โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปลูกผักปลอดสาร ให้ได้ผลดี มีตลาดรองรับทำได้ไม่ยาก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2561 เวลา 08.22 น.
3 15

อาจารย์สงบ เพียรทำดี เลขที่ 72 หมู่ที่ 13 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จาก ผอ. ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร เล่าว่า ตนจบการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ หลังจากนั้นได้บรรจุเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมสิงห์บุรี สอนทางด้านสัตวศาสตร์ จนกระทั่งรับตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ซึ่งเป็นวิทยาลัยเกษตรเฉพาะการ หมายความว่าโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานการอาชีวศึกษากับศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และ ศปก. ดำรงตำแหน่งนาน 17 ปี ได้ลาออกก่อนเกษียณ 1 ปี เพื่อมาทำเกษตร

อาจารย์สงบ เพียรทำดี
อาจารย์สงบ เพียรทำดี

 อดีต ผอ. ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เปลี่ยนวิถีมาปลูกผัก

อาจารย์สงบ หรือคนเกษตรรู้จักกันดีในนามครูสงบ ลาออกก่อนเกษียณ 1 ปี เพื่อมาปลูกผักปลอดสาร จุดเริ่มต้นคือ ทำเพื่อเอาไปใช้เอง

“ก่อนหน้านั้น เราทำบาร์สลัดในห้างโมเดิร์นเทรด บิ๊กซี โลตัส ทำตั้งแต่โลตัสที่แม่สายถึงบิ๊กซีปัตตานี ก็ต้องใช้ผักเยอะวัตถุดิบเยอะ เกิดปัญหาได้วัตถุดิบไม่ตรงต่อความต้องการของเรา ผักถือเป็นวัตถุดิบตัวแรกที่จำเป็นในบาร์สลัด เพราะฉะนั้นคุณภาพ ปริมาณ ต้องเพียงพอ เมื่อเกิดปัญหาซ้ำบ่อยๆ จึงตัดสินใจที่จะออกมาปลูกเอง พูดง่ายๆ ว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากไฟท์บังคับเรื่องวัตถุดิบไม่ตรงต่อความต้องการของเรา” อาจารย์สงบ เล่า

เตรียมแปลงปลูก ปรับปรุงสภาพดิน จากพื้นที่ใช้สารเคมีมาก่อน

อาจารย์สงบ เล่าว่า พื้นที่ตรงนี้เริ่มจากการปลูกพืชไร่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย จึงมีการใช้สารเคมีในปริมาณมากมาก่อน แต่สาเหตุที่มาเลือกพื้นที่ปลูกตรงนี้ เพราะเมื่อก่อนตนเป็นอาจารย์สอนด้านสัตวบาล สอนทางด้านโคเนื้อ โคนม มาตลอด เวลามาดูงาน หรือมีลูกศิษย์ส่วนใหญ่แล้วเขามีพื้นเพอยู่แถวนี้กันทั้งนั้น จึงเกิดความคุ้นเคยกับที่นี่ ช่วงมาใหม่ๆ มีปัญหามาก เพราะจุดมุ่งหมายของเราคือ ปลูกผักปลอดสารบนดิน แต่พื้นที่ตรงนี้มีการใช้สารเคมีเยอะ พื้นที่ถูกใช้มานาน และถูกใช้ไม่ตรงงานหลัก จึงเริ่มวางแผนปรับปรุงดินยกใหญ่ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ ขี้ไก่หมัก ขี้วัว ผสมปรับให้ดินร่วนซุ่ยขึ้น มาใหม่ๆ ดินแข็ง รดน้ำไม่ได้เลย ทำแบบนี้อยู่หลายเดือน จนเริ่มปลูกผักได้ดีขึ้น

เตรียมแปลงปลูก
เตรียมแปลงปลูก

ปลูกผักสลัด ปลอดสารทุกชนิด บนเนื้อที่ 27 ไร่

ปัจจุบัน มีพื้นที่ทั้งหมด 47 ไร่ แบ่งปลูกผักปลอดสาร 27 ไร่ เนื่องจากว่าพื้นที่ตรงนี้อากาศถ่ายเท ระดับความสูงจากน้ำทะเล ประมาณ 300-400 เมตร สภาพดินหลังปรับปรุงมีช่องอากาศ ดินร่วน ระบายน้ำได้ดี เหมาะกับการปลูกผัก

