โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปักตะไคร้ไล่ฝน ทำไมต้องเป็นสาวพรหมจรรย์?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 29 ก.ย 2566 เวลา 02.21 น. • เผยแพร่ 27 ก.ย 2566 เวลา 23.36 น.
ภาพปก-ปักตะไคร้
นางสาคร มาปากลัด ชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านอ้อมโรงหีบ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร สาธิตการปักตะไคร้

เคยสงสัยไหมว่า “ปักตะไคร้” ไล่ฝน ทำไมต้องเป็น “สาวพรหมจรรย์”?

“รับสมัครสาวพรหมจรรย์อายุ ในมาตรการรักษาพรหมจรรย์ภายหลัง ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป 3 คน ปลูกตะไคร้ ด้านหน้าเวที ขอไวหน่อยนะครับ เมฆตั้งเค้ามาแล้ว…”

เสียงพิธีกรรมบนเวทีปฏิรูปประเทศหลังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศเมื่อบ่ายวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ใดๆ ขณะที่ผมเข้าไปร่วมสังเกตการณ์อยู่ข้างเวที สาวรุ่นป้า รุ่นยาย แย่งยกมือกันสลอน เรียกเสียงฮาครื้นเครงจากผู้เข้าร่วมชุมนุม เนื้อความที่ประกาศนั้นไม่ได้มีการทํากันขึ้นมาจริง แต่เชื่อว่าเป็นมุขที่ต่างเข้าอกเข้าใจกันดีว่า การ “ปลูกตะไคร้” หรือ “ปักตะไคร้” เอาเคล็ดป้องกันไม่ให้ฝนตก เป็นที่เชื่อถือกันอยู่ในเกือบทั่วทุกภูมิภาคของไทย แถมคนที่จะทําหน้าที่นี้ได้ต้องเป็น “สาวพรหมจารี” หรือ “สาวพรหมจรรย์” เท่านั้น

ผู้คนส่วนใหญ่รับรู้ในแบบเดียวกันว่า คนที่จะปลูกตะไคร้เพื่อไม่ให้ฝนตกนั้นต้องเป็นสาวพรหมจารี ถึงวันนี้ที่เราต่างอยู่ในยุคดิจิทัล ผมไม่มีข้อสงสัยหรอกว่าพิธีนี้จะได้ผลหรือไม่ ผมสนใจวิธีคิดในการพยายามหาที่พึ่งทางใจ และการเลือกคุณสมบัติของผู้มาปักตะไคร้มากกว่า และที่สําคัญ สมุทรสาครบ้านผมใช้ “แม่หม้าย” แน่นอนว่าลดอัตราเสี่ยง และทนแรงต้านที่อาจถูกตั้งข้อสงสัยในมาตรการรักษาพรหมจรรย์ภายหลังการปักตะไคร้แล้วฝนเทลงมาได้ในระดับดี

การรับมือกับธรรมชาติขณะมีงานมหรสพ หรืองานประเพณีกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่โล่งแจ้งของชาวบ้าน ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะมีฝนตกลงมาขณะจัดงาน อันจะทำให้งานนั้นกร่อยหรือถึงกับล่มด้วยวิธีการต่างๆ นั้นคงมีอยู่ด้วยกันในหลายชาติ แม้จะรู้ดีว่าเป็นการฝืนธรรมชาติ แต่ก็คงเป็นความพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการละเล่นแก้เครียด ที่น่าจะดีกว่าไม่ทําอะไรเอาเสียเลย

การปลูกหรือปักตะไคร้เพื่อป้องกันฝนตก อันเป็นที่รู้จักกันดีแล้วในบางแห่ง เช่น ปทุมธานี ที่ผมเคยพบมาด้วยตนเอง นอกจากการปักตะไคร้แล้ว ยังมีพิธีกรรมอื่นพ่วงเสริมเข้าไปด้วย คือ ปักตะไคร้พร้อมหงายครกหงายสาก โดยเอาสากตั้งขึ้นชี้ฟ้า

ย่านอําเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี นิยมเอากางเกงในแม่หม้ายสีแดงผูกเข้ากับปลายไม้ยาวๆ ปักแขวนไว้กลางแจ้งกันฝนตก

แถบภาคเหนือในบางถิ่น นิยมนําเอาผ้าถุงผู้หญิงขึ้นพาดหรือตากไว้บนหลังคาบ้านหรือเพิงพัก นัยว่าเพื่อ ให้เกิดอาเพศฝนฟ้าจะได้ไม่ตก แต่ก็ไม่มีหลักปฏิบัติชัดเจนว่าจะต้องเป็นผ้าถุงแม่หม้ายด้วยหรือไม่อย่างไร

