โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปลูกหม่อน พร้อมแปรรูปครบวงจร สินค้าดี มีคุณภาพ สร้างรายได้งาม

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 25 ก.ย 2561 เวลา 06.42 น.
7 10

คุณเมจิรา สงวนชม เจ้าของสวนชนาภัทร ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 16 ตำบลบ้านพระ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ได้นำต้นหม่อนมาปลูกเพื่อเป็นไม้ขุดล้อม ต่อมาเมื่อไม้สามารถให้ผลผลิตได้ จึงนำมาแปรรูปให้มีความหลากหลาย จึงเกิดเป็นสินค้าติดตลาดสร้างรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดีทีเดียว

คุณเมจิรา เล่าให้ฟังว่า การทำสวนเป็นอาชีพที่ทำมานานตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเธอ แต่ในสมัยนั้นเรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้อยู่ในสายตาของเธอเลยก็ว่าได้ เพราะมองว่าเป็นงานที่หนักและไม่น่าจะมีความสุขในสายงานนี้ จึงทำให้ไปหางานทำทางด้านอื่นเพื่อเป็นอาชีพให้กับตนเอง แต่ก็ยังไม่เกิดความสุขในงานบริษัทที่ได้ไปสัมผัส จึงได้ตัดสินใจกลับมาบ้านและลองทำสวนอย่างจริงจังในเวลาต่อมา

“ช่วงแรกที่จะกลับมาทำ คนเขาก็มองว่าเราจะทำได้เหรอ เพราะสมัยก่อนทำงานบริษัทมันน่าจะสบายกว่าการที่มาทำสวน เสร็จแล้วเราก็ลองมาทดลองทำดู เพราะมองว่าของแบบนี้มันก็เหมือนอยู่ในสายเลือด เพราะช่วงที่เรายังเด็กก็จะเห็นแม่เขาปลูกเงาะ มังคุด ทุเรียน ซึ่งของพวกนี้ปีหนึ่งผลผลิตมันก็จะได้ครั้งเดียว เราก็มามองว่ามันน่าจะมีอย่างอื่น ที่ทำแล้วให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปีมาปลูก ช่วงแรกนี่บอกเลยเหนื่อยมากๆ ในการทำสวน ในการเริ่มต้นใหม่ในชีวิตเรา” คุณเมจิรา เล่าถึงที่มา

โดยประมาณปี 2545 เธอบอกว่า ได้ปลูกกะเพราและพืชผักสวนครัวเพื่อตัดส่งขายก่อน แต่ราคาของผลผลิตก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงได้พัฒนานำต้นไม้ที่อยู่บริเวณบ้านทำเป็นไม้ขุดล้อมเพื่อขายให้กับลูกค้า เช่น ต้นมะม่วง และไม้ผลอื่นๆ  ก็สามารถทำเงินได้ดี ต่อมาได้ไปรู้จักกับต้นหม่อนจึงได้นำมาทดลองปลูกและศึกษาเรียนรู้วิธีปลูกอย่างจริงจัง จนสำเร็จเกิดเป็นรายได้มาถึงปัจจุบันนี้ 

ในช่วงแรกที่เริ่มปลูกหม่อน คุณเมจิรา บอกว่า ได้เดินทางไปในหลายๆ พื้นที่ เพื่อหาซื้อต้นพันธุ์มาปลูก และเรียนรู้วิธีการขยายพันธุ์ ลองผิดลองถูกจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งระยะห่างการปลูกหม่อนไม่มีระยะห่างที่ตายตัวสำหรับสวนของเธอ เพราะสวนทำไม้ขุดล้อมอยู่ก่อน ดังนั้น เมื่อนำหม่อนมาปลูกก็จะปลูกลงในพื้นที่ว่างให้เต็มบริเวณสวน

“การปลูกไม้ ถ้าระยะห่างที่ดี ก็ควรอยู่ที่ 4×4 เมตร แต่ที่นี่ก็ไม่มีอะไรที่ตายตัว ตรงไหนที่ไม้ขุดล้อมเราขุดขายไปแล้ว ก็จะเอาหม่อนลงไปปลูก มันก็จะมีคละกันไป โดยที่นี่ปลูกหม่อน การใส่ปุ๋ยจะไม่มีใช้ปุ๋ยเคมีเลย จะใส่เฉพาะขี้ไก่อย่างเดียว บำรุงหลังช่วงที่เราเก็บผลผลิตหมดไป โดยที่นี่สามารถบังคับให้มีผลได้ตลอดทั้งปี ซึ่งหม่อนจริงๆ จะออกผลได้ปีละ 2 ครั้ง แต่เราทำให้ออกได้ตลอดทั้งปี” คุณเมจิรา บอก

