่งชาติอย่าง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ก็ชื่นชอบในความกล้าแสดงออกผ่านผลงานของศิลปินหญิงคนนี้ ยิ่งทำให้ชีวิตและมุมมองที่ถ่ายทอดออกมาผ่านภาพวาดของเธอน่าสนใจ

        ไม่ใช่แค่ความน่าสนใจในแง่ของงาน แต่รวมถึงเป้าหมายและความหวังในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ ท่ามกลางสังคมที่การเติบโตงอกงามของแวดวงศิลปะในประเทศไทย และคนที่เป็นศิลปินนักวาดภาพอาชีพอาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายแม้แต่น้อย

 

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
ปัณฑิตา มีบุญสบาย

คุณเริ่มวาดภาพมาตั้งแต่เมื่อไหร่

        เราจำไม่ได้ แต่รู้ว่าตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล ที่บ้านเราทำสวนอยู่จังหวัดระยองตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ไม่มีใครที่นอกลู่นอกทางเรื่องอาชีพอื่นเลย (หัวเราะ) ตอนเราเด็ก แม่กับพ่อก็ไปทำสวน เขาก็ปล่อยให้เราอยู่กับดินสอสี คือเราวาดรูปก่อนเขียนหนังสือได้อีก เราเลยเหมือนได้ฝึกกล้ามเนื้อมือตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนด้วยซ้ำ 

การวาดภาพในวัยเด็กของคุณเป็นความรู้สึกแบบไหน

        ตอนนั้นยังไม่คิดว่ามันเป็นความสามารถพิเศษ แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองโดดเด่นที่สุดในห้อง เพราะตั้งแต่อนุบาลก็จะได้คะแนนสามดาวทุกช่อง ระบายสีไม่ออกนอกเส้นอะไรแบบนั้น พอได้รับคำชมตลอดก็คิดว่าคงเก่งทางด้านนี้ แต่ทางวิชาการเราก็ไม่ทิ้งนะ คือวิชาวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ก็อยู่อันดับเลขตัวเดียวของห้องเหมือนกัน เราเลยยังไม่ได้คิดว่าจะเอาดีทางด้านศิลปะจริงๆ เพราะก็ยังมีวิชาอื่นที่เราชอบเหมือนกัน สมัยเรียนจะมีใบที่อาจารย์ชอบให้เขียนว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราไม่เคยเขียนว่าอยากเป็นศิลปินหรือจิตรกรเลย เราอยากเป็นสัตว์แพทย์ เป็นวิศวกร เราก็เขียนไปเรื่อย ตอนเข้า ม.ปลาย เราก็เลือกเรียนวิทย์-คณิต แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ประกวดวาดรูปมาตั้งแต่อนุบาล พอมาประถม 5-ประถม 6 ก็เริ่มแข่งจริงจังขึ้น ไปแข่งระดับจังหวัด ระดับประเทศ แล้วก็แข่งมาจนจบ ม.6 แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะเรียนด้านนี้ในหัวเลย