ในขณะที่ประเทศจีน เจ้าของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งของเอเชีย และมีคติความเชื่อที่ผูกติดกับสิ่งเหนือธรรมชาติขนานใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก แม้จะยังมีความคิดเรื่องการป้องกันฝนตกเช่นเดียวกัน แต่กลับเลือกใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ ผมได้อ่านบทความของคุณพิษณุ นิลกลัด เรื่อง “วิธีห้ามฝนสมัย ทําพิธีเปิดและวันทําพิธีปิดการแข่งขัน ใหม่ไม่ต้องปักตะไคร้” คอลัมน์คลุกวงใน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2551 เล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

คณะกรรมการจัดการแข่งขันมีการเตรียมการวางแผนรับมือ หากเกิดฝนตกขึ้นระหว่างจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 โดยนักอุตุนิยมวิทยาของจีนวิเคราะห์จากสถิติฝนตกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และพยากรณ์ว่า โอกาสที่ฝนจะตกในวันทำพิธีเปิดและวันทำพิธีปิดการแข่งขัน มีความน่าจะเป็นสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับเจ้าภาพเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้เจ้าภาพก็ไม่ได้วิตกกังวลมากนัก เพราะมั่นใจในวิธีห้ามฝนแบบใหม่ที่จะนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิคครั้งนั้น

แน่นอนว่าการห้ามฝนของจีนไม่ได้ใช้วิธีทางไสยศาสตร์ ที่จะเชิญสาวพรหมจรรย์มาทําพิธีปักตะไคร้เอายอดลงดินเอาปลายชี้ฟ้า หรือเอาซินแสมาทําพิธีห้ามฝน แต่จีนยุคใหม่ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการห้ามฝนที่เรียกว่า Cloud Seeding ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับการทําฝนเทียมที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี

วิธีการก็คือ ในช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันทําพิธีเปิดและพิธีปิด การแข่งขันโอลิมปิค 2-3 วัน ทางเจ้าหน้าที่ของกรุงปักกิ่งจะยิงจรวดบรรจุสารเคมีขึ้นฟ้าเหนือกรุงปักกิ่ง ให้ไประเบิดท่ามกลางก้อนเมฆ เป็นการเร่งให้ฝนตก นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการรีดเมฆให้กลั่นตัวเป็นเม็ดฝนให้หมดจากน่านฟ้ากรุงปักกิ่ง เพื่อที่จะได้ไม่ตกในวันพิธีเปิดและปิดกีฬา

วิธีการนี้นอกจากจะทําให้งานใหญ่ระดับชาติดําเนินไปได้อย่างราบรื่นแล้ว ฝนยังช่วยชะล้างมลพิษในอากาศของกรุงปักกิ่ง ที่มีระดับมลพิษในอากาศสูงกว่าระดับมลพิษที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) รับรองถึง 2-3 เท่า นับเป็นการยิงจรวด นัดเดียวได้ประโยชน์ถึง 2 สถาน

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 นั้นตรงกับปฏิทินตะวันตก วันที่ 8 เดือน 8 ค.ศ. 2008 ซึ่งถือเป็นตัวเลขมงคลอย่างยิ่งของคนจีน ถือเป็นคติความเชื่อโบราณ แต่ขณะเดียวกันก็เลือกใช้วิธีห้ามฝนตกด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ นับว่าเป็นการผสมผสานกันทางเทคโนโลยีชนิดที่เรียกว่าตะวันตกพบตะวันออกอย่างแท้จริง

ทีนี้มาว่ากันด้วยวิธีการ ปักตะไคร้ เป็นความเชื่อที่มีมาช้านานของไทย ไม่พบหลักฐานว่ามีมาแต่เมื่อครั้งใด อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากวิธีการป้องกันฝนตกวิธีอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เราลองมาดูวิธีการแบบที่เรียกว่า “วิธีการแบบบ้านๆ” ดูบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรซับซ้อน โดยจะกระทำพิธีตรงลานดินกลางแจ้ง

สําหรับสังคมเมืองในปัจจุบันที่หาลานดินที่โล่งกลางแจ้งได้ยาก ก็เคยเห็นมีคนนําเอากระถางหรือภาชนะใส่ดิน แล้วนําไปวางกลางแจ้ง แล้วปักตะไคร้ลงในภาชนะนั้นแทน ซึ่งวิธีการก็แค่เพียงปักตะไคร้ลงดิน โดยเอาด้านปลายลงดินให้ด้านโคนชี้ฟ้า พิจารณาดูแล้วก็ถือว่าเป็นเจตนาที่จะทำการให้มันฝืนธรรมชาติโดยตัวของมันเอง พระพิรุณเห็นเข้าคงจะนึกขัน ไม่ทันจะโปรยปรายละอองฝนลงมายังพื้นโลก