ซึ่งวิธีการทำให้หม่อนออกผลได้ตลอดทั้งปีนั้น คุณเมจิรา เผยเทคนิคว่า หลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้ว จะตัดยอดเพื่อเป็นการตัดแต่งต้นก่อน จากนั้นลิดใบออกจากต้นให้หมด เพื่อให้ไม้แตกกิ่งและแตกยอดใหม่ เมื่อต้นหม่อนมีกิ่งและยอดใหม่ออกมาก็จะทำให้มีผลตามมาด้วย

ซึ่งหม่อนที่ให้ผลผลิตได้เต็มที่ อายุไม้ควรอยู่ที่ 6 เดือน ขึ้นไป ก็จะทำให้ผลผลิตที่ได้ เก็บได้แบบจำนวนมากๆ และนอกจากนี้ ยังมีการแบ่งโซนเก็บเกี่ยวเพื่อให้มีผลผลิตในปริมาณที่คงที่ และเก็บผลมาแปรรูปได้ตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการดึงลูกค้าในการซื้อขายไม่ให้ผลผลิตขาดช่วงตลาด

“ที่สวนก็จะปลูกหม่อนอยู่ประมาณ 2,000 ต้น บางส่วนก็จะเอาไว้เก็บผลมาแปรรูป และบางส่วนก็จะทำเป็นไม้ขุดล้อม ขายให้กับคนที่เขาสนใจนำไปปลูก ตรงไหนขุดไปก็นำต้นใหม่ที่เราชำไว้มาปลูก มันก็จะหมุนเวียนอยู่แบบนี้ เรียกว่าหม่อนทำรายได้ให้กับเราได้หลากหลาย ขายต้นก็ได้ ผลนำมาแปรรูปก็สร้างมูลค่าได้ค่อนข้างดีอีกด้วย” คุณเมจิรา บอก

ในช่วงทำการตลาดระยะแรก คุณเมจิรา บอกว่า จะเน้นขายแบบผลสด โดยไปขายยังตลาดคลองถมที่อยู่ภายในตัวเมืองปราจีนบุรี ซึ่งช่วงนั้นคนในพื้นที่ยังไม่มีใครรู้จักผลของหม่อนมากนัก เพราะคิดว่าเป็นผลไม้ที่ขึ้นอยู่ตามที่สูงอย่างเช่น ภาคเหนือ ต่อมาเธอก็นำผลผลิตออกขายเรื่อยๆ ทำให้ลูกค้ารู้ว่าไม้ชนิดนี้สามารถปลูกได้ในจังหวัดปราจีนบุรี

“พอคนเริ่มสนใจมากขึ้น มีความสงสัยมากขึ้นว่า ไม้ชนิดนี้สามารถปลูกได้จริงไหมที่นี่ ทีนี้เราก็เลยมองไปเป็นอนาคต ทำสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนได้มาศึกษา ว่าการปลูกหม่อนทำยังไง เพื่อให้เห็นการปลูกและการแปรรูปแบบครบวงจร ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็จะไม่เน้นขายผลสดเท่าไร เพราะจะเน้นเอามาแปรรูปมากกว่า ก็ทำให้สินค้ามีมูลค่าและทำได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น” คุณเมจิรา บอกถึงหลักการทำตลาด

โดยผลจากหม่อนที่สวนของเธอนั้น สามารถนำมาทำเป็นน้ำหม่อน แยม และเป็นหม่อนที่ผสมรับประทานรวมกันกับโยเกิร์ต สินค้าแปรรูปขายตั้งแต่ราคา 20 บาท ไปจนถึงหลักร้อยบาท นอกจากนี้ ยังขายกิ่งพันธุ์ที่ปักชำเองหรือแบบเป็นไม้ขุดล้อมที่ต้นใหญ่หน่อย ราคาอยู่ที่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อยบาท จึงนับได้ว่าหม่อนที่เธอสนใจและชื่นชอบสามารถสร้างรายได้ให้กับเธอหลายหลากช่องทางเลยทีเดียว

“สำหรับเรามองว่า การขายผลสด ตลาดอาจจะไม่ดีนัก เพราะหม่อนผลเก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 วัน ดังนั้น การนำมาแปรรูปไม่มีทางตัน สามารถต่อยอดและพัฒนาสินค้าไปได้เรื่อยๆ และบางส่วนเราก็ขายต้นได้แบบไม้ขุดล้อม ซึ่งควรที่จะสนใจอยากจะทำอาชีพทางการเกษตร ก็จะบอกว่าความอดทนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งการทำสวนสำหรับเราไม่ต้องขยันอะไรมาก แต่ต้องทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ทุกวันวันละนิดละหน่อย ความเครียดก็จะไม่เกิด เราก็จะมีแต่ความสุข และมองเห็นช่องทางต่างๆ ไปเอง” คุณเมจิรา กล่าวแนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเมจิรา สงวนชม หมายเลขโทรศัพท์ (087) 157-7352

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0