ที่นี่เริ่มจากการปลูกผักสลัดปลอดสาร มีทั้ง กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ฟิลเล่ เรดคอรัล บัตเตอร์เฮด ไอซ์เบิร์ก คอส เบบี้คอส

จากผักสลัด ก็มองเห็นว่าน่าจะปลูกผักชนิดอื่นที่นำไปใช้ประกอบกันได้ ประกอบกับเคยอ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เรื่องต้นอ่อนทานตะวัน จึงเป็นการจุดประกายให้เริ่มปลูกเพิ่มอีกชนิด ใหม่ๆ จินตนาการว่าเหมือนถั่วงอก ลองล้อมคอกเลี้ยง และความที่ไม่คุ้นชินกับผักประเภทนี้ ไปซื้อเมล็ดมาก็ไม่งอก ทำแล้วก็ทิ้ง จึงเริ่มแกะรอยตามนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน แล้วนึกถึงหลักความจริง ในเมื่อมีสีเขียว ต้องมีแสง ก็ดูเรื่องแสง สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ

และอีกประการที่เราเรียนรู้จากการปลูกต้นอ่อนทานตะวันคือ เมื่อปลูกถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ต้องมีเทคนิค เราเคยอ่านมาว่าให้ใช้กรรไกรตัด จริงๆ แล้วถ้าใช้กรรไกรตัดรากจะช้ำ ส่งผลให้เน่าเร็ว พอช้ำเก็บไว้ไม่ได้นาน ส่งไปที่บาร์สลัด เก็บไว้ได้เพียง 1-2 วัน ก็เสีย จากจุดนั้นจึงเริ่มศึกษาว่าเกิดจากอะไร และได้คำตอบมาว่า

  • การตัด
  • อุณหภูมิ ความชื้น เมล็ดพันธุ์ เราค่อยศึกษา เปลี่ยนจากการตัดด้วยกรรไกรเป็นมีด แต่ต้องเป็นมีดที่คมกริบ และยึดความสะอาดเป็นสำคัญ

จนกระทั่งทุกวันนี้ ต้นอ่อนทานตะวันของอาจารย์เรียกได้ว่าอยู่แนวหน้าในเรื่องของคุณภาพ หากแช่ตู้เย็น อยู่ได้ 1 สัปดาห์ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากการปลูกผักสลัดและต้นอ่อนทานตะวัน อาจารย์สงบได้มีการพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีแปลงปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ แปลงถั่วพู มะระ และแตงกวาญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมา เรียกได้ว่ากำลังไปได้ดีในทุกผลผลิตที่ทำ

 

เลิกทำสลัดบาร์ หันมาปลูกผัก ส่งร้านอาหารแทน

อาจารย์สงบ เล่าว่า หลังจากทำธุรกิจสลัดบาร์ตามห้างโมเดิร์นเทรดเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เริ่มเกิดปัญหาค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น สู้ไม่ไหว จึงหยุดทำธุรกิจสลัดบาร์ ช่วงที่เลิกทำเกิดความกลุ้มใจว่า จะนำผักที่ปลูกจำนวนมากขนาดนี้ไปส่งที่ไหน แต่ด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น และบวกกับเงินที่ลงทุนไปเยอะแล้ว จึงไม่เสียกำลังใจ อย่าง ต้นอ่อนทานตะวัน รับช่วงต่อจากพ่อค้าเดิม ส่วนผักสลัดก็ส่งตามร้านอาหาร โอท็อป แต่ส่วนมากแล้วนำสินค้าไปเสนอที่ไหน ไม่ค่อยมีคนปฏิเสธ เพราะของมีคุณภาพ ขายไปขายมาไม่น่าเชื่อว่าต้องตัดต้นอ่อนขาย วันละ 80-100 กิโลกรัม รวมกับผักชนิดอื่นที่ต้องตัดส่งด้วย วันหนึ่งแล้วต้องตัด วันละ 300-400 กิโลกรัม แต่ก็ยังไม่พอขาย

 ปลูกผักปลอดสารลงดินไม่ยาก

อาจารย์สงบ เล่าถึงการผลิตว่า ขั้นตอนการเตรียมดิน ไถพรวนหน้าดิน ตากแดดไว้ประมาณ 7-14 วัน ทุกครั้งที่ปลูกจะรองด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เน้นขี้ไก่หมักเป็นหลัก เพราะในขี้ไก่มีแกลบเยอะ ทำให้ดินร่วนซุย ช่วยเติมช่องอากาศในดิน ทำให้ระบายน้ำดี พืชผักได้รับอากาศที่เหมาะสม

หลังจากรองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์เสร็จ ให้ใช้รถไถโรตารี่ ทำแปลงให้เหมาะกับอุปกรณ์ของเรา ขับถอยหลังเข้าไปร่องหนึ่งใช้เวลาไม่เกิน 2-3 นาที หลังจากนั้น ใช้คนแต่งให้เป็นร่องสวยงาม

ผักกำลังโต
ผักกำลังโต

เมื่อแต่งแปลงปลูกเสร็จแล้ว ให้เริ่มเอาฟางมาคลุมเพื่อรักษาความชื้น และเมื่อเวลารดน้ำถือเป็นการป้องกันไม่ให้ดินแซะเข้าไปในกาบใบผักได้ ผักจะสะอาด ถ้าไม่มีฟางช่วยในกาบใบขี้ดินจะเต็มไปหมด

มีข้อแม้ว่า ก่อนนำฟางมาคลุมต้องนำมาสางก่อน เพื่อให้เม็ดข้าวที่ติดมาหลุดออก ไม่งั้นตอนนำไปคลุมต้องมานั่งถอนข้าวทิ้งแย่เลย

ระยะห่างระหว่างหลุม 30×30 เซนติเมตร แล้วแต่ช่วงฤดูกาล หากเป็นช่วงฤดูหนาวจะปลูกให้ห่าง เพื่อให้ใบกางแผ่ได้ดี ถ้าเป็นหน้าร้อน หรือหน้าฝน ผักจะไม่ค่อยโต ให้ปลูกระยะชิด คือประมาณ 25×25 เซนติเมตร ตามสภาพ ระยะห่างมีผลต่อการเจริญเติบโต ถ้าปลูกห่างโอกาสเกิดโรคน้อย เพราะมีการระบายอากาศที่ดี ถ้าปลูกชิดจนเกินไป อากาศอบอ้าวถือว่าเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ดี ทำให้เกิดโรคได้ง่ายยิ่งขึ้น

การดูแล รดน้ำ เช้า-เย็น ในเวลาที่เหมาะสม ระบบน้ำใช้สปริงเกลอร์ วางท่อหลักตามถนน ยาวประมาณ 300-400 เมตร หลังจากนั้น ต่อระบบให้น้ำออกซ้าย-ขวา เป็นก้างปลา เพราะฉะนั้นเราจะไปปลูกตรงไหนน้ำก็เข้าถึง

ปุ๋ย มีการนำผักที่เหลือไปหมัก มาทำปุ๋ยไว้ใช้เองบ้าง แต่ปลูกจำนวนมาก ปุ๋ยที่เราทำไม่พอใช้ จึงต้องซื้อปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์จากทางบริษัท ที่ต้องมีเลขกำกับของกรมวิชาการเกษตร เพราะผักของเราเป็นผักมาตรฐาน GAP

โรคและแมลง ผักประเภทนี้แมลงไม่กวน นอกจากอากาศไม่เหมาะสมเลย คือ ร้อนแดดจ้า ก่อให้เกิดเพลี้ยไฟบ้าง โรคจะเจอช่วงที่อากาศร้อนชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของโรค วิธีป้องกันช่วงหลังมีอินทรียวัตถุที่เป็นออร์แกนิก ช่วยได้เยอะ บางทีถ้าเยอะมากให้ชิงตัดก่อน แต่อาจไม่ได้น้ำหนักตามที่ต้องการ

ใช้ซาแรนคลุม ประโยชน์ 3 อย่าง

ในช่วงที่เริ่มปลูกใหม่ ให้ใช้ซาแรนสีดำ 60 เปอร์เซ็นต์ ช่วยพรางแสงผักที่เกิดใหม่ให้เสียหายน้อยลง คลุมให้พอตั้งตัวได้ก็เริ่มเปิด วิธีเปิด ให้เปิด 1 เว้น 1 ไม่ใช่เปิดหมด 100 เปอร์เซ็นต์

ผักสลัดใบกว้าง บางตัวเวลาพายุเข้า ลมแรง ฝนเม็ดใหญ่ จะตีทะลุใบผัก เพราะฉะนั้นซาแรนช่วยได้