สุดท้ายอะไรทำให้คุณตัดสินใจเลือกเรียนด้านศิลปะในมหาวิทยาลัย

        ตอนช่วง ม.4 กับ ม.5 เทอมแรก ก็ยังติวเข้าสัตวแพทย์อยู่เลย แต่พอมาเทอมสอง เราเริ่มเกลียดวิชาเคมีกับฟิสิกส์ เราไปปรึกษาอาจารย์แนะแนวว่าเราเรียนวิทย์-คณิต แต่เราชอบวาดรูปด้วย เราควรเข้าอะไร เขาก็บอกว่าสถาปัตย์ เราเลยเสียเวลาติวสถาปัตย์ไปสองปี ช่วง ม.5-ม.6 ซึ่งถ้ามานั่งนึกตอนนี้เรารู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวเลย ตอนนั้นส่งโควตาของพวกสถาปัตย์ ลาดกระบัง ศิลปากร ก็ติด แต่ก็ไม่ได้อยากเข้าจิตรกรรมอยู่ดี จนอาจารย์ที่สอนวาดรูปที่โรงเรียนแนะนำว่าให้ลองไปสอบดูสิ ไหนๆ ก็วาดรูปมาขนาดนี้แล้ว เราก็ลองไปสอบตรงดูทั้งที่ไม่มีความตั้งใจจะไปสอบด้วยซ้ำ เราพก EE ไปแท่งเดียวเอง (หัวเราะ) ปรากฏว่าปีนั้นเป็นปีเดียวที่เขาไม่ใช้ EE แต่แจกไม้เสียบลูกชิ้นหนึ่งอันกับหมึกจีน และให้ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นจิ้มหมึกจีนวาดรูป เราก็ช็อกนิดหน่อย แต่ก็ทำไปจนเสร็จ 

        สุดท้ายก็สอบติดที่มัณฑนศิลป์ ศิลปากร พอลองคุยกับแม่ แม่ก็แล้วแต่เรา คือที่บ้านเราก็ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการศึกษามากขนาดนั้น เพราะเขาก็ทำสวนและไม่ได้จบสูง เราเลยคิดว่าเรียนจิตรกรรมก็ได้ เพราะค่ายืนยันสิทธิ์ไม่แพง แค่หนึ่งพันบาท ส่วนที่อื่นหมื่นกว่าบาท ตอนนั้นเราคิดแค่นั้นเอง แต่ก็มารู้ทีหลังว่าแม่อนุญาตให้เรียนเพราะคิดว่าเราน่าจะไม่มีงานทำ แล้วก็ต้องกลับไปทำสวนที่บ้าน เพราะที่บ้านไม่มีใครทำสวนต่อ พี่ชายเราก็ทำงานบริษัทกันหมด

จุดไหนที่ทำให้คนเริ่มรู้จักงานวาดภาพของคุณ

        ต้องเล่าย้อนไปว่าตอนปี 3 เป็นช่วงที่ต้องเลือกเอก ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต มันอยู่ตรงกลางว่าจะไปทางไหนต่อ เราจะดำเนินชีวิตทาง Fine Art จริงๆ หรือว่าเราจะต้องไปทำงานบริษัท เราต้องคิด เพราะช่วงเจนฯ เราไม่มีตัวอย่างใกล้ๆ ให้ดู รุ่นพี่ที่จบไปในช่วง 4-5 ปี ไม่มีใครเป็นศิลปินเลย เราเลยมองไม่เห็นเลยว่าเราจะสามารถเป็นศิลปินได้หรือเปล่า ตอนนั้นเราทักไปหาพี่ศิลปินคนหนึ่งที่เราชอบงานเขามากเพื่อขอแนวทาง แต่เขาก็ไม่ได้ตอบอะไรมาก นอกจากเป็นเชิงให้กำลังใจ แต่ก็ถือเป็นจุดเล็กๆ ที่เราอยากให้ฝันพี่เขาเป็นจริงด้วย เราเลยตั้งใจทำงาน ตอนนั้นจะมีกลุ่มนักสะสมที่เขาซื้องานศิลปะแลกเปลี่ยนกัน และเราเริ่มขายงานชิ้นแรกได้ตอนปี 4 เทอม 1 เราเลยคิดว่ามันน่าจะเริ่มมาแล้ว เราจึงเริ่มหาแนวทางของตัวเองให้ชัดขึ้น เด่นขึ้น จนมาช่วงปีห้าเป็นช่วงพีกที่เราขายงานได้เยอะ กลายเป็นว่าเราสามารถขายงานได้ตั้งแต่อายุน้อย อาจารย์ก็ตกใจว่าเราสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนเรียนจบ จนมีโอกาสดีๆ เข้ามาหลายอย่าง เช่น แสดงงานที่ต่างประเทศ แต่ก็ติดโควิด-19 เลยไม่ได้ไป (หัวเราะ)

