โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ กระทบเศรษฐกิจไทย 2,600 ล้านบาท

BLT BANGKOK

อัพเดต 18 ม.ค. 2562 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 02.55 น.
75b30a548f85290fcfda1346ea9ed441.jpg

สถานการณ์ฝุ่นละอองที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ในระยะหลังเกิดนานและถี่ขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และการท่องเที่ยว
สำหรับปัญหาฝุ่นละอองไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่ทางภาคเหนือของไทยประสบอยู่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว และฤดูแล้ง ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัญหานี้ก็เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จากนั้นก็คลื่คลายไป จนกระทั่งช่วงปลายปี 2561 ถึงปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวได้กลับมารุนแรง และเกิดเป็นระยะเวลานานและถี่ขึ้น
เมื่อประกอบกับกระแสโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ต้องติดตาม และควรจะมีการประเมินผลกระทบในมิติต่างๆ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสมมติฐานหลายประการ พบว่า ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งในด้านการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายไปกับเรื่องสุขภาพ
คนกรุงเสียเงินไปกับด้านสุขภาพ แตะ 3,000 ล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เกิดขึ้นจากการที่ฝุ่นละอองไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ แม้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นได้
จากข้อมูลพบว่า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จำนวนไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านคน เทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด 11 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้ที่เจ็บป่วยจากปัญหาฝุ่นละอองนี้ อาจจะยังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่ชัด
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินโดยใช้สมมติฐานว่า ประมาณ 50%ของจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจมีอาการเจ็บป่วยจนจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ในช่วงนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง และมีค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ และค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพการงาน เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,000บาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับหน้ากากอนามัยนั้น เฉลี่ยขั้นต่ำที่ 22.5 บาท/วัน ในกรอบเวลา 7 - 30 วัน คำนวณจาก 40%ของจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ และ 10%ของจำนวนประชากรในปริมณฑลส่งผลให้ค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพทั้งการรักษา และการป้องกันในเบื้องต้น คิดเป็นเม็ดเงินราว 1,600 - 3,100ล้านบาท
กรุงเทพฯ อาจสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ราว 3,500 ล้านบาท

สถานการณ์ฝุ่นละอองอาจทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว จากเดิมที่มีแผนจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นของไทย โดยในกรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นแทน โดยในกรณีนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งล่าสุดสื่อต่างประเทศก็เริ่มมีการกล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองในไทยหลังจากที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลก
โดย กรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคน/เดือน สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 80,000ล้านบาท/เดือน
สำหรับสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกำหนดให้ราว 1 - 2%ของนักท่องเที่ยวมีการหลีกเลี่ยงไม่เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ขณะที่กลุ่มที่มีแผนเดินทางมาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ อาจจะปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบแทน ส่งผลให้เม็ดเงินค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1,000 - 3,500ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5 - 4.5%ของรายได้ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่ประเมิน
ฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ กระทบต่อเศรษฐรวม 2,600 ล้านบาท

จากการประเมินในข้างต้น สรุปได้ว่าปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลทางเศรษฐกิจ จากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว ในเบื้องต้นอาจคิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 2,600ล้านบาท โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือไม่เกิน 1 เดือนซึ่งเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561
ต้องศึกษาปัจจัยก่อให้เกิดฝุ่น เพื่อวางแนวทางการแก้ไขในระยะยาว

การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้น เป็นการประมาณการในเบื้องต้น ซึ่งขนาดของผลกระทบทั้งหมดที่แท้จริง คงจะยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้านระยะเวลา และความรุนแรงของปัญหา รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาด้วย ซึ่งภาครัฐก็ได้มีการดำเนินการเพื่อบรรเทา และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการฝนหลวง, การควบคุมและตรวจสอบรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ, การฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนนเพื่อกำจัดฝุ่นละออง รวมถึงการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางดำเนินการต่อไป
แต่ในระยะยาว การศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานว่าเกิดจากจากปัจจัยใดในน้ำหนักเท่าไร เช่น รถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ผังเมือง หรือสภาพภูมิอากาศที่ปิด เป็นต้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเพื่อให้สามารถวางแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น  
และหากพิจารณาบทเรียนจากต่างประเทศที่ก็ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หรือมลพิษทางอากาศเช่นกัน จะพบว่า ทางการของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ล้วนให้ความสำคัญกับปัญหานี้ โดยมีการวางแผนปฏิบัติการระยะยาว พร้อมกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน เช่น ประเทศจีน มีActionPlanเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองต่างๆ ซึ่งอาศัยหลายมาตรการพร้อมๆ กัน อีกทั้งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทั้งการปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน การห้ามเผาถ่านหินเพื่อสร้างความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว การปลูกต้นไม้ การย้ายโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับหลายประเทศในยุโรป มีแนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น การขอความร่วมมือประชาชนให้ลดการใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถสาธารณะแทน รวมถึงลดการใช้รถส่วนตัวในช่วงวันหยุด นอกจากนี้ ยังได้มีการขอความร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรมให้ลดการใช้พลังงาน/การปล่อยก๊าซ ขณะที่แผนในการแก้ปัญหาระยะยาว ก็มีการใช้หลายแนวทาง อาทิ การส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า การรณรงค์ให้มีการใช้จักรยานด้วยการสร้างเส้นทางการขับขี่ที่ปลอดภัย การใช้รถโดยสารสาธารณะ การจำกัดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งในเขตเมือง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คุณภาพอากาศ และเรื่องสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ยังประเมินออกมาเป็นมูลค่าผลกระทบอย่างชัดเจนได้ยากยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนผลต่อภาพรวมของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ทางการมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจทั้งการท่องเที่ยว การแพทย์ และอื่นๆ ในเวทีโลก ซึ่งหากปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากประเด็นสุขภาพของประชาชนแล้ว จะเป็นผลบวกต่อสถานะของไทยในการส่งเสริมการเป็นฮับด้านต่างๆ ดังกล่าวด้วย ดังนั้น การจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองสำหรับประเทศไทยให้ได้อย่างยั่งยืน คงจะเป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งการศึกษาหาสาเหตุ และการวางแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0