ลองสอบถามคนเคยมีประสบการณ์หลายคนก็ตอบตรงกันว่า ระหว่างทำพิธีปักตะไคร้ก็กลั้นใจตั้งจิตอธิษฐานบนบานศาลกล่าวแต่สิ่งดีๆ ตามแต่จะนึกเอา เพื่อให้เทวดาเมตตา ไม่ได้มีคำสวดหรือคาถาบทไหนเป็นการเฉพาะ

แต่สิ่งที่ดูจะเป็นหลักการสำคัญในการปักตะไคร้น่าจะอยู่ที่คนปัก ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องให้สาวพรหมจรรย์เป็นผู้ปัก ส่วนทางมอญพระประแดง สมุทรปราการ มีคติต่างออกไปเพื่อเสริมเติมความเข้มขลังว่า คนปักจะต้องเป็นลูกคนเล็กของครอบครัวด้วย

ประเด็นสําคัญคือ การเลือกคุณสมบัติของคนปักตะไคร้ จากการที่ผมได้พูดคุยกับผู้คนในหลายถิ่นก็พบว่าต้องเป็นสาวพรหมจรรย์เหมือนกัน จะเว้นก็แต่ที่บ้านของผมที่สมุทรสาคร ส่วนใหญ่จะใช้แม่หม้ายเป็นคนปัก และเมื่อผมนําเรื่องดังกล่าวนี้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนบ้านอื่น ก็มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแปลก ผมจึงได้ไปสอบถามคนปักตะไคร้แถวบ้านที่มีผลงานดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจให้ปักมาแล้วหลายงานติดต่อกัน เนื่องจากภายหลังการปักตะไคร้ ลมหอบเอาเมฆปลิวหาย ได้ผลชะงัดทุกครั้ง

คนที่ผมไปคุยด้วยคือ น้าสาคร มาปากลัด บ้านอยู่ย่านตําบลบ้านเกาะ น้าสาครเล่าว่า การปลูกตะไคร้ ไล่ฝน เอาแน่ไม่ได้ เพราะเรื่องฟ้าเรื่องฝนไม่มีใครห้ามได้ หากมันจะตกมันก็ตก อย่างเช่นคราวก่อนน้าไปร่วมงานเพื่อนต่างหมู่บ้าน เมื่อเกิดฝนตั้งเค้าขึ้น แม่ครัวภายในงานก็จัดแจงปลูกตะไคร้ ปลูกเสร็จไม่นานฝนก็เทลงมาไม่ลืมหูลืมตา

นอกจากนี้ น้าสาครยังระบุอีกว่า ในการเลือกคนปักตะไคร้ต้องเลือกเอาแม่หม้ายที่มีสามีคนเดียว รักเดียวใจเดียว โดยเลือกเอาจากบรรดาคนที่มาช่วยในงานนั่นเอง เพราะใครเป็นใครก็รู้จักมักคุ้นกันดีอยู่แล้ว หากมีแม่หม้ายหลายคนก็ต้องปรึกษาหารือกันว่าใครจะเหมาะสมที่สุด

“วันงานศพยาย [มารดาของนางสาคร – ผู้เขียน] ฝนครึ้มมา ก็คุยกันในครัวว่าจะหาใครปลูกตะไคร้ งานนั้นมีฉันคนหนึ่ง ยายยา นังแตน คุยกันไปคุยกันมา ตกลงเอาฉัน เพราะยายยา ชักจะมีหนุ่มมาเมียงมอง ไอ้แตนยังสาวสาวยอยู่ก็ยังมีหนุ่มจีบเยอะ…อย่างเมื่อตอนงานแต่งไอ้หมวยนั่นไง ใครปลูกก็ไม่รู้ ฝนเทโครม น้ำท่วมหม้อไหกะละมังลอยต้องตามเก็บกัน…”

สมัยเป็นเด็ก ผมติดแม่แจ เวลาแม่ไปงานบวชงานแต่งแถวบ้านก็ตามไปด้วย ขณะที่แม่เข้าไปช่วยงานในครัวขูดมะพร้าว ตำน้ำพริก หั่นผักหั่นเนื้อ ผมก็นั่งเล่นอยู่ข้างแม่ ทำให้ได้ยินทุกเรื่องที่แม่ครัวเขาคุยกัน บอกได้คำเดียวว่า ช่วงเวลาที่ผู้หญิงเขารวมตัวกันแบบนั้น เขาเป็นผู้ใหญ่ในครัว พวกผู้ชายก็รวมกลุ่มกับผู้ชายไกลออกไป จัดการหุงข้าว ต้มน้ำชา ปิ้งขนมหม้อแกง เป็นงานที่ต้องอยู่ใกล้กองไฟขนาดใหญ่แสบร้อนผิว ผู้หญิงเขาไม่ทำ

