โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปังโควิด/ขนมไข่ใส่แมสก์ ลูกค้าชอบใจ แม่ค้าเผยที่มา “แค่อยากให้ยิ้มกัน...ได้บ้าง”

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 06.38 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 05.33 น.
ปังโควิด/ขนมไข่ใส่แมสก์ ลูกค้าชอบใจ แม่ค้าเผยที่มา “แค่อยากให้ยิ้มกัน...ได้บ้าง”
ปังโควิด/ขนมไข่ใส่แมสก์ ลูกค้าชอบใจ แม่ค้าเผยที่มา “แค่อยากให้ยิ้มกัน…ได้บ้าง”

ขนมไข่ใส่แมสก์/ปังโควิด ลูกค้าชอบใจ แม่ค้าเผยที่มา “แค่อยากให้ยิ้มกัน…ได้บ้าง” 

“กราบเรียน​ลูกค้าที่เคารพ

หากต้องการสั่งแซนด์วิช​โควิด ขอบวกเพิ่มนะคะ หน้ากากแพงค่ะ น้อลลลต้องใส่หน้ากาก

อิอิ หยอกกกกๆๆๆ”

เห็นโพสต์ภาพและข้อความขายสินค้าข้างต้น  หลายคนเป็นต้องอมยิ้ม และสนใจอยากรู้ที่มาที่ไป ใครหนอช่างคิดช่างทำ ออกมารับสถานการณ์โลกได้ดีแท้

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ไม่รีรอ ต่อสายตรงส่งถึง เจ้าของไอเดีย ทันที

“ชื่อ ต๊อป-อมลวรรณ โอจรัสพร ปัจจุบันอายุ 38 ปี พื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ ค่ะ” คู่สนทนาแนะนำตัว น้ำเสียงร่าเริง ก่อนย้อนประวัติให้รู้จักกันมากขึ้น จบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพายัพ เคยเปิดร้านขายของแฮนด์เมด ทำงานประจำเป็นเซลส์ของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ 8 ปี ก่อนลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว

คุณต๊อป เล่าต่อว่า สมัยทำงานเป็นเซลส์  มีโอกาสเข้าไปดูงานในครัวของโรงแรมบ้าง เคยได้รับมอบหมายให้ดูแลส่วนร้านเค้ก และส่วนงานจัดของว่างให้กับลูกค้าในโรงภาพยนตร์ ทำให้มี “ไอเดีย” ในการนำเสนออาหารรูปแบบต่างๆ ประกอบกับมีความชอบศิลปะเป็นทุนอยู่แล้ว เลยตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจรับจัดเลี้ยงคอฟฟี่เบรก ตามอีเว้นต์ต่างๆ

“เริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวนี้ จากฐานลูกค้าโรงแรมเดิม พอเขาเห็นเราโพสต์ผลงานในเฟซบุ๊ก  ส่วนใหญ่เขาชอบกัน เริ่มมีการสั่ง และบอกปากต่อปาก กระทั่งได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา” คุณต๊อป บอกอย่างนั้น

และว่า อาหารจัดเบรกให้กลุ่มลูกค้าของเธอนั้น ส่วนใหญ่เป็นเบเกอรี่ ซึ่งมีทั้งที่ทำเองและรับมาจากซัพพลายเออร์  เป็นกลุ่มเชฟโรงแรมที่รับงานนอก และร้านค้าอร่อยๆ ซึ่งเคยไปทาน ก่อนรับมาแต่งหน้าตาเพิ่มให้ดูดีขึ้น ทำให้มีเมนูหลากหลายให้ลูกค้าเลือก

“ไม่สามารถทำขนมเองได้ทั้งหมด เพราะต้องไปจัดหน้างานเอง เซตอัพสถานที่เอง ทำเองคนเดียว ลูกน้องประจำไม่มี แต่ถ้ารับงานใหญ่ สเกลหนึ่งร้อยคนขึ้นไป จะมีลูกน้องพาร์ตไทม์มาช่วย เศรษฐกิจอย่างนี้ งานมีไม่แน่นอน ถ้าจ้างลูกน้องประจำคงไม่ไหว” คุณต๊อป เผย

เมื่อถามถึงสถานการณ์ค้าขายในเชียงใหม่ยามนี้  คุณต๊อปถอนหายใจ ก่อนบอก ลดลงทุกอย่าง อีเว้นต์ไม่มีเลย แต่ในส่วนของเธอ ยังพอมีลูกค้าเรื่อยๆ หลายคนสั่งขนมใส่กล่องรวม แล้วนำไปจัดกันเองที่ออฟฟิศ

