โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ปลาแรด" ลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี อร่อยจนได้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 27 ต.ค. 2566 เวลา 03.43 น. • เผยแพร่ 25 ต.ค. 2566 เวลา 23.47 น.
ภาพปก-ปลาแรด
ปลาแรด

คนต่างถิ่นที่เข้าไป จังหวัดอุทัยธานี มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน นักนิยมไพรผ่านตัวเมืองเข้าไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หากคนใฝ่ธรรมมักจะแวะวัดท่าซุง วัดเขาสะแกกรัง ส่วนผู้นิยมชมชอบของอร่อย หาร้านเหมาะๆ แล้วสั่ง ปลาแรด มารับประทาน เพราะจังหวัดนี้เขาขึ้นชื่อ และที่สำคัญมากนั้น ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปลาแรด ไม่ใช่ปลาท้องถิ่นไทย แต่เข้ามานาน พบตามแหล่งน้ำทั่วไป แต่ที่ แม่น้ำสะแกกรัง จะถูกโฉลกกับปลาชนิดนี้เป็นพิเศษ

แม่น้ำสะแกกรัง มีต้นน้ำอยู่ในเขตเทือกเขาโมโกจู จังหวัดกำแพงเพชร ไหลลงบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลท่าซุง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี ด้วยระยะทางที่ยาวถึง 225 กิโลเมตร เมื่อไหลผ่านพื้นที่ใด ชื่อที่เรียกจึงแตกต่างกันไป

“คลองแร่-แม่วง” คือแม่น้ำสะแกกรังช่วงที่ไหลผ่านอำเภอคลองขลุง ขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชรและอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ “แม่น้ำวังม้า” คือช่วงที่ไหลผ่านอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี “แม่น้ำตากแดด” เป็นช่วงไหลผ่านอำเภอทัพทัน และอำเภอเมืองฯ

“แม่น้ำสะแกกรัง” เริ่มตั้งแต่ปากคลองขุมทรัพย์ บ้านจักษา อำเภอเมืองฯ ไหลผ่านตลาด ไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท หากเป็นทางฝั่งของจังหวัดอุทัยธานี คือตำบลท่าซุง

บริเวณใดที่น้ำสายนี้ไหลผ่าน มักมีชุมชนตั้งอยู่ค่อนข้างหนาแน่น

แต่ที่อำเภอเมืองฯ นอกจากคนอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเหมือนอย่างแม่น้ำสายอื่นแล้ว สองข้างลำน้ำมีเรือนแพอยู่ค่อนข้างมาก

คุณสาคร จันทร์พุ่ม อยู่บ้านเลขที่ 1/2 ตำบลอุทัยใหม่ แพคลองสะแกกรัง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี เป็นชาวเรือนแพมาตลอด เธอบอกว่า เกิด พ.ศ. 2504 เกิดมาก็อยู่เรือนแพแล้ว เมื่อมีครอบครัว ก็อยู่มาอย่างต่อเนื่อง

“มีอาชีพรับจ้างทั่วไป อยู่บนเรือนแพไม่รู้สึกแปลก จะมีต้องวิตกบ้างช่วงน้ำมาก ช่วงมีลมฟ้าลมฝน หากเลือกได้ก็อยากจะอยู่บนบก…ถึงแม้อยู่มานาน แต่ก็มีความรู้สึกว่าอยู่เรือนแพอากาศดี เช้าๆ ตื่นมาเห็นแม่น้ำกว้างๆ หลังๆ มีคนบอกว่าอยากอยู่แบบเราบ้าง” คุณสาครบอก

คุณสุวรรณ จันทร์พุ่ม สามีคุณสาครบอกว่า บ้านบนบกเขาสร้างเสร็จ นานๆ จึงจะซ่อมแซมทีหนึ่ง แต่เรือนแพต้องหมั่นตรวจดูอยู่เสมอ โดยเฉพาะทุ่นไม้ไผ่ต้องเปลี่ยนอยู่เป็นประจำ