นอกนั้นก็งานขนของแบกหาม รับแขก เสิร์ฟอาหาร จัดแจงพิธีสงฆ์ และพิธีกรรมต่างๆ หากผู้ชายหลุดเข้าไปในครัวอันเป็นถิ่นของพวกผู้หญิง ก็จำต้องนอบน้อมรู้อยู่เจียม เรื่องที่พวกผู้หญิงคุยกันในครัวจะเป็นใต้สะดือหรือเหนือสะดือ หากต่อปากต่อคำกันแล้ว ผู้หญิงไม่มีทางลงให้ผู้ชายในนาทีนั้นเด็ดขาด

เรื่องในครัวนั้นผู้หญิงเขาเหมาหมดว่างั้นเถอะ รวมทั้งการดูแลบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีสางและฝนฟ้าสิ่งเหนือความคาดหมายหากงานใหม่ฝนตั้งเค้าเมฆครึ้มขึ้นมา คนที่จะต้องลุกขึ้นมาจัดการคือกลุ่มแม่ครัวพวกนี้เอง

งานบวชงานหนึ่ง ผมจำได้ติดหูอยู่รางๆ พวกแม่ครัวหารือกันเรื่องจะให้ใครเป็นคนปักตะไคร้ไล่ฝน ถกเถียงกันลั่นครัวเหมือนจะส่งสาวงามหมู่บ้านขึ้นประกวดเทพี ถ้อยคำคล้ายจะเคร่งเครียดแต่ก็ขบขันกับความสัปดีสีปดน

“เอาอีช้อนนั่นไง” คนหนึ่งแย้มว่า

งานที่แล้วมันปักฝนตกห่าใหญ่ มึงจำไม่ได้เรอะ ฝีมือไม่ถึง” เสียงใครสักคนแทรกขึ้นมากลางวง

“อีเพิ่มก็ได้อยู่หรอกกูว่า ผัวตายห่าไปหลายปี ไม่ค่อยได้ปัก คงเหงาพิลึก”

อีกคนขัด “ปีกลายมันปักงานปิดทองหลวงพ่อโต ฝนเทโครมเดียวหม้อกระจาย กระทะกระโถนลอยน้ำคว้ากันไม่ทัน…”

“เออ ใช่ ไม่รู้ไปแอบมีผัวซุกไว้ที่ไหนหรือเปล่า”

แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าฝนฟ้าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถคุมได้อย่างใจตัว เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ มากกว่าการคิดเอาชนะธรรมชาติที่ไม่มีความเที่ยงแท้ เพราะวันใดวันหนึ่งธรรมชาติก็อาจเอาคืนกับมนุษย์ตัวเล็กๆ ผู้บังอาจท้าทาย อย่างที่ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณให้เห็นในปัจจุบันในหลายแห่งของโลก พูดถึงตรงนี้ก็นึกถึงคำพูดของน้าสาครที่ว่า “เพราะมันเป็นธรรมชาติ แต่จะไม่ให้ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ ก็ลองดู เป็นที่พึ่งทางใจอะไรกันไป”

การปักตะไคร้ไล่ฝนในปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า มีปัจจัยสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ควบคู่กันไปคือ คนปักต้องเป็น “สาวพรหมจรรย์” แม้ไม่อาจระบุที่มาได้ว่าเหตุใดต้องเป็นเช่นนี้ แต่ก็มีเค้าลางวิธีคิดเรื่องสาวพรหมจรรย์อยู่ในหลายแห่ง เช่น การใช้สาวพรหมจรรย์กวนข้าวทิพย์บูชาพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ความเชื่อเรื่องการฝังร่างสาวพรหมจรรย์ลงในหลุมเสาในการสร้างเมืองสมัยโบราณ อันอาจเป็นชุดความเชื่อเรื่องของความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องทางเพศ หรือการตีตราทางเพศอย่างที่มีบางท่านตีความด้วยบริบทปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ สาวพรหมจรรย์ ในการปักตะไคร้ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นวาทกรรมที่ใช้ในการล้อเลียนเชิงตลกขบขัน กรณีที่ปักตะไคร้แล้วฝนยังตก และแทนที่จะให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของสภาวะทางธรรมชาติ แต่กลับเลือกที่จะพุ่งเป้าไปตั้งคำถามกับคนปักตะไคร้ ในทำนองข้องใจว่าเป็น สาวพรหมจรรย์ หรือ “บริสุทธิ์” จริงหรือไม่ แม้จะแลดูเหมือนเป็นเรื่องล้อกันเล่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องเล่นที่ผู้หญิงหลายคนคงไม่สนุกด้วย

โดยเฉพาะในสังคมเก่าที่ผู้ชายยังให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ทางเพศ มากกว่าความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมของผู้หญิง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0