คนที่เขาซื้องานคุณเขาชอบอะไร

        เขาชอบเรื่องงานที่แตกต่างกับที่เป็นอยู่ทั่วไป เพราะบ้านเราอาจจะอินเรื่องประเพณี ประวัติศาสตร์มากเกินไป จนทำให้งานไม่หลุดออกจากกรอบตรงนี้ ทำให้งานศิลปะบ้านเราไม่ค่อยโตมาก แต่ความจริงมันสามารถผลักดันให้โตได้ เช่น ทำงานให้มีกลิ่นของประเพณีอยู่บ้าง แต่ต้องเล่าให้เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งงานเราก็จะพยายามเล่าให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมที่กว้างขึ้น คนดูไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทย แต่คนอื่นก็สามารถสัมผัสของกลิ่นงานที่เราสื่อสารออกไปได้

 

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
ปัณฑิตา มีบุญสบาย

สำหรับคุณการจะออกจากกรอบได้ต้องมีวิธีคิดอย่างไร

        ต้องใช้คำว่าดื้อ ตอนที่เรียนอยู่อาจารย์ก็ไม่ได้สนับสนุนสิ่งที่เราทำอยู่นะ อาจารย์ก็เป็นสายอนุรักษ์นิยมมาก เด็กที่ทำตามก็จะได้รับคะแนนดีตลอด แต่เราเริ่มไม่สนใจคะแนนตั้งแต่ปี 3 แล้วก็ทำอย่างที่อยากทำ โดนบ่นมาตลอด แกก็พยายามตบๆ ว่าให้ศิลปะทำอะไรเพื่อสังคมมากๆ อาจจะเน้นไปเรื่องการเมืองที่ซีเรียส แต่เราไม่อิน บางเรื่องมันไกลตัวเราเกินไป หรือเขาพยายามบอกว่าที่บ้านเรามีสวน ทำไมไม่วาดเกี่ยวกับวิถีชีวิตล่ะ แต่เราก็ไม่ได้อินกับเรื่องวิถีชีวิตขนาดนั้น

แล้วศิลปะของคุณอินกับอะไร

        เราชอบสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงหนึ่งเราพยายามไปเที่ยว พยายามตามหาแรงบันดาลใจระหว่างทางไปเรื่อยๆ พอช่วงปี 4 ที่ไปเที่ยวโซนเอเชีย ก็จะมีวัฒนธรรมบางอย่างที่คลุมเรื่องของความเป็นผู้หญิงไว้ เหมือนอยู่ไทยก็จะปฏิบัติกับผู้หญิงหรือมองผู้หญิงอีกแบบหนึ่ง แต่ไปอีกประเทศเขาก็จะมองอีกแบบหนึ่ง งานเราช่วงนั้นก็จะมีกลิ่นของความเฟมินิสต์นิดๆ และกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำงานชิ้นธีสิสขึ้นมา ซึ่งความจริงงานเราก็อาจจะอธิบายเรื่องสังคม แต่มันไม่ได้ลึกขนาดที่เราจะไปประท้วงและต่อต้านสิทธิ เรารู้สึกว่าปัจจุบันหลายสิ่งค่อนข้างโอเคขึ้น เราก็แค่อาจจะมีเรื่องของการเสียดสีที่เป็นแก๊กนิดหน่อยซ่อนอยู่ในงาน

คุณกดดันไหมที่เป็นผู้หญิงทำงานศิลปะ ซึ่งเราเห็นน้อยมาก

        จริงๆ ผู้หญิงทำงานศิลปะเยอะนะ แต่คนดังมีน้อย แต่ไม่ทราบว่าทำไมเหมือนกัน แต่เราไม่ได้รู้สึกกดดัน มีคนบอกว่าเราได้เปรียบที่เป็นผู้หญิง เราไม่ต้องไปต่อสู้ในโซนของผู้ชาย แต่เราก็รู้สึกว่าไม่เกี่ยวกันหรอก เพราะคนซื้องานตอนแรกเขาก็ต้องดูที่เนื้องานก่อน เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนวาดเป็นใคร ดังนั้น มันอยู่ที่ตัวงานเองมากกว่าว่าจะกระทบใจคนได้วงกว้างแค่ไหน 