ผักประเภทนี้ ถ้าฤดูกาลไม่เหมาะสม อย่างหน้าร้อน ผักจะขม คือเครียด จะสร้างยางขึ้นมา ทำให้พืชผักขม เราก็ใช้ซาแรนช่วยบังแดดให้ขมน้อยลง คือมีอะไรที่ละเอียดปลีกย่อยเยอะ ถ้าหน้าหนาว ผักจะรัดแน่น มีผลตอนขาย ในขณะที่ผักน้ำหนักเท่ากัน แต่ด้วยความที่ผักรัดแน่น ทำให้ดูขนาดเล็ก ถ้าเทียบกับอีกอันดูใหญ่ ใบแผ่ ผู้รับซื้อจะดูว่าไม่แพงได้เยอะ น่าซื้อกว่า

 

หมั่นตรวจเช็กพยากรณ์อากาศ เพื่อวางแผนการปลูกที่ดี

ทันต่อความต้องการของตลาด

อย่างที่ทราบกันดีว่า การทำเกษตรไม่ใช่แค่ปลูกผักเป็นแล้วจะอยู่รอด นอกจากปลูกแล้วต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่างเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ อีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ สภาพอากาศในแต่ละวัน เกษตรกรต้องหมั่นตรวจเช็กพยากรณ์อากาศทุกวัน เพราะผักปลอดสารเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน มิฉะนั้นสินค้าจะขาดมือ ตัวอย่างเช่น อีก 6 วัน จะต้องตัดแต่หากอากาศหนาวจัดผักไม่โต อาจต้องเลื่อนจากเดิมไป 2-3 วัน เพราะฉะนั้นต้องฟัง และวางแผนเตรียมไว้เลย สมมุติพยากรณ์อากาศบอกว่า อีก 3 วัน จะหนาว ให้เราเพาะพันธุ์เพิ่มไว้เลย ที่นี่ได้โอกาสช่วงนี้ทำให้ได้ลูกค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเยอะมาก

ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการปลูกไว้ล่วงหน้า การเพาะกล้าต้องแยกประเภท อย่าง กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค สมาชิกต้องการมาก ก็เพาะมากหน่อย ทุกอย่างต้องวางแผนเพาะให้เยอะไว้ก่อน ถ้าของเหลือไม่เป็นไร หาขายที่อื่นได้ ถ้าของขาดก็เครียด เพราะจะทำให้เสียลูกค้าประจำได้เลย

ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูก หลังจากเพาะกล้า 14-21 วัน ในฤดูหนาว ปลูกลงดินเพียง 25 วัน ตัดได้ ถ้าหน้าฝน จะอยู่ที่ 30-35 วัน

การเก็บเกี่ยวดูตามสภาพ บางอย่างต้องเสียสละ เกษตรกรบางรายถ้าผักของเขาอายุและน้ำหนักไม่ถึง เขาจะไม่ตัดเลย แต่บางทีต้องยอม ไม่อย่างงั้นลูกค้าจะไม่มีวัตถุดิบไปทำอาหาร ตัดน้อยตัดมากให้เขามีของขาย เขาก็จะไม่ไปซื้อที่อื่น ถ้าเราทำให้เขาเครียดบ่อยๆ เดี๋ยวเขาก็ไปหาที่อื่น โดยธรรมชาติแม่ค้าจะมีร้านสำรองไว้ 1-2 ร้าน เผื่อพลาดอยู่แล้ว” อาจารย์สงบ กล่าว

ข้อคิดการตลาด ก่อนทำต้องคิดถึง 3 ข้อ

หลักการทำธุรกิจที่อาจารย์สงบยึดถือมาตลอด มีอยู่ 3 ข้อ

  • ของที่ทำต้องมีคุณภาพ
  • ต้องทำให้ได้ปริมาณเชิงธุรกิจ หมายความว่า มีมากพอที่จะขายซัปพอร์ทในตลาด
  • ต้องทำผลผลิตให้ออกทุกวันเพื่อความต่อเนื่อง แล้วจะให้ออกทุกวันได้อย่างไร ต้องมีการวางแผนการผลิต ใครสั่งของมาต้องมีให้ เพราะฉะนั้นถ้าคุมสิ่งเหล่านี้ได้ปัญหาเรื่องการตลาดจะน้อยลง คู่ค้าทุกคนต้องการความเชื่อมั่น สั่งมาเรามีของให้เขา คุณภาพดี ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะคุมตลาดได้ทั้งหมด

