โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปลดล็อก 'พ.ร.บ.การบิน' ดันฮับศูนย์ซ่อมอากาศยาน

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 10.00 น.

โดยที่ผ่านมาบริษัทโบอิง ผู้ผลิตอากาศยานเจ้าใหญ่ของโลก ออกมาคาดการณ์ว่าอีก 20 ปี ข้างหน้า ความต้องการซื้อเครื่องบินใหม่ในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าอย่างน้อย 6.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 21.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นเครื่องบิน 4,210 ลำ ส่วนอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ 41,030 ลำ เพิ่มขึ้น 75% จากปัจจุบัน

ในขณะที่ปัจจุบันทั่วโลกมีศูนย์ซ่อมบำรุงหลักที่ได้มาตรฐานจากบริษัทผู้ผลิตอากาศยานจากโบอิงและแอร์บัส 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และจีน ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากไทยทางอากาศ 2-3 ชั่วโมง จึงชี้ให้เห็นว่าหากไทยมีศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ได้มาตรฐานในไทย จะรองรับลูกค้าที่ต่อคิวซ่อมบำรุงจากทั้ง 2 ประเทศได้

จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยว่า ศูนย์ซ่อมอากาศยานในไทยจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ แต่เป็นใครก็ได้ที่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาศูนย์ซ่อม มีความเชี่ยวชาญ และมีซัพพลายเออร์ด้านชิ้นส่วนอะไหล่ ซึ่งปัจจุบันไทยก็เป็นศูนย์กลางผลิตชิ้นส่วนอะไหล่อากาศยานอยู่แล้ว โดยผลิตชิ้นส่วนประเภทยางเครื่องบิน ตู้เก็บอาหารบนเครื่องบิน เป็นต้น

"ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ปัจจุบันสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศไทยมากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนและส่งออกไปแอร์บัสและโบอิง เพื่อใช้ประกอบอากาศยาน หากไทยพัฒนาศูนย์ซ่อม และสร้างอากาศยานในประเทศ จะทำให้ครอบคลุมทั้งผลิตชิ้นส่วน สร้างอากาศยาน และศูนย์ซ่อมอากาศยาน อีกทั้งปัจจุบันมี 140 สายการบินที่ทำการบินในไทย ก็มีโอกาสที่เขาจะบินมาซ่อมเครื่องที่ไทย"

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมเอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ โดย กพท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยและกฎหมายการบินได้ยกเครื่อง พ.ร.บ.การเดินอากาศฉบับใหม่ เพื่อปลดล็อกข้อกฎหมายการลงทุนในธุรกิจสร้างและซ่อมอากาศยาน จากเดิมกำหนดให้ต่างชาติถือครองหุ้นในสัดส่วน 49% และไทย 51% ซึ่งไม่ค่อยมีบริษัทไทยลงทุนมากนัก เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ดังนั้น กพท.จึงปรับแก้ข้อกฎหมายธุรกิจสร้างและซ่อมอากาศยาน โดยเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% เพราะต่างชาติจะมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเภทนี้อยู่แล้ว แต่มีเงื่อนไขให้ต่างชาติทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยสามารถต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต เบื้องต้นกฎหมาย และ พ.ร.บ.การเดินอากาศฉบับใหม่นี้ ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) แล้วเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมที่จะมีการประกาศบังคับใช้

เมื่อเปิดช่องข้อกฎหมายสนับสนุนการลงทุนแล้ว ศักยภาพของพื้นที่พัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานในไทยก็มีหลายแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับท่าอากาศยาน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดโครงการนำร่องพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานไว้ที่เมืองการบินอู่ตะเภา แต่ในอีกหลายท่าอากาศยานภูมิภาค ก็พบว่ามีพื้นที่เพียงพอที่จะพัฒนา อาทิ ท่าอากาศยานเชียงราย มีรายงานว่าทุนใหญ่สายการบินแอร์เอเชีย หันหัวอยากไปลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมของตนเองที่เชียงราย หลังจากเมืองการบินอู่ตะเภารัฐบาลมอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับแอร์บัสแล้ว

รวมทั้งเดือน ธ.ค.2561 การบินไทยออกประกาศรายละเอียดคัดเลือกเอกชน โดยไม่ใช้วิธีประมูลโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่จะเภา ซึ่งทีโออาร์ระบุข้อกำหนดของการร่วมทุนรูปแบบความรับผิดชอบในการทำงานระหว่างการบินไทยและบริษัทแอร์บัส

สำหรับรายละเอียดการร่วมทุนในเบื้องต้น กำหนดสัดส่วนการบินไทยลงทุน 50% และแอร์บัสลงทุน 50% โดยกองทัพเรือจะลงทุนพัฒนาโรงซ่อมอากาศยาน (แฮงก้า) ส่วนการบินไทยและแอร์บัสจะร่วมลงทุนงานระบบและส่วนอื่นเพิ่มเติม ซึ่งการบินไทยจึงเข้าพื้นที่พัฒนาศูนย์ซ่อมในปี 2563-2564 และตั้งเป้าเปิดบริการปี 2565

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า การบินไทยตั้งเป้าเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาในปี 2565 โดยจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางซ่อมอากาศยานครบวงจร ประกอบด้วยซ่อมอากาศยาน ซ่อมเครื่องยนต์ พ่นสี และซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ โดยจะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในสัดส่วน 50:50 ภายใต้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนภาครัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 6,300 ล้านบาท

สำหรับศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา จะเป็นโรงซ่อมขนาดใหญ่บนพื้นที่ 210 ไร่ รองรับเครื่องบินได้ 80-100 ลำต่อปี ซ่อมเครื่องบินทุกประเภท เช่น แอร์บัส A350 แอร์บัส A380 และโบอิง 787 โดยช่วงแรกคาดว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 10 ลำต่อปี และรับรู้รายได้เฉลี่ยปีละ 400-500 ล้านบาท รวมทั้งคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% ตลอดอายุโครงการ โดยเมื่อครบ 50 ปี คาดว่ามีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท และคุ้มทุนภายใน 11 ปี หลังจากเปิดบริการ

ในขณะที่สายการบินแอร์เอเชีย นำโดย โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย เคยเดินทางมาหารือร่วมรัฐบาลไทย เพื่อแสดงจุดยืนสนใจเข้าร่วมลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน ด้วยงบลงทุน 150 ล้านดอลลาร์ หรือ 4,500 ล้านบาท ตั้งใจปั้นให้เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินโลว์คอสต์แห่งแรกของแอร์เอเชียและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้

บรรยากาศการลงทุนธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานในไทยตอนนี้ เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่า เป้าหมายของการผลักดันไทยเป็นศูนย์สร้าง-ซ่อมอากาศยานเกิดขึ้นได้จริง เพราะทำเลที่ตั้งของไทยอยู่กึ่งกลางเอเชียแปซิฟิกที่มีปริมาณการเดินทางทางอากาศสูง อีกทั้งการปลดล็อกกฎหมายครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานสำคัญเพื่อรองรับศักยภาพของไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0