ก่อนหน้านี้เห็นคุณได้พูดในงานสัมมนาออนไลน์ของต่างประเทศที่ชื่อ Micro-creative Festival ในหัวข้อเฟมินิสต์ด้วย

        ใช่ๆ เขาให้อธิบายเกี่ยวกับงานแต่ละชิ้นว่ามีกลิ่นอะไร ยังไง แต่ความจริงเราไม่ได้อยากจะเจาะว่างานเราเป็นเฟมินิสต์เลยนะ เราแค่แสดงตัวตนของเราเองว่าเป็นผู้หญิงที่ทำงานในลักษณะนี้ แค่แสดงความเป็นตัวตนออกมาในงานแต่ละชิ้น ซึ่งก็มาจากการเลี้ยงดูที่บ้าน การทำงาน เพราะเราก็เป็นผู้นำมาตั้งแต่เด็ก เป็นหัวหน้าห้อง เลยไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างหญิงและชาย อย่างต่างชาติเขาจะรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมดาในเรื่องความเท่าเทียม แต่บางทีเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทยที่มันเป็นอยู่ ถ้าเจาะลึกมากๆ ก็อาจจะทำให้เขางง เอ๊ะ ว่าบ้านเธอทำแบบนี้ไม่ได้เหรอ เช่น เรื่องการทำงาน องค์กรใหญ่ๆ บางทีเขาก็มีผู้หญิงเป็นหัวหน้า ซึ่งบ้านเราก็เริ่มเปลี่ยนไปเยอะแล้วนะ แต่ว่าถ้าเป็นบ้านเราที่ระยองก็อาจจะยังไม่ขนาดนั้น ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม สังคม ของแต่ละที่

ทุกวันนี้คุณนิยามงานตัวเองว่าเป็นแนวไหน 

        คนจะนิยามว่างานเป็น Surrealism Painting ที่จะมีความเหนือจริงอยู่ คือก็อาจจะใช่ อย่างมีงานชิ้นหนึ่งที่เราวาดแบบเอาสัตว์มารวมกันอยู่ในห้อง ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่มีสัตว์มารวมตัวกันเยอะๆ อยู่ในห้อง แต่ว่าอาจารย์บอกว่างานเราไม่ได้เซอร์เรียล เพราะเซอร์เรียลต้องซ่อนความหมายในทุกๆ องค์ประกอบที่วางไว้ เขาบอกว่างานเราเป็นเชิงแฟนตาซี คือดูวูบวาบ สร้างความสนุกสนาน หรือสร้างอารมณ์อะไรบางอย่างภายในงานชิ้นนั้น แต่เราว่างานเรามันกึ่งๆ ระหว่างสองอย่างนี้ เราไม่ได้เจาะความหมายไปในทุกๆ องค์ประกอบ แต่ครึ่งหนึ่งมันก็มีความหมาย แต่งานเราก็จะเน้นไปทางที่สุนทรียะของคนที่เห็นงานด้วย

 

