โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปลดล็อก "ค้าปลีก" เมียนมา โอกาส-ตลาดใหม่...ผู้ประกอบการไทย

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 24 พ.ค. 2561 เวลา 04.01 น.
mar02240561p1

สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการธุรกิจอยู่ไม่น้อย เมื่อกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาได้ออกกฎใหม่ ให้ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งได้เต็ม 100% รวมถึงสามารถนำเข้าสินค้าและขายได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลางชาวเมียนมาเหมือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะผลิตในประเทศหรือนำเข้า และยังสามารถตั้งสาขาได้ทุกเมือง ทุกรัฐ โดยจะมีผลตั้งแต่วันพุธที่ 16 พ.ค. 61 เป็นต้นไป

เมียนมาจึงกลายเป็นตลาดที่เนื้อหอมสำหรับนักลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรวมถึงนักลงทุนจากไทยที่มีการติดต่อค้าขายกันมาโดยตลอด เฉลี่ยแล้วมีมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันกว่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

“ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา” ประธานกรรมการ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา วิเคราะห์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์สำหรับวงการธุรกิจทั้งไทย และต่างประเทศมาก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่ารัฐบาลเมียนมาจะเปิดให้นักลงทุนได้มากขนาดนี้

จุดประสงค์หลักของการผ่อนปรนการลงทุนจากต่างชาติครั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะเดิมทีการพัฒนาต่าง ๆ ค่อนข้างมีข้อจำกัด เช่น การส่งของเข้าไปขายก็ทำได้เพียงขายส่ง แล้วให้ดิสทริบิวเตอร์หรือคู่ค้าที่นั่นเป็นคนกระจายสินค้า

หากต่างชาติสามารถโอเปอเรตค้าปลีกเองได้ ก็จะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยยกระดับการเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น และที่สำคัญการเปิดกว้างให้ลงทุนจะช่วยให้เกิดการแข่งขัน มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ราคาสินค้าและบริการจากที่เคยขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายก็จะมีความสมดุลมากขึ้น หรือทำราคาได้ถูกลงกว่าเดิม และคาดว่ากฎนี้ยังผ่อนปรนไปยังธุรกิจเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ดิสทริบิวเตอร์ ด้วยเช่นกัน

นอกจากไทยแล้วก็มีอีกหลายชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดนี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรมีการศึกษากฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ

เช่น ข้อกำหนดบางประการที่ให้ธุรกิจต่างชาติถือหุ้น 100% จะต้องลงทุนอย่างน้อย 3 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับธุรกิจค้าปลีก และ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับธุรกิจค้าส่ง ส่วนบริษัทร่วมทุนที่มีต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 80% จะต้องลงทุนอย่างน้อย 7 แสนเหรียญสหรัฐและ 2 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ทั้งนี้ ห้ามเป็นเจ้าของมินิมาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 929 ตารางเมตร โดยเงินลงทุนนี้ยังไม่รวมกับค่าเช่า

“เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก แต่ก็ยังคงต้องรอดูว่าการบังคับใช้จริง ๆ จะสามารถทำได้แค่ไหน ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความสนใจในตลาดเมียนมาอยู่แล้ว คาดว่าหลังจากนี้เซ็กเตอร์ของค้าปลีก ค้าส่ง จะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการในเมียนมาคงเหนื่อยขึ้นแน่นอน”

“ปณิธาน” ยังเล่าถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม น้ำ ไฟ ฯลฯ แม้จะมีการพัฒนามากขึ้นแต่ดูเหมือนว่าจะไม่ทันใจนักลงทุนมากนัก ทำให้หลายคนเบนเข็มไปลงทุนที่อื่นที่มีความพร้อมมากกว่า

ส่วนนักลงทุนจากไทยที่หันไปหาการลงทุนในต่างประเทศเพื่อหาโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ หลังสภาพเศรษฐกิจในประเทศช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนัก ซึ่งเมียนมาก็เป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย

แต่หลายคนก็ต้องรอ หรือเบนเข็มไปที่อื่น เมื่อรอไปรอมาเศรษฐกิจในไทยก็อาจจะปรับตัวดีขึ้นพอดี แต่ก็ต้องบอกว่า ในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก เนื่องด้วยภาวะของเศรษฐกิจ-การเมืองโลก สงครามการค้าของมหาอำนาจ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจขนานใหญ่ของเทคโนโลยีทำให้เกิดความสับสนขึ้น และไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการทำธุรกิจ ดังเช่นที่บางธุรกิจเคยใช้การบริหารแบบเดิมมาเป็นเวลา 20-30 ปี วันนี้อาจใช้วิธีแบบเดิมไม่ได้แล้ว

แม้จะต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปลงทุน แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยคงปฏิเสธความร้อนแรงของเมียนมาในตอนนี้ไปไม่ได้แน่นอน…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0