“ทุ่นที่ดีที่สุดตอนนี้ยังสู้ไม้ไผ่ไม่ได้ หากเป็นเหล็กที่เห็นตามร้านอาหาร หากดูแลไม่ถึง บทจะจมก็จมเลย” คุณสุวรรณบอก

คุณสาครพูดถึง ปลาแรด ในแม่น้ำสะแกกรังว่า เดิมจับได้ตามธรรมชาติ นานเข้าคนนิยมจึงเลี้ยงกัน ตนเองเลี้ยงราว 400 ตัว เมื่อยังเล็กใช้หัวอาหารเลี้ยง เมื่อโตขึ้นใช้อาหารที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น ผักบุ้ง ผลไม้เหลือทิ้ง รวมทั้งต้มปลายข้าวให้กิน โดยเฉลี่ยแล้วปลาที่เลี้ยงอายุ 18 เดือน ที่เลี้ยงนานเนื่องจากไม่ได้ใช้หัวอาหารเลี้ยงตลอด ขนาดของปลาที่จับได้ตัวละ 8 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 80 บาท

มีชาวบ้านเลี้ยงปลาแรดมานาน ที่เริ่มมีบันทึกไว้คือ ลุงสมโภชน์ ส่องศรี เดิมลุงมีอาชีพทำประมงน้ำจืด ปลาที่จับได้ เมื่อนำไปจำหน่ายและบริโภคเอง ปลาแรดน่าสนใจที่สุด เนื้อแตกต่างจากปลาอื่น คือ เนื้อแน่น รสชาติหวาน ลุงจึงได้นำปลาแรดมาทดลองเลี้ยงในกระชังร่วมกับปลาอื่น ให้กินผัก ผลไม้ ข้าว และรำ ยิ่งทำให้ปลาแรดรสชาติดียิ่งขึ้น

เดิมทีลุงสมโภชน์เลี้ยงปลาในกระชังรอบๆ เรือนแพของตนเอง แต่เนื่องจากปลาแรดได้รับความนิยม จึงมีการตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2517 ใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำอุทัยใหม่” เป็นกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังกลุ่มแรกของประเทศไทย

เพราะมีผลผลิตปลาแรดในกระชัง คนต่างถิ่นรู้จักปลาแรดมากขึ้น ดังคำขวัญของอุทัยธานี คือ “อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ”

งานสำคัญที่เกิดขึ้นอีกงานหนึ่ง คือเทศกาลกินปลาแรด จัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี

เมื่อ พ.ศ. 2536 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้ไปสัมภาษณ์วิธีการเลี้ยงปลาในกระชังของลุงสมโภชน์ พบว่ามีปลาแรดและปลาสวายตัวใหญ่มาก ลุงรักเหมือนลูก ลุงไม่ขาย แถมยังตั้งชื่อให้ เวลาจะให้อาหารกิน เมื่อเรียกชื่อ ปลาสวายและปลาแรดก็จะมากินอาหารกับมือของลุง

สิ่งหนึ่งที่พบเห็นอยู่จำนวนมาก คือเตยหอมที่ปลูกบนน้ำเป็นแพ คล้ายแพผักบุ้ง รอบๆ เรือนแพลุงสมโภชน์มีเตยหอมอยู่ไม่น้อย การใช้ประโยชน์จากเตยก็คล้ายๆ ที่อื่น คือนำมาประกอบอาหาร รวมทั้งตัดยอดไปมัดกำรวมกับกล้วยไม้

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นทะเบียนให้ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2555

กรมทรัพย์สินทางปัญญา นิยามปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี ไว้ดังนี้

ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี (Pla Rad Lumnam Sakae Krang Uthai Thani) หมายถึง ปลาแรดที่มีเกล็ดหนา หน้างุ้ม ครีบบนและล่างสั้น เพศผู้มีโหนกสูงใหญ่กว่าเพศเมีย สีเนื้อเข้ม หนังหนา มีเมือกน้อย ด้านบนลำตัวสีน้ำตาลปนดำหรือค่อนข้างเทา ด้านล่างสีขาวเงินแกมเหลือง

