โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปลูกเมล่อนคุณภาพ สู้วิกฤติเศรษฐกิจที่แปรปรวน

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2561 เวลา 10.14 น.
ภาพที่ 7 เมล่อน เนื้อสีเหลือง รสชาติหวานหอมกรอบอร่อย

เมล่อน เป็นผลไม้ที่มีรสหวาน หอม อร่อย มีสรรพคุณช่วยเสริมสุขภาพ จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอยู่ในอันดับต้นๆ เป็นไม้ผลที่มีการปลูกกันแพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และที่เมืองชัยนาทมีเกษตรกรปลูกในเชิงการค้าด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ทำให้ได้ผลเมล่อนคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภค เป็นหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้เงินแสนบาทให้เกษตรกรยังชีพได้มั่นคง

เมล่อน เป็นพืชในวงศ์แตง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Cucumis meio L” ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปแอฟริกา มีชื่อเรียกทั่วไปว่า แตงหอม แตงหวาน แคนตาลูป หรือแตงเทศ เมล่อนที่ปลูกเพื่อการค้ามี 3 ชนิด ดังนี้

  • 1. Cantaloupensis หรือ Rock Melon ผิวเปลือกแข็ง ขรุขระ แต่ไม่ถึงกับเป็นร่างแห
  • 2. Inodorous ผิวเปลือกเรียบ และมักไม่มีกลิ่นหอม หรือนิยมเรียกกันว่า แคนตาลูป
  • 3. Reticulatus หรือ เน็ทเมล่อน ลักษณะผิวเปลือกด้านนอกขรุขระเป็นร่างแหคลุมทั้งผล มีกลิ่นหอม เนื้อมีสีเหลืองและสีส้ม

สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเมล่อนเป็นพืชผสมผสานเพื่อช่วยลดความเสี่ยงภัยทั้งด้านการผลิตและการตลาด ให้ปลูกด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลเมล่อนคุณภาพที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่องและมีวิถีที่มั่นคงยั่งยืน

คุณอาทิตย์ ภัชราภิรักษ์ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน เมล่อน เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย เพราะมีรสชาติที่หวาน หอม อร่อย มีสรรพคุณช่วยเสริมสุขภาพให้แข็งแรงด้วย

คุณอาทิตย์ ภัชราภิรักษ์ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนเป็นพืชผสมผสาน
คุณอาทิตย์ ภัชราภิรักษ์ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนเป็นพืชผสมผสาน

ในสภาวะเศรษฐกิจที่แปรปรวน จากที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย จึงได้ตัดสินใจเลือกปลูกเมล่อนเป็นพืชผสมผสานตามคำแนะนำของสำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงภัยต่างๆ และมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวต่อเนื่องทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและขายมีรายได้นำไปสู่วิถีที่มั่นคง

ได้ปลูกเมล่อนมา 5 ปีแล้ว เมล็ดพันธุ์ที่ปลูกได้ซื้อมาจากแหล่งพันธุ์คุณภาพที่เชื่อถือได้ ปลอดภัยจากศัตรูพืช หลังการปลูกได้ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาด้วยการใส่ปุ๋ย ให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดและสปริงเกลอร์ ป้องกันศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติและใช้สารสมุนไพร และปลูกด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เพื่อให้ได้ผลเมล่อนคุณภาพ

พันธุ์เมล่อน ได้เลือกพันธุ์ปลูกที่ตรงกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค ดังนี้

  • เมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น เนื้อสีเขียว เนื้อนุ่ม กลิ่นหอม หวาน พันธุ์ฮิเดโกะ (HIDEGO)
  • เมล่อนเนื้อสีส้ม หวาน กรอบ ผิวสีเหลืองทอง พันธุ์จันทร์ฉาย
  • เมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น เนื้อสีส้ม หวาน กรอบ ผิวเปลือกตาข่าย พันธุ์ฮารุ (HARU)
  • เมล่อนญี่ปุ่นผิวเปลือกตาข่าย เนื้อสีเขียว หวาน นุ่ม พันธุ์ยูกิ (YUKI)
  • ร็อคเมล่อน สายพันธุ์ญี่ปุ่น ผิวเปลือกตาข่าย เป็นพู เนื้อสีส้ม หวาน กรอบ พันธุ์พูรุ (PURU)

การเพาะกล้า นำเมล็ดใส่ผ้าขาวบางไปแช่น้ำอุ่น 1-2 ชั่วโมง แล้วนำออกมาบ่มไว้ในกระติก ปิดฝาไว้ 10-12 ชั่วโมง นำเมล็ดที่บ่มแล้วมาใส่ลงในถาดเพาะที่มีส่วนประกอบพิทมอสส์เป็นวัสดุเพาะกล้า วางเมล็ดด้านที่จะแตกราก ลงด้านล่าง ให้น้ำแต่พอดี จากนั้น 3-4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน ก็นำถาดเพาะกล้าไปวางไว้ที่กลางแจ้ง เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี

การเตรียมแปลงปลูก ได้ไถดะไถแปรไถพรวน ยกร่องแปลงให้สูง มีความกว้าง 70-80 เซนติเมตร ความยาวตามแนวพื้นที่แปลง เว้นระยะห่างระหว่างแปลง กว้าง 60 เซนติเมตร รองพื้นแปลงปลูกด้วยปุ๋ยคอกแห้ง คลุมแปลงด้วยผ้าพลาสติกเพื่อควบคุมความชื้นและวัชพืช เจาะผ้าพลาสติกเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร จัดระยะห่างระหว่างต้นและแถว 30×50 เซนติเมตร พร้อมกับจัดทำค้างไม้เตรียมไว้ให้ต้นเมล่อนได้เกาะเลื้อย

การปลูก นำต้นกล้าอายุ 10-15 วัน มาปลูกในแปลงหลุมละต้น พื้นที่โรงเรือนขนาดกว้างและยาว 8×20 เมตร จะปลูกได้ 420 ต้น หลังปลูก 7-10 วัน ได้เจาะรูผ้าพลาสติกเพื่อเปิดเป็นหลุมระหว่างต้นแล้วใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในอัตรา 1 ช้อนโต๊ะ เกลี่ยดินกลบ จากนั้นให้น้ำพอชุ่ม

เมื่อต้นเมล่อนเจริญเติบโต ได้เลือกเด็ดแขนที่แตกออกมาในข้อที่ 1-6 ออก และเหลือ ข้อที่ 9-12 ไว้ เพื่อการผสมเกสร เมื่อต้นเมล่อน อายุ 25-30 วัน ในข้อที่ 9-12 จะมีดอกตัวเมียบาน ผสมเกสรตอนเช้าไม่เกิน 10.00 น. ซึ่งเป็นระยะดอกบานเหมาะสมที่พร้อมให้ผสมเกสรได้ดีที่สุด

หลังจากผสมเกสรและติดลูกได้ผลขนาดเท่าไข่ไก่ ต้องคัดเลือกผลที่ดีที่สุดไว้ 1 ลูก พร้อมกับแขวนผลเมล่อนให้อยู่ในบ่วงเชือก ซึ่งจะต้องแขวนให้ผลอยู่ในระดับขนานกับพื้น จากนั้นให้ใส่ปุ๋ย สูตร 12-5-40 หรือ 11-6-43 เพื่อการบำรุงผล จากนั้นดูแลรักษาจนกว่าจะถึงระยะเก็บเกี่ยว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไป

คุณอาทิตย์ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ในช่วงปฏิบัติดูแลรักษานี้ต้องดูแลให้น้ำสม่ำเสมอแต่พอชุ่ม ในระยะแรกการเจริญเติบโตควรให้น้ำเพียงเล็กน้อย อย่าให้แฉะ ในช่วงที่ต้นเมล่อนให้ผลขนาดใหญ่ได้ลดปริมาณการให้น้ำน้อยลง ทั้งนี้ ให้สังเกตดูความชื้นของดินด้วย และฉีดพ่นสารอาหาร เช่น แคลเซียม สังกะสี โบรอน หรือแมกนีเซียม เพื่อช่วยให้ได้ผลเมล่อนคุณภาพ

การป้องกันกำจัดโรคแมลง เบื้องต้นควรใช้สารสมุนไพรฉีดพ่นตามความเหมาะสม หรือถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ฉลากบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค

ผลเมล่อนคุณภาพ ที่รอการเก็บเกี่ยว
ผลเมล่อนคุณภาพ ที่รอการเก็บเกี่ยว
ใช้กรรไกรหรือมีดคมตัดที่ขั้วผลเป็นรูปตัวที(T)
ใช้กรรไกรหรือมีดคมตัดที่ขั้วผลเป็นรูปตัวที(T)

การเก็บเกี่ยว หลังจากปลูกได้ 65-70 วัน ผลเมล่อนแต่ละสายพันธุ์จะทยอยแก่สุก ใช้กรรไกรหรือมีดคมตัดที่ขั้วผลเป็นรูปตัวที (T) จากนั้นตัดแต่งขั้วและใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดที่ขั้วผล คัดขนาดพร้อมกับหุ้มด้วยโฟมเพื่อป้องกันผลเมล่อนถูกกระแทกเสียหาย จัดบรรจุใส่กล่องเตรียมไว้ให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อเพื่อนำไปขายที่ตลาดต่างถิ่น จากการตัดสินใจมาปลูกเมล่อนเป็นพืชผสมผสานทำให้มีรายได้เงินแสนบาทและทำให้วิถีครอบครัวมั่นคงและยั่งยืน

การปลูกเมล่อนคุณภาพ สู้วิกฤติเศรษฐกิจที่แปรปรวน เพื่อการยังชีพที่มั่นคง เป็นการปลูกพืชผสมผสานที่ทำให้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวและมีรายได้ต่อเนื่อง วิถีการยังชีพมั่นคง สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณอาทิตย์ ภัชราภิรักษ์ เลขที่ 9/2 หมู่ที่ 1 ตำบลไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โทร. (084) 619-7260 หรือที่ คุณชมพูนุช หน่อทอง สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โทร. (056) 476-720 ก็ได้ครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0