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
ปัณฑิตา มีบุญสบาย

แต่สังเกตว่างานของคุณจะมีตัวเองเข้าไปด้วยเพราะอะไร

        เราวาดตัวเองในภาพครั้งแรกคือตอนที่ทำธีสิสชิ้นสุดท้ายจากเก้าชิ้น ตอนนั้นเราไม่ได้ทำธีมเดียวกับงานทีสิสทั้งหมดก่อนหน้า แต่ชิ้นสุดท้ายเหมือนเป็นบทสรุปว่างานทุกชิ้นเกิดอยู่ในบ้านหลังนี้ เราวาดภาพสตูดิโอที่มีตัวเราทำงานศิลปะชิ้นหนึ่ง และก็มีสัตว์เข้ามารอบๆ เหมือนเป็นบทสรุปว่าตัวเราเป็นผู้กำกับเรื่องเองทั้งหมด จนทำให้คนรู้สึกว่า การที่มีเราเป็นตัวละครนำ และตัวเราเองเป็นคนวาด มันค่อนข้างน่าสนใจ หลังจากนั้นก็มีคนบอกว่าให้วาดตัวเองลงไปอีกในแต่ละชิ้น จนกลายเป็นว่าเราวาดตัวเองบ่อยมาก (หัวเราะ) แต่ว่าก็กลายเป็นเรื่องที่คนชอบที่เอาตัวเองมาเล่นในแก๊ก ที่สำคัญคือเขาจะจำศิลปินได้

ปกติคุณวางตารางการทำงานอย่างไรบ้าง

        ปกติเราจะเริ่มงานสิบโมง เลิกงานไม่เกินสามทุ่ม แต่ว่าจะมีพักเบรกระหว่างวัน ถ้าช่วงไหนมีงานมีข้างนอกก็ไป แต่ถ้าวันไหนไม่ไป ก็จะทำงานสิบโมงจนถึงสามทุ่มทุกวัน งานแต่ละชิ้นเราทำไม่เคยเกินหนึ่งอาทิตย์เลย จะใช้เวลาอยู่ราวๆ 3-7 วัน เพราะเราเป็นคนสมาธิสั้น เป็นคนไฮเปอร์ ซึ่งมันก็จะสะท้อนออกมาในงานที่จะวุ่นวายมาก ระยะการทำงานก็จะค่อนข้างสั้น เราพยายามจบให้เร็ว เพราะถ้าเกินจากนี้เราจะไม่อยากทำแล้ว เราเป็นคนที่อยากขึ้นงานชิ้นใหม่ตลอดเวลา เราทำชิ้นเดิมสองวันก็อยากทำชิ้นใหม่แล้ว ก็เลยกลายเป็นว่าระบบการทำงานค่อนข้างชัด กำหนดว่าวันนี้ต้องทำตรงนี้ให้เสร็จ รอสีแห้ง พรุ่งนี้ก็ต้องมาทับตรงนี้ต่อ ทำให้ทำงานค่อนข้างเร็ว 

การตั้งตารางเวลา หรือมีกรอบ ในการทำงานศิลปะ มันเป็นการบังคับตัวเองจนอาจทำให้กดดันและไม่ได้งานที่ต้องการหรือเปล่า 

        มันขึ้นอยู่กับตัวศิลปินมากกว่าว่าสะดวกทำงานแบบไหน เพื่อนสนิทเราเองก็ทำงานแล้วแต่อารมณ์ แต่เราเองทำงานสิบโมงถึงสามทุ่มก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไร คือต่อให้เราพัก ไม่ทำงาน เราก็ต้องนั่งวาดรูปเล่นอยู่ดี เรามีสมุดสเกตช์ของเรา เราเคยลองหยุดงานไม่ทำสักห้าวัน สุดท้ายก็ไม่ได้ วันที่สามก็ต้องเอาสมุดมาวาดรูปเล่นแล้ว

ในงานของคุณ สิ่งที่คุณให้ความสำคัญที่สุดคืออะไร

        เราชอบทำลายอันเก่า สมมติทำงานมาชิ้นหนึ่ง ชิ้นที่สองเราก็จะพยายามหาข้อติในชิ้นแรกว่ามีตรงไหนบ้าง ชิ้นที่สองต้องไม่มีข้อติ ต้องทำงานยังไงก็ได้ที่มันทำลายชิ้นแรก แล้วพอทำชิ้นที่สองเสร็จก็พยายามหาข้อติ พอชิ้นที่สามก็พยายามทำลายชิ้นที่สอง คือเราพยายามทำให้งานแต่ละชิ้นมันดีกว่าชิ้นที่ทำก่อนหน้านี้