ส่วน ขนมไข่ใส่แมสก์ ที่มีลูกค้าชอบใจกันมากนั้น คุณต๊อป เล่าว่า จุดเริ่มต้น คือ มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งในกลุ่มเฟซบุ๊ก เป็นพื้นที่สำหรับโพสต์ขายของ และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับอาชีพทำเบเกอรี่ ไปเจอรูปคุกกี้โคโรนา ที่ไหนไม่รู้ แล้วส่งมาให้ในกลุ่ม เผื่อใครสนใจเอาไปประยุกต์ได้ ประจวบกับเธอมีออร์เดอร์ รับจัดขนมเลี้ยงแขกในงานศพผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง จึงจัดไปให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งลูกค้าก็ชอบใจกันมาก

“ขนมไข่ ที่คล้ายเค้กกล้วยหอมนั้นรับมา ก่อนตกแต่งเพิ่ม โดยนำแท่งไวท์ช็อกโกแลต ที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นนานแล้ว มาวาดเป็นรูปหน้ากาก วาดไปทั้งหมด 30 ชิ้น ปกติเป็นคนชอบจัดขนมตามธีมต่างๆ อยู่แล้ว และช่วงนี้มีสถานการณ์โควิด เลยลองทำออกมาดู ไม่คิดว่าคนจะชอบมากขนาดนี้ คงเพราะทำให้หลายคนยิ้มได้มั้งคะ” คุณต๊อป เล่าอย่างนั้น

พ่อค้า-แม่ขายเบเกอรี่ช่วงนี้ต้องปรับตัวยังไงบ้าง คุณต๊อปยิ้มกว้าง ก่อนบอก ต้องทันเหตุการณ์ หรือไม่ก็ “นำเทรนด์” ไปเลย แล้วจะขายของได้ง่าย ยกตัวอย่าง แซนด์วิชธรรมดา กับ แซนด์วิชที่มีการตกแต่งให้เข้ากับยุคสมัยนั้น อย่างหลังสามารถบวกเพิ่มได้ 5-10 บาท ลูกค้ายอมซื้อ ยิ่งในโลกโซเชียล เวลาใครซื้ออะไรมาเก๋ๆ เขาจะถ่ายรูปโพสต์กัน นั่นแหละจะทำให้ขายได้ดีกว่า

“บางคนคิดว่าอยากขายถูกเพราะคิดว่าขายง่าย แต่จริงๆ แล้วตลาดมี 3 ตลาด คือ บน-กลาง-ล่าง การขายของไม่จำเป็นต้องแข่งกันที่ตลาดล่างอย่างเดียว คนที่ขายตลาดล่างมีเยอะมาก แข่งกันเหนื่อยหนัก เพราะทุกคนแข่งกันด้วยราคา จนเครียดกันไปหมด ทั้งที่ความจริงแล้วลูกค้ามีหลายเกรด ที่เขายอมจ่ายแพงก็มี ลองหาลูกค้ากลุ่มนั้นดูบ้าง สลับๆ บ้าง” คุณต๊อป แนะนำ

และการจะทำให้สินค้าเบเกอรี่ “นำเทรนด์” ต้องทำยังไง คุณต๊อป บอกว่า

“ไม่ต้องนำเทรนด์ก็ได้ แค่ตามสมัยนิดนึง หาอะไรแปลกๆ มาให้คนทานบ้าง อย่างทำแซนด์วิช เป็นรูปหมี รูปกระต่ายบ้างก็ได้ ไม่ต้องสามเหลี่ยมอย่างเดียว หรือบางทีของเหลือจากการผลิต ขอบขนมปังหัวท้ายที่หั่นทิ้งกัน เอามาปั๊มพิมพ์น่ารักๆ เป็นรูปสัตว์ต่างๆ แล้วเอาไปตกแต่ง สามารถอัพราคาขึ้นได้ ลูกค้าก็เต็มใจจ่าย คนค้าขายต้องรู้จักดูให้เยอะ เปิดไปดูผลงานของชาวบ้านชาวช่องบ้าง แต่ดูแบบให้เป็นแรงบันดาลใจ ต่อยอดความคิดได้ อย่าเกิดแค่การเลียนแบบอย่างเดียว”

ก่อนจบบทสนทนา ขอให้ฝากเพื่อนๆ คนทำมาค้าขาย คุณต๊อป บอกจริงจัง

“ผู้ประกอบการ ถ้าจะรอดต้องอย่าท้อ เพราะท้อแล้วจะหดหู่ไปหมดกับทุกอย่าง แต่ก็ต้องใช้ชีวิตต่อ ถ้ามัวแต่นั่งท้อ มีแต่จะลบลงไปเรื่อยๆ จนไม่อยากทำอะไร ไม่หาทางขยับอย่างอื่นเลย สุดท้ายคงไม่รอด”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0