โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปัจจัยเสี่ยง การหลีกเลี่ยง และการรักษา โรคมะเร็งปอด

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 28 ม.ค. 2563 เวลา 13.53 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 13.53 น.
People walk on the street, wearing special mask to prevent
Photo by Zhang Peng/LightRocket via Getty Images

เรารู้กันว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปนั้นสำคัญมากแค่ไหนต่อการมีชีวิตอยู่ แต่ด้วยคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ มีมลพิษปะปนอยู่ อย่างควันบุหรี่ ฝุ่นควัน และฝุ่น PM 2.5 ที่เราเจออยู่ตอนนี้ เมื่อเราหายใจเอาอากาศเข้าไปในร่างกายจึงอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายไปด้วยในขณะเดียวกัน

เมื่อสูดอากาศที่ไม่มีคุณภาพเข้าไป ปัญหาสุขภาพหลัก ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็มักจะเกิดกับปอด เพราะปอดเป็นอวัยวะที่รับอากาศที่เราสูดเข้าไปแล้วแลกเปลี่ยนออกซิเจนจากอากาศเข้าไปสู่ระบบเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย

ถ้าพูดถึงโรคที่เกิดขึ้นกับปอด โรคที่น่ากลัวที่สุดก็คือมะเร็งปอด ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่พรากชีวิตคนไทยไปมากเป็นอันดับต้น ๆ ในบรรดาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรมีความรู้และตระหนักเกี่ยวกับอันตรายของโรคมะเร็งปอด เพื่อจะได้ดูแลปกป้องตัวเอง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคร้ายชนิดนี้

ในงาน “Lung For(r)est” ซึ่งมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอันตรายโรคมะเร็งปอด มีการให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่มะเร็งปอดเป็นภัยเงียบที่อันตราย เป็นเพราะโรคจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเป็นหนักในระดับหนึ่ง อีกทั้งอาการทั่วไปยังคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ เช่น ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด การทำงานของระบบทางเดินหายใจบกพร่อง ทำให้ยากในการสังเกตอาการและการวินิจฉัย

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ที่ปรึกษามะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยหลัก ๆ ของโรคมะเร็งปอดมี 2 ประเภท คือ 1.ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ของยีน 2.ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ คือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ ฝุ่น หรือควันจากท่อไอเสีย

“จากข้อมูลในปัจจุบัน กลุ่มคนที่สูบบุหรี่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนไข้ที่ไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอดมากขึ้น เช่น ในกรุงเทพมหานครมีคนไข้ที่ไม่สูบบุหรี่มากถึง 50-60% โดยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด”

กรณีตัวอย่าง อรสิรี ตั้งสัจจธรรม เป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่กลับตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 แล้ว อรสิรีเล่าถึงอาการป่วยว่า อาการที่พบแรก ๆ คือไอแห้ง ๆ ทั้งที่ไม่ได้เป็นหวัดหรือภูมิแพ้ พอไปหาหมอก็ได้ยาแก้ภูมิแพ้กลับมา ผ่านไป 2-3 เดือนเริ่มไอแบบมีเสียงก้อง ๆ อยู่ข้างใน แต่ไม่มีเสมหะ ไม่มีเลือด จึงขอพบหมอเฉพาะทางด้านปอด ผลเอกซเรย์ออกมาว่าเริ่มมีน้ำในปอดและมีฝ้าขาวในปอดทั้งสองข้าง

“ตอนแรกคุณหมอคิดว่าเป็นวัณโรค เพราะไม่มีประวัติสูบบุหรี่ ไม่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง แต่พอเจาะน้ำในปอดออกมาเพื่อตรวจหาเชื้อให้แน่นอน ปรากฏว่าน้ำในปอดเป็นสีเลือด ไม่ใช่สีใส ๆ แบบวัณโรค คุณหมอจึงสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งตอนที่ตรวจพบก็เป็นระยะที่ 4 แล้ว เมื่อตรวจพบว่าสาเหตุของการป่วยคือยีนกลายพันธุ์ แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยา targeted therapy หรือยารักษาแบบมุ่งเป้าซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาแบบใหม่”

ปัจจุบัน โรคมะเร็งสามารถรักษาโดยหลัก ๆ ได้ 3 วิธี คือ ผ่าตัด รังสีรักษา และการใช้ยา ซึ่งทั้ง 3 วิธีก็มีการพัฒนาจนมีนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะการรักษาโดยการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพดีกว่ายารุ่นเก่าและผลข้างเคียงน้อย โดยยารักษาโรคมะเร็งมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด

ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยาจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่า การพัฒนาของยาในปัจจุบันช่วยให้ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลง

และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น เช่น ตอนนี้มียาคีโมกลุ่มใหม่ ๆ ที่ไม่ทำให้ผมร่วง กดการทำงานของเม็ดเลือดขาวน้อย คลื่นไส้อาเจียนน้อยมาก หรือยาออกฤทธิ์เฉพาะจุดหรือที่เรียกว่ายามุ่งเป้า (targeted therapy) ซึ่งส่งผลดีกับผู้ป่วยกลุ่มยีนกลายพันธุ์ เพราะสามารถโฟกัสการรักษาได้เฉพาะจุด ผลข้างเคียงจึงน้อยกว่าการรักษาด้วยคีโม เช่น ผมไม่ร่วง ไม่กดการทำงานของเม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกัน ไม่มีการคลื่นไส้อาเจียน

“นอกจากนี้ ยังมีวิธีที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ immunotherapy ซึ่งใช้ได้ผลค่อนข้างดีกับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดทั่วไป เป็นการรักษาโดยใช้ยาไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ไปทำลายเซลล์มะเร็ง พูดอีกอย่างได้ว่าเป็นการนำสิ่งที่อยู่ในร่างกายของเรามาต่อสู้กับโรค โดยอาจมีผลข้างเคียงเป็นการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ แต่พบได้ไม่บ่อย อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งนั้นแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันเรามีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ” ผศ.นพ.ไนยรัฐให้ข้อมูลอย่างละเอียด

ไม่เพียงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะกับตนเอง แพทย์ผู้รักษาก็ต้องหาวิธีที่เหมาะสมกับคนไข้ด้วยเช่นกัน มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยจึงทำ “โครงการทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งปอด” เป็นโครงการเก็บฐานข้อมูลผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาและวิจัยต่อยอดในการค้นหาแนวทางรักษาโรคมะเร็งปอดที่เหมาะสมกับคนไทย เพราะเชื้อชาติเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการรักษา ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลทางการแพทย์ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจาก

ต่างประเทศ ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้ทรัพยากรในการควบคุมมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการวางนโยบายในอนาคตเกี่ยวกับการเข้าถึงการรักษาของคนไทยที่ถึงแม้ในปัจจุบันสิทธิในการรักษาจะครอบคลุมการรักษาขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วน แต่ยาบางกลุ่ม เช่น ยามุ่งเป้าและยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยังจำกัดสิทธิการรักษาในเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่สามารถมีอายุอยู่เกิน 1 ปีมีจำนวนน้อยมาก แต่ปัจจุบันผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาใหม่ ๆ เช่น ยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถมีอายุต่อได้ถึง 3-5 ปี นวัตกรรมการรักษาแบบใหม่และความรู้ที่จะได้จากโครงการทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งปอดจึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดสามารถมีชีวิตเพื่อใช้ลมหายใจต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0