มีศิลปินที่ชอบไหม

        เราเปลี่ยนไปเรื่อยเลย ถ้าอย่างล่าสุดเราชอบ อัลมา ทาเดมา (Lawrence Alma-Tadema) เขาเป็นศิลปินอังกฤษ ในอดีต เขาทำงานชิ้นไม่ใหญ่มาก แล้วก็ชอบเวอร์เมียร์ (Johannes Vermeer) เราเคยไปดูงานของจริงแล้วชอบมาก มันเป็นงานชิ้นเล็กๆ ที่เขาเก็บละเอียดมาก เราชอบในทักษะเขา จริงๆ งานเราก็ได้กลิ่นทาเดมามาเยอะมาก ไม่ใช่องค์ประกอบหรือความหมายเดียวกับเขานะ แต่จะเป็นเรื่องรายละเอียดในงานที่มีเยอะ

 

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
ปัณฑิตา มีบุญสบาย

ความสนุกสำหรับการวาดภาพสำหรับคุณคืออะไร

        คือเราสนุกที่ได้ขึ้นงานชิ้นใหม่ เราจะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เหมือนเป็นการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ระหว่างเดินทางบางทีก็สนุกบ้างไม่สนุกบ้างก็ช่างมัน แต่ว่าจุดเริ่มต้นมันสนุก เรารู้สึกว่าจุดเริ่มต้นในทุกๆ ครั้ง ในทุกๆ ชิ้น เราสนุก เราเป็นคนชอบเดินทางด้วย ปกติเราเดินทางบ่อย สมมติเราทำงานตู้มๆ เราก็จะเริ่มแพลนเดินทางไปไหนสักแห่ง แต่เราไม่ชอบเมือง เราชอบแบบธรรมชาติ มีช่วงหนึ่งตอนไปธิเบต เราก็เช่ามอเตอร์ไซค์ขับไปเรื่อยๆ เจอพวกหมาต้อนบ้าง กูปรีบ้าง จอดรถเล่นกับหมาภูเขาบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเราเหมือนกัน 

แล้วนิยามคำว่าศิลปะสำหรับคุณคืออะไร

        คำถามนี้อาจารย์ชอบถามเหมือนกัน แต่เราไม่เคยตอบถูกเลย (นิ่งคิด) ศิลปะสำหรับเราคืออะไรก็ได้นะ เหมือนพักหลังเราก็ชอบดูหนังที่ภาพสวยๆ จัดองค์ประกอบภาพดีๆ แต่ไม่สนใจเรื่องเนื้อหาเลย บางทีดูไม่รู้เรื่องด้วยก็มี คือดูแต่งานอาร์ตในหนัง เราเลยรู้สึกว่า จริงๆ ศิลปะอยู่รอบตัวเราทุกอย่าง แม้กระทั่งดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ ศิลปะมันไม่มีขอบเขต มันกว้างมาก กว้างจนอธิบายไม่ได้ มันเป็นอินฟินิตี้ ทุกอย่างมีศิลปะเข้าไปมีบทบาทเสมอ

        แต่คนเราก็จะมีเส้นแบ่งของตัวเอง อย่างเราก็จะมองทุกอย่างเป็นศิลปะ แต่สมติเป็นแม่เราก็จะมองว่างานศิลปะต้องอยู่ในแกลเลอรีเท่านั้น มันแล้วแต่คน แล้วแต่การศึกษา หรือการรับรู้ มีงานศิลปะต่างประเทศหลายคนมาก ที่แค่เอาเก้าอี้มาตั้ง เอาโถส้วมมาตั้ง อยู่ในมิวเซียม ก็เป็นงานศิลปะ คือถ้าแม่เรามาเดินดูเขาก็เดินผ่าน เพราะเขาคงไม่รู้ว่ามันคืองานศิลปะ 

