โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปัญหาเพื่อนบ้าน ใช้กฎหมายช่วยอะไรได้บ้าง

DDproperty

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 08.51 น.
ปัญหาเพื่อนบ้าน ใช้กฎหมายช่วยอะไรได้บ้าง
ปัญหาเพื่อนบ้าน ใช้กฎหมายช่วยอะไรได้บ้าง

เป็นเรื่องธรรมดาที่เพื่อนบ้าน ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันก็อาจจะมีเรื่องที่ไม่ชอบใจกันบ้าง กระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ในหลาย ๆ ครั้ง เรื่องกระทบกระทั่ง หรือไม่พอใจกันก็เลยเถิดจนกลายเป็นเหตุทะเลาะวิวาทหรืออาชญากรรมอย่างที่เรามักเห็นตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์

บทความครั้งนี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทบกระทั่งกันระหว่างเพื่อนบ้านครับ

 

เพื่อนบ้านสร้างปัญหาเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

ปัญหาส่วนมากที่มักพบระหว่างเพื่อนบ้านก็ได้แก่ การจอดรถกีดขวาง การสร้างเสียงดัง กลิ่น ความสกปรก ซึ่งเหล่านี้เป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370 และ 397 ครับ

  • มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  • มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

เรื่องเสียงดังก็จะเป็นความผิดตามมาตรา 370 ข้างต้น ส่วนกรณีจอดรถกีดขวาง กลิ่น ความสกปรก ก็เป็นความผิดฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญตามมาตรา 397 ครับ

นอกจากโทษตามประมวลกฎหมายอาญาข้างต้นแล้ว ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเพื่อนบ้านกรณีกลิ่น หรือความสกปรกก็อาจร้องเรียนต่อหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจัดการสั่งผู้ทำผิดกฎหมายให้แก้ไข หากไม่ทำตามก็มีโทษทางอาญาแล้วแต่กรณีด้วย

 

 

เรียกร้องค่าเสียหายได้ไหม

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา ที่กฎหมายจะลงโทษกับผู้กระทำความผิด โดยโทษจำคุก หรือ โทษปรับ แต่ในฐานะเจ้าของบ้านที่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนรำคาญ เราก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมายแพ่ง เรื่องละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และมาตรา 421 ด้วยครับ

  • มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
  • มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

กรณีมาตรา 421 นี้เองที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ นักกฎหมายเรียกว่าใช้สิทธิเกินส่วน โดยปกติแล้ว การที่บุคคลใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมายถือเป็นเรื่องที่ทำได้ แม้จะทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบบ้างก็ตาม แต่เรื่องการใช้สิทธิเกินส่วนตามมาตรา 421 นี้ คือ การใช้สิทธิที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินควรคาดคิดหรือคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติหรือตามเหตุอันควร ก็ถือเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ตัวอย่างเช่น

  • คำพิพากษาฎีกาที่ 1581/2538 ก่อสร้างหลุมฝังศพติดกับที่ดินของเพื่อนบ้านเพียง 10 เมตร แม้จะได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนกิจแล้วก็ตาม เป็นละเมิด
  • คำพิพากษาฎีกาที่ 780/2538 เจ้าของรวมในที่ดินคนหนึ่งสามารถใช้สิทธิได้ทุกส่วนของที่ดิน แต่การปลูกบ้านคร่อมทางที่เจ้าของรวมคนอื่นใช้เป็นปกติถือเป็นละเมิด

เมื่อเป็นละเมิดตามมาตรา 420 หรือ 421 ข้างต้นแล้ว ผู้ได้รับความเดือดร้อนสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหาย และขอให้ศาลบังคับให้จำเลยหยุดกระทำการอันเป็นละเมิด หรือ แก้ไข หรือ หากสภาพเดือดร้อนนั้นไม่สามารถแก้ไขให้คืนดังเดิมได้ ก็สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้ครับ

 

ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กรณีที่เราได้รับความเดือดร้อนจากเพื่อนบ้านเกินสมควร กฎหมายได้คุ้มครองรับรองสิทธิของเราไว้ ทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา แต่ทั้งนี้ ในการอยู่ร่วมกัน ก็ควรถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่คำนึงถึงแต่ตัวเองมากจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จะดีที่สุดครับ

 

สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0