โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ปวดหัวบ่อย ๆ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

LINE TODAY

เผยแพร่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 11.28 น.

การปวดหัวเป็นการปวดเบื้องต้นที่คนร้อยทั้งร้อยต้องเคยปวด แต่รู้หรือไม่..การปวดหัวมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ปวดแต่ละแบบ ปวดแต่ละจุด ก็เสี่ยงเป็นโรคต่างกัน ปวดขมับก็เสี่ยงโรคหนึ่ง ปวดบริเวณท้ายทอยก็อาจเป็นอีกโรค

บางคนแค่เครียดก็ปวดหัว บางคนนอนไม่พอก็ปวดหัว ในขณะที่บางคนปวดหัวบ่อยจนไม่รู้สาเหตุว่าแท้ที่จริงแล้ว ปวดเพราะอะไร ได้แต่แก้ปัญหาไม่ตรงจุดด้วยการกินยาแก้ปวดไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว การปวดหัวบางประเภทสามารถหายได้ด้วยการดูแลตัวเองเท่านั้น

ปวดหัวเพราะเครียด ปวดแบบไหน??

การปวดหัวแบบทั่วไปที่พบบ่อยที่สุดก็คือ การปวดที่เกิดจากความเครียด เหนื่อย ทำงานหนัก เป็นการปวดแน่น ๆ หรือรัด ๆ ที่ขมับหรือท้ายทอย รู้สึกตึง ๆ เหมือนมีอะไรมารัดศีรษะ ซึ่งจะปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเครียด และความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นของแต่ละคน 

บางคนที่ปวดมาก อาจมีอาการปวดคอหรือไหล่ตามมาด้วย แต่ถ้าสังเกตให้ดี การปวดที่เกิดจากความเครียดแม้จะรุนแรงแบบปวดมาก แต่จะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้นการปวดลักษณะนี้เป็นการปวดแบบธรรมดา กินยาแก้ปวดก็สามารถหายได้

การกินยาแก้ปวดหรือพาราเซตามอล หากกินอย่างถูกต้องก็จะไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ กับร่างกาย โดยปริมาณที่ถูกต้อง คือต้องกินในขนาด 10 มิลลิกรัม (มก.) ต่อน้ำหนัก ตัว 1 กิโลกรัม (กก.) ต่อครั้ง และกินห่างกันทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ซึ่งหากเป็นเด็กไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน ผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 10 วัน ที่สำคัญทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 3 วัน ดังนั้นหากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กก. ก็ควรกินยาพาราขนาด 500 มก. จำนวน 1 เม็ด แต่หากว่าน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กก. ก็ควรกินยาพารา 2 เม็ด

แม้การกินยาแก้ปวดหรือพาราเซตามอลจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากนัก แต่การไม่กินเลยจะย่อมดีกว่า ดังนั้นเมื่อรู้แล้วว่าที่เราปวดรัด ๆ แน่น ๆ ที่ศีรษะทั้งสองข้าง หรือต้นคอ เพราะความเครียด ความเหนื่อยล้า และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ควรพยายามดูแลตัวเองให้ห่างไกลความเครียด พักผ่อนให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง อาการปวดหัวบ่อย ๆ ก็จะทุเลาลง

ปวดบ่อยแบบนี้ ไมเกรนแน่ ๆ

บางคนปวดหัวบ่อย บางครั้งก็ปวดหัวข้างเดียวทำให้คิดไปเองว่าต้องเป็นไมเกรนแน่ ๆ ถึงขั้นไปหาซื้อยาแก้ไมเกรนมากินเอง แล้วก็หายปวดซะด้วย ก็เลยเดาเอาเองว่าเป็นไมเกรน!

จริงอยู่ที่ไมเกรนมักจะต้องปวดหัวข้างเดียว แต่ไม่จำเป็นเสมอไป การปวดหัวทั้งสองข้างก็อาจเป็นไมเกรนได้ แม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตาม การปวดไมเกรนมักไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็ปวดหัวขึ้นมากะทันหัน แต่จะมีอาการอื่นนำขึ้นมาก่อน เช่น เห็นแสงสว่างเป็นจุด ๆ รู้สึกหนักที่แขน-ขา มีอาการคันตามผิวหนัง ไวกับแสง เสียง หรือกลิ่นมากกว่าปกติ เพลีย หาวบ่อย หิวบ่อย กินจุ หิวน้ำบ่อย ท้องผูก หรือท้องเสีย ซึ่งอาการนำเหล่านี้จะเกิดขึ้นก่อนการปวดหัวไมเกรนเสมอ

ลักษณะการปวดไมเกรนคือต้องปวดตุบ ๆ เหมือนชีพจรเต้น ส่วนมากจะปวดบริเวณศีรษะด้านหน้า รอบลูกตา ต่อมาก็จะปวดลามไปจนถึงด้านหลัง จนในที่สุดก็ปวดทั้งศีรษะ ซึ่งการปวดมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับการความเครียดและระดับฮอร์โมน เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของที่ทำให้ปวดหัวไมเกรน นอกจากนี้การเคลื่อนไหวร่างกายก็ทำให้ปวดมากขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน หรือขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน 

ดังนั้น คนเป็นไมเกรนจึงควรพักผ่อนให้มาก ขยับร่างกายให้น้อยที่สุด เพื่อให้อาการปวดทุเลาลง ที่สำคัญไม่ควรซื้อมากินเองโดยเด็ดขาด เนื่องจากไมเกรนเป็นโรคที่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด แต่อย่าลืมว่าไมเกรนคือโรคที่เกิดจากความเครียดและฮอร์โมน ดังนั้นถ้าเราขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป อาการปวดไมเกรนก็จะน้อยลง หรืออาจเพิ่มตัวช่วยให้ห่างไกลไมเกรนด้วยการออกกำลังกายก็ได้

การปวดหัวส่งผลถึงสมองโดยตรง

เมื่อมีอาการปวดหัวรุนแรงที่สุดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน แถมยังเป็นแบบทันทีทันใด พร้อมด้วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมองก็ได้ 

แม้อาการปวดหัวจะไม่ใช่อาการหลักของโรคหลอดเลือดในสมองแตก แต่เราสามารถสังเกตการปวดหัวของตัวเองเพื่อนำไปสู่การป้องกันที่ถูกต้องได้ โดยหากปวดฉับพลันที่ท้ายทอย และมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และอ่อนแรงทันที อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองแตก และหากปวดหัวแล้วปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ตัวชาครึ่งซีกก็อาจเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบได้ แต่ในกรณีที่อายุมากแล้วปวดหัวมากที่ขมับ หรือปวดเมื่อยทั้งตัว ก็เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองอักเสบได้เช่นกัน

ที่สำคัญหากป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ซึ่งการปวดหัวบ่อย ๆ แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นอาการเบื้องต้นที่นำไปสู่โรคเส้นเลือดในสมองแตกได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการของโรคเส้นเลือดในสมองถือว่ามีความรุนแรงมาก และต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที มิเช่นนั้นอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0