สังคมแบบบ้านเราดูเหมือนจะมีประเด็นขัดแย้งระหว่างคนทำงานศิลปะกับความดราม่าในบางเรื่องที่คนมองว่าละเอียดอ่อนหลายครั้งมาก ในสังคมแบบนี้ศิลปะจะงอกงามอย่างไร

        มันโตยากมากๆ เราเคยไปดูงานที่เพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย เขาสามารถเล่นประเด็นนู่นนี่ได้หมดเลย แต่เรื่องศาสนาก็อาจจะยากหน่อย แต่ก็มีหลายที่ที่เขาเปิดกว้างมากๆ ความจริงที่อินโดนีเซียก็มีพระพุทธรูปหน้าอุลตราแมนจำหน่ายเป็นของเล่นด้วยนะ อย่างเราที่มายืนอยู่จุดนี้ตอนนี้ก็เริ่มเห็นนักสะสมรุ่นใหม่ที่อายุไม่เยอะมาก เริ่มสะสมงานที่แตกต่างขึ้น เรารู้สึกว่ามันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานในรูปแบบใหม่ก็ได้ 

        เรามีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์สังคม แต่พอเป็นประเทศไทย บางเรื่องมันละเอียดอ่อนมากจนแตะไม่ได้ พอแตะไม่ได้ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น เราชอบอยู่แต่ของเราแบบนี้ อย่างคนที่เขาดราม่า เขาอาจชอบอยู่ของเขาแบบนั้น และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น

ความหวังของคนเป็นศิลปินรุ่นใหม่ในบ้านเรา อยากให้มีอะไรเกิดขึ้นในแวดวงศิลปะบ้าง

        ถ้าเป็นแบบพวกเราที่อยากโตไปเป็นศิลปิน ส่วนใหญ่เขาไม่อยากโตในไทยแต่อยากไปโตที่อื่น เพราะเขารู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงที่ไทยยากมาก มันยากเกินความสามารถที่เราจะทำ เพราะศิลปินเองก็ไม่ได้มีเยอะขนาดที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ จนประเทศชาติต้องสนับสนุน ส่วนคนที่ขับเคลื่อนจริงๆ ก็อาจจะเป็นนายทุนที่สนับสนุนงานศิลปะ เหมือนในแวดวงศิลปะที่ต่างประเทศก็จะมีนายทุนบริษัทใหญ่ๆ ที่คอยสนับสนุน ในแต่ละพื้นที่อย่างที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์เขาก็ซื้องานต่างประเทศมาเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ แล้วเขาก็สนับสนุนศิลปะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่โตเกียวที่เดียวมีหอศิลป์ทั้งหมด 78 แห่ง เราซื้อตั๋วดูมิวเซียมแบบเหมาจ่าย เรายังดูไม่ครบเลย มันเยอะมาก แต่บ้านเรามีนับที่ได้เลย

บ้านเราขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ 

        ใช่ บ้านเราจะให้ก็ให้คุณค่ากับการรับวัฒนธรรมที่เป็นประเพณีที่เห็นเป็นรูปธรรม BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) เขายังจะเปลี่ยนให้เป็นห้างเลย แกลเลอรีดีๆ ก็กระจุกอยู่กรุงเทพฯ ที่เดียว ที่ระยองบ้านเราก็ไม่มี ที่อื่นก็จะมีตามมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีใครดูอยู่แล้ว มันน้อยคนมากที่จะตั้งใจที่จะเข้าไปในมหาวิทยาลัยเพื่อไปดูงานศิลปะในหอศิลป์ของแต่ละคณะ ตอนที่เราจัดงานที่นครปฐม เราไฟต์กับอาจารย์ว่าอยากมาจัดที่ BACC แต่อาจารย์ก็ไม่อนุญาต เขาบอกว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนหอศิลป์ของเราที่นครปฐมให้เป็นแบบสากลล่ะ คนจะได้อยากมา ซึ่งเราก็ชอบความคิดอาจารย์นะ แต่มันไม่มีใครมาหรอก มันไกลมาก แล้วมหาวิทยาลัยก็มีช่วงเวลาเปิดปิดด้วย แต่หอศิลป์เปิดตามเวลาราชการจันทร์ถึงศุกร์ แต่คนว่างดูเสาร์อาทิตย์ไง เราก็คุยกับอาจารย์ว่าไม่เปิดเสาร์อาทิตย์เหรอ เพราะคนอยากมาดู เขาก็บอกมันต้องเปิดตามราชการ อ้าว มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ไม่ใช่เหรอ แต่ยังไม่ให้ความสำคัญกับหอศิลป์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเลย 

