โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปวดประจำเดือนแบบนี้ เป็นสัญญาณไม่ดีแล้ว

Mango Zero

เผยแพร่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 12.19 น. • Mango Zero
ปวดประจำเดือนแบบนี้ เป็นสัญญาณไม่ดีแล้ว

แค่มีประจำเดือนก็ลำบากแล้ว ยิ่งมีอาการปวดท้องด้วยยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ การไม่ปวดประจำเดือนจึงถือเป็นลาภอันประเสริฐสำหรับผู้หญิง

ส่วนใหญ่อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) จะเกิดขึ้นช่วง 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน หรือตลอดช่วงการมีประจำเดือน แต่ไม่มาก โดยจะรู้สึกปวดเกร็ง หรือปวดบีบบริเวณท้องน้อย ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกปวดมากเกินไป หรือเกิดอาการที่ไม่ปกติ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และไปหาหมอให้เร็วที่สุดจะดีกว่า แล้วอาการแบบไหนล่ะที่บอกว่าการปวดท้องครั้งนี้เริ่มเป็นสัญญาณไม่ดีแล้ว?

ปวดท้องจนลุกไม่ไหว

การปวดท้องประจำเดือนจะรู้สึกหน่วงๆ หรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย ซึ่งปกติแล้วจะเป็นอาการปวดที่ทนได้ อาจจะรู้สึกไม่สุขกายบ้าง แต่ถ้าปวดมากจนต้องนอนตัวงอ ลุกไม่ไหว ก็ควรไปพบแพทย์แล้วล่ะ

ปวดท้องมากจนกินยาก็เอาไม่อยู่

บางคนปวดท้องทุกครั้งที่มีประจำเดือน จนมีพอนสแตนเป็นเพื่อนคู่ใจ (ที่ไม่อยากมีซักเท่าไหร่) แต่ถ้าเมื่อเพื่อนคนนี้ไม่ช่วยให้เราหายปวดท้อง จนต้องไปฉีดยาบรรเทาอาการปวดแทบทุกครั้งที่มีประจำเดือน ถือว่าเป็นการปวดท้องที่หนักหนา ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

ปวดท้องและมีไข้ร่วมด้วย

เนื่องจากในช่วงมีประจำเดือน ฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง และภูมิต้านทานก็จะลดลงด้วย ถ้าหากมีไข้ในช่วงประจำเดือน อาจนำไปสู่การเป็นไข้ทับระดู ซึ่งมีอาการเหมือนไข้หวัด คือมีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ควบคู่ไปกับการมีประจำเดือน จึงทำให้รู้สึกว่าอาการหนักกว่าปกติ ถ้ากินยาแล้วไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

ปวดท้องมากขึ้นทุกเดือน

ปวดเดือนแรกไม่เป็นไร เดือนต่อไปเริ่มปวดมากขึ้น จากที่ทนนิดหน่อยก็หายปวดไปเอง กลายเป็นต้องกินยา ไปๆ มาๆ ต้องฉีดยาช่วย ถ้าปวดหนักขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ทางที่ดีควรไปหาหมอ

ปวดท้องแม้ไม่ได้มีประจำเดือน

การปวดท้องมีหลายแบบ แต่ใครที่มีประสบการณ์ปวดประจำเดือนมาแล้วก็คงพอจะแยกออกว่าแบบไหนคือปวดท้องอะไร ถ้าเราปวดท้องคล้ายๆ ตอนมีประจำเดือน แต่ไม่ใช่ช่วงวันนั้นของเดือน หรือไม่แน่ใจว่าปวดท้องอะไรกันแน่ ก็ไปหาหมอให้รู้สาเหตุไปเลยดีกว่า 

วิธีที่ช่วยให้อาการปวดประจำเดือนดีขึ้น

ประคบด้วยถุงน้ำร้อน

นำถุงน้ำร้อน (แต่ไม่ต้องร้อนมากนะ) ประคบบริเวณท้องน้อยและหลัง ความร้อนจะช่วยให้เลือดประจำเดือนขับออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่มีถุงน้ำร้อน การอาบน้ำอุ่น หรือจิบน้ำอุ่นๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน

ดื่มน้ำเยอะๆ

ร่างกายของเราต้องการน้ำสะอาดที่เพียงพอตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนมีประจำเดือน เพราะน้ำเปล่าจะช่วยรักษาสมดุลของร่างกายรวมถึงฮอร์โมนเอสโตรเจน แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นๆ ก็จะยิ่งช่วยการไหลเวียนเลือด และช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้มากขึ้น

กินยาแก้ปวด

บางคนอาจจะปวดท้องจนสนิทกับยา ชนิดที่ว่าต้องเจอกันทุกเดือน นั่นก็คือยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น พอนสแตน ไอบูโพรเฟน โดยยาเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการหลั่งโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) สารที่ทำให้กล้ามเนื้อบีบและหัวตัว แต่การกินยามักมีผลข้างเคียง จึงไม่ควรกินติดต่อกันในระยะยาว

ออกกำลังกายเบาๆ

การออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟิน ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งควรทำอย่างสม่ำเสมอให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน เพราะช่วงมีประจำเดือนเราอาจออกกำลังกายไม่ไหว ก็ไม่ควรฝืนเพราะอาจเป็นอันตรายได้ แต่ถ้าใจสั่งว่ายังไงก็ต้องออกกำลังกาย ก็สามารถออกกำลังกายเบาๆ อย่าง โยคะ แอโรบิก

พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด ยิ่งเวลามีประจำเดือนเราจะรู้สึกอ่อนล้ามากกว่าปกติ ยิ่งไม่ควรใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วง แต่การพักผ่อนอย่างเพียงพอไม่ใช่ทำแค่ช่วงมีประจำเดือน แต่ควรทำเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายไม่อ่อนแอ 

ที่มา samitivejhospitals, med.mahidol, bumrungrad

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0