เพศผู้ที่โคนครีบหูมีสีขาวและมีนอสีแดง เพศเมียที่โคนครีบหูมีสีดำ

เนื้อนุ่มแน่นเป็นเส้นใย มีรสหวาน ไม่มีกลิ่นโคลนหรือกลิ่นสาบ เป็นปลาแรดที่เลี้ยงในกระชัง บริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง เริ่มตั้งแต่บ้านจักษาจนไปบรรจบที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลสะแกกรัง ตำบลอุทัยใหม่ ตำบลน้ำซึม และตำบลท่าซุง ของอำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี

ในธรรมชาติปลาแรดสร้างรังวางไข่คล้ายรังนกคว่ำอยู่ในน้ำ โดยใช้วัสดุ คือ แหน สาหร่าย ผักบุ้ง จอก ไข่น้ำ ต้นเจียก ฟางข้าว กาบมะพร้าว หญ้าต่างๆ รากไม้ รากหญ้า ที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม ไข่ปลาแรดมีลักษณะเหลืองกลม ไขมันมาก ลอยน้ำ ฤดูวางไข่อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม

ยุคแรกๆ งานเลี้ยงปลาแรด ผู้เลี้ยงหาลูกปลาได้จากธรรมชาติ เมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็หาช้อนลูกปลามาใส่ในกระชัง ได้มากบ้างน้อยบ้าง ทำให้ต้องช้อนกันหลายครั้งหลายหน ลูกปลาที่ได้มีขนาดแตกต่างกัน

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนา นักวิชาการประมงได้ผสมเทียมปลาขึ้นหลายชนิด ดังนั้นผู้อยากเลี้ยงไม่จำเป็นต้องหาช้อนลูกปลาแรดในธรรมชาติ แต่มีเอกชนเพาะจำหน่าย ข้อดีนั้นสะดวก ขนาดของลูกปลาไม่แตกต่างกัน เมื่อนำลงเลี้ยงในกระชัง จึงเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน

เปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่น ชาวบ้านเลี้ยงกัน 6-8 เดือน ก็จับจำหน่ายได้แล้ว เขาเลี้ยงอาหารสำเร็จรูป

แต่ปลาแรดในกระชังที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ให้อาหารสำเร็จรูปช่วงที่อายุยังน้อย เมื่อโตขึ้นจึงให้อาหารเป็นผักและผลไม้ตามฤดูกาล เช่น จอก แหน ผักบุ้ง ผักกาดขาว ตำลึง ขนุนสุก และอื่นๆ

ระยะเวลาที่เลี้ยง ปีครึ่งถึง 2 ปี ปลาแรดพบทั่วไปในเมืองไทย เช่น แม่น้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แต่ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังเขามีเอกลักษณ์ ทั้งนี้คงเป็นเพราะคุณภาพของน้ำ แหล่งอาหารของปลา เหมือนอย่างปลาช่อนแม่ลา สิงห์บุรี เขามีของดีต่างจากที่อื่น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ไม่เฉพาะทางด้านสัตว์น้ำเท่านั้น พืชพรรณหลายชนิดก็ได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อาทิ ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอุทัยธานี

ใครที่แวะเวียนไปอุทัยธานี จะเห็นร้านอาหารแถวอำเภอเมืองฯ ตั้งอยู่ริมน้ำสะแกกรัง เมื่อแวะเข้าไป มักมีเมนู “ปลาแรด” ไม่ว่าจะเป็นทอด นึ่ง ต้มยำ ทอดมัน…ให้มั่นใจและสั่งได้เลย ปลาแรดที่เขานำมาปรุงอาหารเป็นของลุ่มน้ำสะแกกรังแท้ ไม่ปลอมปน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0