คนที่เป็นศิลปินรุ่นใหม่แบบคุณกลัวอนาคตในสังคมแบบนี้ไหม

        ศิลปินที่อยู่ได้ในช่วงนี้คือศิลปินรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า รุ่นเก่าเขาราคาสูงอยู่แล้ว คนซื้อชิ้นเดียวอยู่ได้ทั้งปี กับศิลปินรุ่นใหม่ที่ราคาไม่สูงมาก แต่คนซื้อในจำนวนที่เยอะ แต่คนที่จะลำบากคือศิลปินรุ่นกลางที่ราคาแตะแสน แล้วนักสะสมไม่กล้าลงทุนกับกลุ่มคนเหล่านี้ เขากล้าลงทุนกับเด็กรุ่นใหม่เพราะเจ็บน้อย กล้าลงทุนกับรุ่นใหญ่เพราะราคาไม่ตก เราเองถ้าเราขยับไปอยู่รุ่นกลางก็ต้องมีวิธีการอะไรก็ได้ที่ปรับตัวให้อยู่ได้ เราอาจจะไม่ได้งานเยอะเหมือนตอนเด็ก แต่ก็ต้องพยายามปรับตัว 

 

ปัณฑิตา มีบุญสบาย
ปัณฑิตา มีบุญสบาย

ยังมีความหวังกับแวดวงศิลปะไทยว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้างหรือเปล่า

        ยังมีความหวังนะ ตั้งแต่มีการนำเบียนนาเล (Bangkok Art Biennale) เข้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว มาปีนี้ ก็เริ่มนำศิลปินต่างประเทศเข้ามาให้เห็น ก็รู้สึกว่ามันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนิดๆ ตัวเราเองเข้ามาในวงการก็รู้สึกว่ามันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่คนซื้องานที่เป็นวัยรุ่นที่เขามีกำลังซื้อ 

คุณวางแผนอนาคตในเส้นทางศิลปะของตนเองอย่างไร

        แพลนเราชัดเจน คือสามปีนี้จะมีช่วงที่มีแสดงงานเดี่ยว มีไปต่างประเทศบ้าง มีไปร่วมกับคนอื่นบ้าง แต่ปีที่ 4 ที่ 5 ก็คิดว่าจะต้องกลับบ้านที่ระยอง เรารู้สึกว่าเราทำงานหนักมาก แต่กลับบ้านแล้วเราก็คงทำงานศิลปะออกมาเหมือนเดิม แต่จำนวนจะน้อยลง ไม่อย่างนั้นงานจะเกร่อมากในตลาด แล้วก็อยากไปพัฒนาชุมชน คือในหมู่บ้านเราจะเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเยอะมาก เราเองไปเรียนทำเซรามิกมา และอยากเปิดโรงเซรามิกที่บ้าน ให้คนมาเวิร์กช็อป อยากให้ชุมชนยั่งยืนขึ้น อยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะที่บ้านก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาเวิร์กช็อปทำสวนทำปุ๋ยเอง เราก็อยากไปสานต่อ เพราะพ่อกับแม่ก็อายุเยอะแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0