โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ปริญญา' ระบุหากอนาคตใหม่ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญร้ายแรงหรือผิดแบบจะจะ ก็ควรปล่อยให้มีที่ยืนในสภา 

ไทยโพสต์

อัพเดต 20 ก.พ. 2563 เวลา 08.28 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2563 เวลา 08.28 น. • ไทยโพสต์

20 กพ.63 - ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่ เข้าข่ายจะถูกยุบพรรคหรือไม่ ในกรณีที่มีการกู้ยืมเงินจำนวน191 ล้านบาทว่า ตนพูดในฐานะนักวิชาการทางกฎหมาย ซึ่งตนมองว่า  กรณีการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ ตนยืนยันว่า เงินที่กู้มานั้นเป็นหนี้สิน ไม่ใช่รายได้ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการวินิจฉัยว่า เงินกู้ของพรรคการเมืองนั้น นับเป็นรายได้หรือไม่ ต่อมา พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรของรัฐ เพราะเป็นการรวมตัวกันของพลเมืองในการเสนอนโยบายเพื่อให้พลเมืองคนอื่นเลือก เพื่อจะได้นำนโยบายนั้น ไปเป็นนโยบายของประเทศ ดังนั้น ถ้ากฎหมายไม่ได้มีการห้าม พรรคการเมืองก็สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้

นายปริญญา กล่าวต่อว่า มาตรา 66 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ เพราะฉะนั้น การที่มีการกู้เงินเกินกว่า 10 ล้านบาท จึงมีคำถามว่า ได้มีการคืนเงินหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการคืนเงินแต่เป็นการยกให้กับพรรค ก็กลายเป็นเงินบริจาคทันที ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวพันกับมาตรา 72 ที่โยงไปสู่การยุบพรรคที่ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงได้ใช่ช่องทางตามมาตรา 92 (3) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่

นายปริญญากล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น ตนมีความเป็นห่วงว่า ถ้าหากการยุบพรรค จะมีการยุบโดยไม่ได้ยึดตามหลักกฎหมาย ดังนั้น การยุบพรรคเป็นเรื่องที่ทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าเกิดว่าพรรคการเมืองนั้น มีพฤติกรรมในการล้มล้างระบอบการปกครอง แต่ที่ผ่านมา คณะกรรมการไต่สวนของ กกต.เอง ก็ได้มีการยกคำร้องมาแล้ว แต่คณะกรรมการ กกต. กลับเห็นต่างจนมีการยื่นให้ศาลฯ วินิจฉัย  ดังนั้น ตนมองว่า กรณียังไม่ถึงขั้นที่จะต้องถูกยุบพรรค อีกทั้งการยุบพรรคที่มีคะแนนนิยมสูงจะต้องมีเหตุผลทางกฎหมายที่หนักแน่นเพียงพอด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ จะส่งผลอย่างไรต่อการเมือง นายปริญญาระบุว่า หากมีคำวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่มีความผิดจริง ก็จะมีผล 2 ประการคือ พรรคที่ถูกยุบ ก็จะไม่มีสถานะเป็นพรรคการเมืองต่อไปซึ่ง ส.ส.ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จำนวน 60 คน สามารถหาสังกัดพรรคใหม่ได้ แต่ในแง่ของการเมือง ตนก็อยากจะให้ดูบทเรียนของการยุบพรรคไทยรักไทย แล้วก็กลายมาเป็นพรรคพลังประชาชน เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก็กลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ตนเชื่อว่า ส.ส. 60 คน ที่เหลือ ก็ยังยึดมั่นในแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ล้มหายตายจากไปด้วย 

"เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญร้ายแรงหรือผิดแบบจะจะ ก็ควรปล่อยให้มีที่ยืนในสภา และต่อจากนี้ไป ห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน ถึงแม้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม แต่เป็นการห้ามโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า ห้ามกู้เกิน 10 ล้าน ไม่เช่นนั้นจะถูกยุบพรรค"นายปริญญา กล่าว 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0