 

 คำนวณหักลบค่าใช้จ่าย ต้องมีรายได้เท่าไร เหลือเท่าไร จึงจะอยู่รอด

อาจารย์สงบ ให้ใช้หลักคิดง่ายๆ ว่า เรามีพื้นที่ประมาณสิบกว่าไร่ วันหนึ่งต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า วันละ 10,000 บาท เพราะค่าแรงงาน วันหนึ่ง 6,000 บาท ค่าไฟ ให้คิดไว้เลย เดือนละ 10,000 บาท รวมกับค่าปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา เพราะฉะนั้นคิดคำนวณแล้วหากจะให้อยู่รอดต้องมีรายได้ใน 1 เดือน ไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท ถ้าทำขายได้วันละ 20,000 บาท ถือว่าดี แต่จะทำให้ได้ขนาดนี้คือต้องเหนื่อยมากๆ

 รู้ประโยชน์ของผลผลิตตัวเองรอบด้าน คือ การตลาดที่ดีที่สุด

“ต้องบอกว่า โชคดีที่เรามีตลาดรองรับมาก่อน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะไปขายให้ใคร ทุกวันนี้ตลาดของผมคือ ร้านอาหาร ตลาดท้องถิ่น ศูนย์โอท็อป พุแค จังหวัดสระบุรี ศูนย์โอท็อปพุแค ถือว่าเป็นต้นแบบโอท็อปของประเทศไทยเลย มีกระบวนจัดการสินค้าที่ดี รวมถึงส่งตามงานอีเว้นท์ที่กรุงเทพฯ ด้วย การตลาดที่ดีไม่ใช่แค่ขายผลผลิตให้ลูกค้าอย่างเดียว แต่เราต้องมีความรู้ในสินค้าของเราและแนะนำให้ลูกค้านำไปต่อยอดได้ อย่างเช่น ที่ร้านอาหารแถบอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นลูกค้าที่มาทานไม่ใช่คนพื้นที่ เราก็นึกพยายามป้อนความคิดที่ว่า ลูกค้าของคุณไม่ใช่คนพื้นที่ การที่จะเอาผักกาดหอมมาจัดจาน มันก็ดูธรรมดาเกินไป เราก็เสนอทำไมไม่ใช้ผักสลัดกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค มาจัดแทนให้ดูดี และสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ซึ่งพอเราพูดไปแบบนี้หลายร้านก็เปลี่ยนตามเรา เพราะเขามองเห็นภาพที่เราแนะนำ” อาจารย์สงบ เล่า

และบอกอีกว่า “เพราะฉะนั้นเราจะทำอะไรก็ตาม เราไม่ได้ทำเพื่อขายอย่างเดียว เราต้องศึกษาด้วย พยายามเรียนรู้ อย่างเบบี้คอส ไม่ใช่ทานเป็นผักสลัดอย่างเดียว แต่เอาไปผัดน้ำมันแทนผักกาดได้ อร่อย กรอบ เราแนะนำไปหลายร้านก็เปลี่ยนมาทำ ต้นอ่อนเราก็มาคิดว่าทำอะไรได้อีก ต้มจืด ส้มตำ ยำ ใส่ไข่เจียว เราต้องหามานำเสนอเขา มันก็ทำให้ของเราขายได้เพิ่มไปด้วย”

 

 

แนะนำมือใหม่  ปลูกเป็นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความมุ่งมั่นด้วย

อาจารย์สงบ บอกว่า ปลูกผักสลัดไม่ยาก แต่ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่า

  • รักในอาชีพเกษตรกรรมไหม
  • ต้องดูว่า ปลูกแล้วขายให้ใคร กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เพราะกลุ่มเป้าหมายมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องการไม่เหมือนกัน บางกลุ่มต้องการคุณภาพ บางกลุ่มต้องการปริมาณ เพราะฉะนั้นให้ถามตัวเองว่า ชอบไหม ทำได้ไหม มีคนช่วยหรือเปล่า ไม่ใช่ทำแล้วมีปัญหาจะหวังพึ่งน้ำบ่อหน้าไม่ได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจเยี่ยมชมสวนผักครูสรรเสริญ เชิญได้ที่ เลขที่ 72 หมู่ที่ 13 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี หรือ โทร. (081) 828-3917

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0